สัตวโลกเป็นที่ดูบุญและบาป และ ดูผลแห่งบุญและบาป
สนทนาธรรม ที่ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.พิษณุโลก
พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
ท่านอาจารย์ ขณะนี้ที่กำลังฟังธรรม เป็นกุศลกรรม ที่ประกอบด้วยปัญญา ถ้าเป็นผลของกรรมนี้ที่จะทำให้เกิดต่อไป ที่มีกำลัง ก็จะทำให้ปฏิสนธิจิตนั้น เกิดพร้อมกับปัญญาเจตสิกได้ แต่ไม่ทราบว่าจากโลกนี้ไป ด้วยกรรมอะไร ที่จะทำให้ปฏิสนธิต่อไปเกิดขึ้น เมื่อมีความไม่แน่นอน เราก็ทำทุกอย่างที่เป็นกุศลกรรม ซึ่งเป็นเหตุที่ดี ที่จะทำให้เกิดในภูมิ ที่สามารถมีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรมอีก
เพราะว่าถ้าเราเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน อย่างพวกสัตว์เดรัจฉานต่างๆ ที่มี ถึงจะอยู่ในห้องนี้ก็ไม่รู้เรื่อง ก็มีเพียงแค่จิตได้ยิน แต่ว่าไม่สามารถที่จะเข้าใจ ในสิ่งที่กำลังกล่าวถึง ไม่รู้เรื่องของสภาพธรรม มีคำกล่าวว่า สัตวโลก เป็นที่ดูบุญ และบาป และดูผลของบุญ และบาป ชัดเจนใช่ไหม ความต่างกัน ถ้าไม่ได้กระทำบุญระดับหนึ่ง ที่จะให้เป็นอีกอย่างหนึ่ง ก็จะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นในโลกนี้จึงมีความหลากหลายของทุกชีวิต ที่แสดงให้เห็นถึงกรรม ที่ได้กระทำแล้วในอดีต ซึ่งทำให้ผลเป็นอย่างนี้ และก็ในขณะที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ก็ยังเห็นการกระทำของแต่ละคน จากการสะสมกุศล อกุศล ว่าทำกรรมที่เป็นกุศล และอกุศล ซึ่งเป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากต่อไปข้างหน้า
ข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า ไม่เคยมีสักอย่างที่เราไม่เคยเป็น ไม่ว่าจะเป็นยาจก คนยากไร้หรือว่าเป็นเศรษฐี เป็นพระราชา มหากษัตริย์ เป็นคฤหบดี เป็นคนพิการ เคยเป็นมาแล้ว แล้วก็จะเป็นต่อไป ถ้าสังสารวัฏฏ์ยังไม่หมดสิ้น แล้วแต่ว่าจะเป็นกรรมอะไร แต่ถ้าเป็นพระอริยบุคคล เช่น พระโสดาบัน จะไม่เกิดในอบายภูมิ ๔ ไม่เกิดเป็นสัตว์ ไม่เกิดในนรก ไม่เป็นเปรต ไม่เป็นอสูรกาย ไม่อยู่ในภูมิต่ำ
ต่อไปนี้เห็นคน ก็เข้าใจได้เลยใช่ไหม ถึงกรรมที่ได้ทำแล้ว ที่จำแนกให้ต่างๆ กันไป แล้วถ้าใครกำลังทำกรรมอะไร อย่างมีใครที่กำลังฆ่าสัตว์ เราก็รู้เลย เจตนา ความจงใจที่จะทำให้คนอื่นถึงกับสิ้นชีวิต หรือว่าการเบียดเบียนสัตว์อื่น เป็นเจตนาที่ต้องการให้คนอื่นเป็นอย่างนั้น แต่คนอื่นจะเป็นหรือไม่เป็นเมื่อไร ขึ้นอยู่กับกรรมที่เขาได้ทำแล้ว แต่ตัวผู้ที่กระทำ จะเป็นเหตุให้จิตที่เป็นวิบาก เป็นผลเกิดขึ้น รับผลของเจตนาหรือความจงใจ ที่ได้เกิดแล้วในอดีต
เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่เกิดขึ้น ที่เคยมีคนชอบพูดว่า ทำไมถึงต้องเป็นเรา คำตอบก็คือว่า เพราะต้องเป็นเรา จะเป็นอื่นไปไม่ได้ ในเมื่อทำกรรมใดมา ใช่ไหม ก็ต้องรับผลของกรรมนั้น จะเอากรรมที่เราทำแล้ว ไปให้คนอื่นได้รับ ได้ไหม ไม่ได้เลย ถ้าลูกกำลังเจ็บป่วย แม่อธิษฐานอ้อนวอน ขอร้อง เจ็บแทนได้ไหม ไม่ได้ กรรมของใคร ก็ทำให้เกิดผลของกรรมนั้นๆ แลกเปลี่ยนกันไม่ได้เลย ก็เป็นผู้ที่รู้ว่า ทุกอย่างที่จะเกิดกับตน ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วทั้งหมด
