ภาวนา ๔ อย่าง


        อ.คำปั่น ภาวนา ๔ อย่าง ๑. ก็คือการอบรมเจริญกุศลทุกประการ ที่เรียกว่า สรรพสัมภาระภาวนา

        ท่านอาจารย์ เห็นโทษของอกุศลไหม ไม่ใช่ไม่มีปัญญา ตั้งหน้าตั้งตาเจริญกุศลเพื่อเราแต่ถึงแม้จะรู้ว่าไม่ใช่เรา ก็รู้ว่าธรรม มี ๒ อย่าง คือ ธรรมที่เป็นฝ่ายไม่ดีอกุศลธรรม ธรรมที่เป็นฝ่ายดีก็เป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม คือ ไม่รู้ แล้วก็ยึดถือว่ามีเรา แล้วก็นำมาซึ่งโลภะ โทสะ โมหะ ต่างๆ มากมาย ไม่ได้นำมาซึ่งความดี หรือว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์เลย

        เพราะฉะนั้น ขณะที่ไม่รู้ และก็สามารถจะเข้าใจธรรมได้ไหม เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้ว่าขณะใดก็ตาม ที่เป็นธรรมที่ไม่ดี ต้องมีความไม่รู้เกิดร่วมด้วย แต่ว่าขณะใดก็ตาม ที่เป็นธรรมฝ่ายดี ขณะนั้น จะมีความไม่รู้เกิดร่วมด้วย ไม่ได้ เพราะฉะนั้น อาศัยความดี ซึ่งไม่มีความไม่รู้เกิดร่วมด้วย ค่อยๆ เจริญขึ้น ไม่ให้โอกาสแก่ความไม่รู้ที่จะเพิ่มขึ้นๆ เพราะฉะนั้น ก็คือ ทุกปรการ

        อ.คำปั่น นอกจากจะอบรมเจริญกุศลทุกประการแล้ว ก็ทรงแสดงถึงความเป็นจริงว่า อบรมเจริญกุศลด้วยความเคารพ สักกัจจภาวนา

        ท่านอาจารย์ เพื่ออะไร เห็นไหม เพื่อการที่จะเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ไม่อย่างนั้นแล้วก็ยังมีความเป็นตัวตน ทำกุศลโดยหวัง เราก็จะดีขึ้น จะดีขึ้น เรานั่นแหล่ะ ไม่มีทางที่จะรู้เลยว่า จริงๆ แล้วต้องเคารพในความจริงที่ไม่มีเรา เพราะฉะนั้น การทำกุศลโดยไม่หวัง ลองคิดดู ว่าตรงไหม กุศลทุกประการด้วย และก็ไม่หวังด้วย เพราะรู้ว่า ถ้าขณะใดหวัง ก็คือ ตัวเรา ไม่ใช่การขัดเกลา

        อ.คำปั่น ประการต่อมาก็คือ อบรมเจริญกุศลที่ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนาน จิรกาลภาวนา

        ท่านอาจารย์ อันนี้ก็กี่ภพกี่ชาติ ก็ชัดเจนว่า ความไม่รู้นานมาแล้วเท่าไหร่ แล้วก็เพิ่มขึ้นด้วยทุกชาติ เพราะฉะนั้น การที่จะสะสมปัญญาก็ต้องนาน ไม่มีใครสามารถที่จะดับกิเลสได้ โดยไม่มีการอบรมอย่างยาวนาน ไม่ว่าประวัติของพระสาวกที่ท่านรู้แจ้งอริยสัจจธรรมแล้ว นานทั้งนั้นเลย

        อ.คำปั่น ประการที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ อบรมเจริญกุศลโดยต่อเนื่องติดต่อกัน นิรันตรภาวนา

        ท่านอาจารย์ ติดต่อกันที่นี่ หมายความว่า มีโอกาสที่จะเป็นกุศลประกอบด้วยปัญญาเมื่อไหร่ ก็สืบต่อจากที่เคยมีมาแล้ว ไม่ใช่ว่า อยู่ดีๆ ไม่มีเลย ไปนั่งปฏฺิบัติ อย่างนั้นหรือ จะสำเร็จได้ แต่นี่ต้องอาศัยการที่ว่า ไม่ว่าภพใดชาติใด ปัญญาที่ได้ฟังเข้าใจแล้ว ไม่ได้หายไปไหน ก็ยังเป็นปัจจัยสืบต่อไปถึงขณะต่อไปที่มีโอกาส ที่จะเพิ่มความเข้าใจขึ้น


    หมายเลข 11786
    31 ธ.ค. 2566