มีเจตนาฆ่า
ผู้ถาม คือเป็นอย่างนี้ครับ เวลาเรียนต้องฆ่าหนูทดลอง ใจจริงๆ นั้นไม่อยากฆ่าเลย แต่ว่าจะต้องเรียน อย่างนี้จะบาปไหมครับ
วิชัย ธรรมเป็นสิ่งที่จริง และตรงตามความเป็นจริง หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าธรรมเป็นอนัตตา ดังนั้นพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงธรรมว่า เป็นส่วนที่ดีก็มี ในส่วนที่ไม่ดีก็มี ถ้าเราศึกษาธรรมโดยละเอียด ก็จะทราบว่าขณะจิตที่คิดจะฆ่า เป็นจิตที่ดีหรือไม่ดีครับ
ผู้ถาม ถ้าเราลงมือฆ่า ก็แสดงว่าไม่ดีใช่ไหมครับ
วิชัย เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นผู้ตรงที่สามารถเข้าใจได้ เพราะเหตุว่าธรรมไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้เลย ดังที่ท่านอาจารย์กล่าวแล้วว่า ธรรมเมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น เกิดแล้วก็ดับไปทันที ดังนั้นเมื่อมีความเข้าใจถูกว่า ธรรมที่จิตคิดจะฆ่า เป็นสิ่งที่ไม่ดี เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ขณะนั้นก็ตรงตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเกิดแล้ว มีแล้ว คือ มีจิตที่คิดจะฆ่าลงไปแล้ว ซึ่งต่างกับขณะที่ไม่ต้องการจะฆ่า แต่สภาพจิตใจก็เกิดดับสืบต่อกัน บางครั้งก็มีจิตคิดจะฆ่า บางครั้งก็ไม่มีจิตที่คิดจะฆ่า
ดังนั้นการศึกษาเบื้องต้น ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ธรรมคืออะไร มีนามธรรมที่เป็นจิต ที่เป็นสภาพที่รู้ว่ามีลักษณะอย่างไร เมื่อมีความเข้าใจถูก ก็จะเป็นผู้ที่ตรงที่สามารถจะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพจิตอะไร เมื่อมีความเข้าใจถูก ก็จะไม่มีข้อสงสัยว่า ขณะนั้นเป็นบาปหรือไม่ใช่บาป เพราะเหตุว่าถ้าเป็นบาป หมายความว่าเป็นจิตที่ไม่ดี ที่คิดจะฆ่า หรือคิดที่จะลักขโมยวัตถุสิ่งของต่างๆ อันนี้ก็เป็นผู้ที่ตรงที่สามารถรู้ว่า ขณะนั้นสภาพจิตมีลักษณะอย่างไร
ดังนั้นพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงธรรมโดยละเอียดว่า ธรรมในส่วนที่ดีก็มี ธรรมในส่วนที่ไม่ดีก็มี จึงต้องมีการศึกษา มีการฟังพระธรรมที่จะเข้าใจมากขึ้น เพราะเหตุว่าถ้าเบื้องต้นมีความสับสนเป็นส่วนมากว่า ขณะนั้นเป็นจิตอะไร บาปหรือไม่บาป ก็จะมีความคิดอย่างนี้ แต่เมื่อมีความเข้าใจถูก มีความเห็นถูก มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ธรรมก็คือธรรม จิตขณะนั้นเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย อยู่ที่ว่า มีความเข้าใจในสภาพจิตที่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน ถ้าเข้าใจถูกก็จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นจิตที่ไม่ดี แต่ขณะใดก็ตามที่รู้สึกละอายที่จะงดเว้นการกระทำนั้น ก็เป็นจิตที่ดี ที่สามารถละอายที่จะงดเว้นในการกระทำอกุศล อันนี้ก็เป็นผู้ตรงที่สามารถจะรู้ได้ตามความเป็นจริง
ผู้ถาม แล้วศีลข้อที่ ๑ ห้ามฆ่าสัตว์ การล่วงศีลต้องมีองค์ ๕ คือ ๑. รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นสัตว์ ๒. รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต ๓. เราตั้งใจฆ่า ๔. ลงมือฆ่า และ ๕. สัตว์นั้นล่วงไปเพราะการฆ่าของเรา แต่ข้อที่ ๓ จริงๆ เราไม่อยากจะฆ่าเลย จะถือว่าล่วง ๕ ข้อนี้ไหมครับ
วิชัย ที่กล่าวไปแล้วต้องเป็นผู้ตรง แม้พระผู้มีพระภาคก็ตรัสองค์ของปาณาติบาตไว้ ๕ องค์ แต่ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นจิตที่เศร้าหมองไหม ถ้าเป็นจิตที่เศร้าหมอง ขณะนั้นก็เป็นจิตที่ไม่ดี แม้มีการกระทำ ก็ต้องเป็นผู้ละเอียดที่สามารถรู้ว่า ขณะนั้นจิตมีเจตนาที่จะฆ่าไหมเพียงเล็กน้อย ก็ต้องเป็นผู้ตรงที่จะเข้าใจสภาพจิตที่เกิดขึ้นในขณะนั้น
ผู้ถาม คือเจตนาจริงๆ ไม่อยากจะฆ่าเลย
วิชัย จริงๆ แล้วเป็นความเข้าใจของเรา แต่ถ้าละเอียดลงไป ต้องรู้จริงๆ ต้องมีสติที่จะรู้ในขณะนั้นว่า มีเจตนาที่จะฆ่าไหม เพราะเหตุว่าความเข้าใจของเราหรือความนึกคิดของเรา ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเราไม่มีความรู้ความเข้าใจที่มั่นคง หรือมากพอที่จะรู้สภาพจิตขณะนั้น ก็ไม่สามารถจะเข้าใจได้ เพราะเหตุว่าขณะนั้นจิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปแล้ว
ที่มา ...