เพราะฉะนั้นเราจะทำอะไร ถ้ารู้อย่างนี้ ก็ต้องทำดี ใช่ไหม เพื่อจะได้ไม่รับผลที่ไม่ดีต่อไปข้างหน้า
ผู้ฟัง ก็จะขอกราบเรียนถามอาจารย์สักนิด ในกรณีอย่างนี้ว่า ถ้าคุณแม่ของเราเจ็บป่วย แล้วรู้ว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องของกรรมเฉพาะบุคคล ใช่ไหม แต่การเจ็บป่วยของคุณแม่ ก็มีผลกระทบกับคนในครอบครัว ทำให้เกิดทุกข์ขึ้นในครอบครัว เปรียบเหมือนเป็นกรรมที่มาสัมพันธ์กันหรือเปล่า แล้วเราจะทำอย่างไร ให้รู้สึกว่ากรรมเหล่านั้นเบาบางลง หรือความทุกข์เหล่านั้นของคนในครอบครัวลดลง
ท่านอาจารย์ โดยมาก มักจะอยากใช้คำที่เราเคยชิน เช่น สัมพันธ์ กรรมสัมพันธ์ ใช่ไหม แต่ถ้าพิจารณาถึงจิต เจตสิก รูป ให้ละเอียด ขณะนั้นที่กำลังเห็น แต่ละคนก็เกิดเห็น แลกเปลี่ยนหรือร่วมกันไม่ได้ เห็นของคนอื่นจะมาสัมพันธ์กับเห็นของเราได้ไหม ต่างคนต่างเห็น ต่างคนต่างเกิด ต่างคนต่างตาย ต่างคนต่างคิด
เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจในสภาพธรรมจริงๆ ซึ่งเกิดดับเร็วมาก แล้วก็มีปัญญาที่จะรู้ความจริง แม้แต่เพียงความจริงที่เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ก็จะทำให้เรารู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้ว่าถ้าตราบใดที่ปัญญาของเรา ไม่ถึงระดับที่จะระงับความโศกเศร้า มีปัจจัยที่จะให้โศก ก็โศกเกิด มีปัจจัยที่จะให้โกรธ โกรธเกิด ทำอะไรได้
เพราะเหตุว่าธรรม อาจจะได้ยินคำว่า สังขารธรรม สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง แล้วก็สภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับสังขารธรรม คือ วิสังขารธรรม สภาพธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง การเรียนธรรมจะค่อยๆ ขยายออกได้ และก็มีศัพท์ มีคำเพิ่มขึ้น ที่จะทำให้สามารถเข้าใจความต่างของแม้ศัพท์ว่า สังขารธรรม และสังขตธรรม
เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตาม มีลูก ๕ คน เห็นคุณแม่กำลังป่วยไข้ จิตที่เห็นของลูกแต่ละคน ก็เกิดขึ้นเป็นสังขตธรรม ปรุงแต่งแล้วเกิดขึ้นเห็นชั่วขณะ แล้วก็ดับ ทุกอย่างที่เกิด ปรุงแต่งแล้วเกิดทั้งนั้นเลย เป็นสังขตธรรม ๕ คนนี้ ๕ ใจหรือเปล่า ที่จะคิด แล้วเเต่ว่าจะทุกข์มากหรือทุกข์น้อย ก็เป็นเรื่องของขณะที่เห็นแล้ว เกิดกุศลจิตหรืออกุศลจิต
เพราะฉะนั้นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ไม่ใช่วิบากจิต ต้องเป็นคนละขณะ วิบากจิตเกิดขึ้นเพราะกรรมแล้วดับ แต่ว่ากุศล และอกุศล เกิดขึ้นเพราะการสะสม จากขณะที่กำลังเป็นกุศล แม้ดับไปแล้ว ก็สะสมสืบต่อ เพราะว่าจิตเกิดขึ้นทีละขณะ และสืบต่อกัน เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่มีในขณะหนึ่ง ก็สืบต่อไปอีกสู่ขณะต่อๆ ไป
