ขัดเกลากิเลสในชีวิต


        ท่านอาจารย์ โลภะไม่มีวันอิ่มแต่การฟังธรรมก็ไม่พอ ถึงแม้การฟังเห็นประโยชน์แล้วรู้ว่าอิ่มใจที่ได้ฟัง แต่ก็ยังไม่พอ อิ่มใจที่ไม่เห็นผิด ยากมากเลยที่จะไม่ตามโลภะไปด้วยความต้องการ เพราะว่าโลภะนานมากที่คุ้นเคยกันมา มองไม่เห็นเลย

        อ.อรรณพ แม้พระอรหันต์ที่ท่านหมดกิเลสแล้ว ท่านก็ยังแช่มชื่น ยังชื่นชมภาษิตพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือชื่นชมภาษิตของพระเถระ ยังยินดีในคำ

        ท่านอาจารย์ เห็นประโยชน์ของการที่จะรู้ว่า ท่านไม่ได้เข้าใจเท่ากับพระสัมมาสัมพุทธ เพราะฉะนั้น แต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แม้ว่าท่านจะหมดกิเลสแล้ว แต่ก็เป็นประโยชน์ แล้วยังไงถึงจะรู้ได้ว่า เราได้เริ่มเข้าใจพระธรรม และเห็นคุณ เห็นไหม อีกมากเลยที่เราจะต้องเป็นคนที่ละเอียด เพียงแค่คำถามว่า เราได้ฟังอย่างนี้ เราอิ่มใจที่ได้เข้าใจความลึกซึ้งของธรรม และรู้ว่าสามารถที่จะมีทางที่จะเข้าใจได้อีกแจ่มแจ้งขึ้นอีกได้ แต่ว่าเราจะรู้ได้ยังไง ว่าธรรมที่เราเข้าใจ นำไปในอะไรบ้าง แม้แต่ความเป็นผู้ละเอียดในกุศล บางคนวันหนึ่งๆ ไม่ได้ค่อยทำกุศล เพราะคิดว่ากุศลจะต้องเป็นเรื่องใหญ่ ต้องเป็นเรื่องบริจาคเงินสร้างโน่นทำนี่สารพัดอย่าง แล้วกุศลเล็กๆ น้อยๆ ทำไมประมาท ถ้าไม่ทำ อกุศลทั้งนั้นเลยทั้งวัน

        เพราะฉะนั้น ตอนนี้ที่เข้าใจประโยชน์ และคุณของกุศล เห็นโทษของอกุศลเพิ่มขึ้นไหม หรือว่ายังพอใจที่จะให้อกุศลทุกประการมันมากเหมือนเดิม โลภะก็ยังเท่าเก่า โทสะก็ยังให้เหมือนเดิม ใช่ไหม หรือว่าปัญญาเริ่มนำ ไม่ใช่เรา แต่ปัญญาแหล่ะนำไปให้เห็นโทษของอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย และเห็นประโยชน์ของกุศลแม้เพียงเล็กน้อย เห็นไหม ปัญญาทำให้ขยันในกุศล และค่อยๆ เบาบางทางฝ่ายอกุศล แต่ก่อนนี้เราจะไม่รู้ว่าเราเป็นคนเห็นแก่ตัว เขาทำผิดต้องเขา แต่ถ้ากุศลเกิด ประโยชน์อะไรที่เราจะไปทำให้มีความเดือดร้อนต่อไป ถ้าเราสามารถที่จะแก้ไขได้ ใช่ไหม ก็ทำไปเลยไม่เดือดร้อนที่จะไปเพิ่มอกุศลความเดือดร้อนให้เขา และกุศลของเราก็สามารถที่จะเกิดขึ้นขัดเกลาการที่ เอ๊ะ เราจะทำทำไม นั่นเขาควรทำสิ เพราะเขาทำไม่ดี เขาไม่ล้างจานก็ให้เขาล้าง ไม่ใช่เราไปล้างให้เขา ละเอียดอย่างนี้ คิดดูซิสภาพของจิต เขาทำจานเลอะก็ไม่เป็นไร เขาลืมไปก็ได้ เขาอะไรก็ได้ ถ้าเราล้าง มันดีกว่าไหมล่ะ ดีกว่าไปโวยวายใช่มั้ย ทำไมเราไม่รู้จักล้าง ทิ้งไว้ได้ตั้งนานอะไรอย่างงี้ มันเป็นคนละเรื่องเลย เรื่องของกุศลกับอกุศล เห็นประโยชน์เลยแม้เพียงเล็กน้อย ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น จะไม่รู้หรือว่าเป็นหนทางบารมี