เพราะฉะนั้นต่างคนก็ต่างเห็น อย่าไปใช้คำว่าสัมพันธ์ได้ไหม หรือชอบใช้ เพราะว่าเคยใช้ คุ้นเคยแต่จะใช้ แต่ถ้าใช้แล้วไม่ทำให้มีความเข้าใจปรมัตถธรรมยิ่งขึ้น ก็ไม่ใช้ เพราะว่าคำใดๆ ก็ตาม ที่ทำให้เข้าใจสภาพธรรมขึ้น คำนั้นควรใช้ เช่น ทุกคนอยู่ในโลกของตัวเอง มีโลกอีกความหมายหนึ่งแล้วใช่ไหม โลกทางตาเห็น โลกทางหูได้ยิน โลกทางจมูกได้กลิ่น โลกทางลิ้นลิ้มรส โลกทางกายก็รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส โลกทางใจก็คิดนึก ๖ โลก เป็นโลกส่วนตัว แต่ละคนๆ ๆ แตกดับทุกโลก จะให้อะไรคุณแม่ดี
มีท่านผู้หนึ่ง ท่านก็เป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของการเผยแพร่พระธรรม เพราะว่าตัวท่านฟังพระธรรมมานานมาก แล้วก็เห็นคุณของพระธรรม ท่านก็บริจาคเงินให้มูลนิธิ แล้วก็มีอีกท่านหนึ่ง ไม่ใช่ท่านนี้ ท่านก็ปรึกษาว่า ท่านจะบริจาคอะไรดี ดิฉันก็เรียนท่านว่า แล้วแต่ท่านเห็นสมควร ถ้าเห็นประโยชน์ของการศึกษา ท่านก็บริจาคเพื่อการศึกษา ถ้าเห็นประโยชน์ของการรักษาพยาบาล ท่านก็บริจาคให้โรงพยาบาล คือ แล้วแต่ประโยชน์ที่ท่านคิดว่าเหมาะสม แต่สำหรับอีกท่านหนึ่ง ท่านบอกว่า ท่านทำมาหมดแล้วทุกอย่าง โรงพยาบาลก็ให้ โรงเรียนก็ให้ เด็ก อาหารกลางวันก็ให้ คนชรา คนพิการก็ให้ แต่ว่าอย่างโรงพยาบาล หายแล้วออกจากโรงพยาบาลไปก็เหมือนเดิม แต่สิ่งที่จะให้ ที่มีค่าที่สุด คือ ความเข้าใจพระธรรม เพราะจะค่อยๆ เปลี่ยนสภาพจิต จากความไม่รู้สู่ความรู้ จากความไม่ได้เกิดกุศล เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะว่าทุกข์ เป็นของประจำโลก เกิดมาแล้วที่จะไม่ทุกข์ ไม่มี เพราะว่าทุกข์แท้ ทุกข์จริงๆ ก็คือ สภาพธรรมที่ไม่มีใครสามารถหยุดยั้ง ว่าสิ่งที่เกิดแล้วอย่าดับ เป็นไปไม่ได้เลย ทุกอย่างเพียงเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ เกิด และทำหน้าที่เฉพาะอย่างๆ แล้วก็ดับ เช่น จิตเห็น เกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับ ไม่มีอีกเลย จิตได้ยินแต่ละคำ แต่ละเสียง เกิดขึ้นได้ยินแล้วก็ดับ ไม่มีอีกเลย แต่ละอย่างก็เป็นทุกข์ในตัว ของสภาพธรรมนั้น คือเกิดแล้วดับไม่คงทน และไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง ให้สภาพนั้นเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้
เพราะฉะนั้นทุกข์จริงๆ ก็คือ สภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ ถ้าเข้าใจโลกในลักษณะนี้ เราจะช่วยอย่างไร ที่จะไม่ให้มีการเกิดแล้วก็ดับ ช่วยไม่ได้เมื่อมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น ก็แสดงว่าทุกข์เพิ่ม จากการเพียงเกิด และดับ แต่ว่ามีกายปสาทของสัตว์โลก ซึ่งเกิดเพราะกรรม ซึมซาบอยู่ทั่วตัว ที่จะทำให้เกิดทุกขเวทนา เมื่อเวลาที่เป็นผลของอกุศลกรรม เราก็ช่วยแก้ไขได้เพียงเท่านั้น คือให้ยารักษาโรค และรักษาพยาบาล แต่ใจของเขาที่ยังคงมีกิเลสอยู่ ก็เป็นเหตุให้กระทำกรรมที่เป็นทุจริต แล้วจะต้องได้ผลทางหนึ่งทางใด คือ ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดี เราแก้ไขปลายเหตุ แต่ต้นเหตุที่จะให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่เกิดกับเขา เป็นสิ่งซึ่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงเห็นว่า จะแก้โรคโดยการแก้เพียงปลายเหตุ หรือช่วยเท่านั้น ไม่พอ แต่ว่าสามารถที่จะให้ปัญญาเขาเกิดขึ้น เป็นการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้น แล้วก็จะทำให้เขาพ้นจากทุกข์จริงๆ ได้