        เพราะเหตุว่า ความดีเท่านั้นที่ขณะนั้นไม่มีอกุศล แต่ถ้าไม่เป็นกุศล ก็ต้องเป็นอกุศล แล้วเราก็ให้โอกาสแก่อกุศลมาเท่าไหร่ในชีวิตของเรา ใช่ไหม คิดแต่ว่า ต้องถูก ต้องผิด ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ ทำเสียเลยไม่ได้หรือ ใช่ไหม นี่คือความละเอียด แม้แต่เพียงเล็กน้อย ปัญญานำไปไม่ใช่ใครจะคิดได้เอง เพราะฉะนั้น เครื่องวัดว่า เรามีปัญญาระดับไหน ชีวิตประจำวันที่ค่อยๆ เปลี่ยนบ้างหรือเปล่าค่อยๆ ทำอย่างอื่นที่เป็นกุศลโดยไม่ได้ขัดเคืองโดยไม่ได้ไปเพ่งโทษใคร

        เพราะฉะนั้น ก็เห็นต่างกันมากเลยว่าถ้าเราไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้เข้าใจอย่างนี้ เราก็เหมือนเดิม แต่ปัญญานำไปในกิจที่เป็นกุศลทั้งปวง แม้ใครไม่รู้แม้เล็กน้อย แต่ขณะนั้นกุศลจิตหรืออกุศลจิต คนนั้นก็ย่อมเห็นคุณเห็นประโยชน์

        อ.ธีรพันธ์ นึกถึงคุณธรรมของท่านพระราหุลนะครับ

        ท่านอาจารย์ ใช่ค่ะ

        อ.ธีรพันธ์ ที่ท่าน ไม่ต้องกล่าวเลยว่า ภิกษุรูปโน้นรูปนี้ คือท่านก็จัดการนำไปทำความสะอาดให้เรียบร้อย

        ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันก็เป็นเครื่องส่องให้รู้ ปัญหาทั้งหมดมาจากอกุศลแล้วก็ปัญหาทั้งหมดไม่มี เมื่อจิตเป็นกุศล พอได้ฟังอย่างดี ปัญญาที่มีวันนี้ ก็จะเริ่มทำให้เราเห็นว่าเราเป็นอกุศลขนาดไหนแล้วพอได้ฟัง เป็นปัจจัยให้กุศลเกิดเปลี่ยนจากเดิม นี่ก็คือคุณอย่างยิ่งของการที่จะไม่ละเลย ที่จะทำสิ่งที่เป็นบารมี เพราะเหตุว่า ไม่สามารถที่จะให้ปัญญาเกิดขึ้นได้มากมายทันทีเลย กุศลต้องมีกำลัง เพราะอะไร อย่างทานก็สละความเห็นแก่ตัวสามารถที่จะให้คนอื่นได้ จะให้สิ่งของที่เป็นประโยชน์ ให้คำที่เขาสบายใจหรือมีกายวาจาอะไรก็ได้ เหมือนกับให้เขาได้มีความสุขขณะนั้นก็เป็นทานอย่างหนึ่ง ให้วัตถุก็ได้ ให้คำพูดก็ได้ ให้ความเข้าใจธรรมก็ได้ ขณะนั้นก็ค่อยๆ ละความ เราจะเหนื่อยหรือเราจะลำบาก หรืออะไร ไม่มีเลย ใช่ไหม เพราะเหตุว่า ขณะนั้นเพื่อการละ เพื่อการสละ เพราะว่า มันมาก มากมายมหาศาลไม่มีทางจะหมดได้ ถ้าไม่มีกุศล และถ้าไม่เริ่มต้น และใครก็บังคับใครไม่ได้ ขึ้นอยู่กับปัญญา


    หมายเลข 11789
    31 ธ.ค. 2566