ผู้ฟัง ขอร่วมสนทนาครับ เมื่อคืนนี้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันว่า ต่างสถาบันต่างที่ จะนำสิ่งที่ได้ความรู้ ประสบการณ์ แลกเปลี่ยนกัน จะไปพัฒนาจริยธรรมอย่างไร เพราะว่าธรรมชาติของแต่ละที่ไม่เหมือนกัน พอมาฟังอาจารย์ตรงนี้ เหมือนกับว่ามีคนๆ หนึ่งมาถามอาจารย์ว่า จะให้เงินมูลนิธิ ให้เงินการศึกษา หรือโรงพยาบาล ดีไหม อาจารย์ก็ตอบว่า ถ้าให้ในส่วนที่เป็นจากไม่รู้ สู่รู้ จนกระทั่งสุดท้าย คือ ปัญญา การที่เราจะกลับไปพัฒนาให้ได้จริยธรรมอย่างไร นั่นแปลว่ากิจกรรมนั้น ถ้ามุ่งไปสู่ปัญญาน่าจะดีที่สุด ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ แต่ในขณะเดียวกัน ก่อนที่เขาจะมีปัญญา ก่อนที่เขาจะมีชีวิตต่อไปเพื่อได้ฟังพระธรรม ก็ต้องรักษาโรคเขาก่อนใช่ไหม ความทุกข์อื่นๆ ก็ช่วยด้วย แต่อย่าลืม สิ่งสำคัญที่สุดคือ อย่าช่วยเฉพาะปลายเหตุ ถ้ามีคนเจ็บอยู่ต่อหน้า แล้วเราไปนั่งสอนให้เขารู้จักสภาพธรรม เขาคงรับไม่ได้ ใช่ไหม หรือคนที่ไม่มีอาหารเลย ยากจน แล้วเราไม่ช่วยเขา หรือว่าเด็กที่ยังไม่มีการศึกษา ต้องไปทำงานช่วยพ่อแม่ต่างๆ เหล่านี้ เขาก็ไม่อาจที่จะได้ฟังธรรม
เพราะฉะนั้นโอกาส คือ เฉพาะหน้า สิ่งใดที่กำลังมีที่จะช่วย ช่วยทันทีด้วย และก็คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดด้วย อย่าช่วยเพียงปลายเหตุ เพราะฉะนั้นก็ต่างคนต่างทัศนะ อย่างท่านที่มาปรึกษาว่า ท่านจะช่วยอย่างไร ใช่ไหม ดิฉันก็บอกว่า ตามอัธยาศัยที่ท่านเห็นสมควร แต่อีกท่านหนึ่งท่านบอกว่า ท่านช่วยมาหมดแล้ว แต่ว่าผู้ที่ถูกช่วยเหลือก็เหมือนเดิม แต่ถ้าช่วยให้เขาเข้าใจพระธรรม ก็จะเปลี่ยนจิตใจของเขาได้ เหตุที่จะทำให้เขาพ้นจากวิบากที่ไม่ดี ก็จะน้อยลง
ผู้ฟัง อาจารย์คะ หนูรบกวนเรียนถามอีกสักนิด อย่างในการที่เราจะดูแลผู้ป่วย เรามีจิตที่เป็นกุศล อยากช่วยให้เขาหายเจ็บไข้ได้ป่วย จัดสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่ในบางครั้งอย่างเช่น หนูเคยเจอมดเต็มโต๊ะคนไข้เลย ถ้าเราไม่ทำความสะอาดตรงนั้น สิ่งแวดล้อมคนไข้ก็จะไม่ดี เราก็คงต้องทำความสะอาด มันก็ทำให้มดตายไปหลายตัว แล้วเรารู้สึกว่าไม่สบายใจ แต่คนไข้ดีขึ้น เรารู้สึกไม่สบายใจเพราะเราฆ่ามด
ท่านอาจารย์ ทำอกุศลง่ายกว่าใช่ไหม ทำแรงๆ ทีเดียวจบ แต่กุศลมีวิริยะ ความเพียรที่เป็นโสภณ เป็นฝ่ายที่ดีเกิดด้วย และจิตใจในขณะที่ทำ จะเป็นจิตใจที่อ่อนโยน คนนั้นจะรู้เลยว่า ไม่ใช่ความโกรธ หรือความหยาบกระด้าง แล้วก็มีเมตตาด้วย และการจะช่วย เท่าที่จะช่วยได้เต็มความสามารถ ก็แสดงว่าขณะนั้น เป็นจิตใจที่เป็นไปในฝ่ายดี และถ้าฝึกอบรมบ่อยๆ ก็จะชิน สิ่งที่คิดว่าลำบากก็ไม่ลำบาก เป็นสิ่งที่ทำได้
ผู้ฟัง ขออนุญาตกราบเรียน เรื่องของการเจริญพรหมวิหาร กรุณา เรื่องของมุทิตา อุเบกขาไปพร้อมกับเมตตาด้วยได้ไหม
ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องของการอบรม แล้วก็มีความรู้ว่าทั้ง ๔ อย่างต่างกัน คือ เมตตา มีความปรารถนาดี มีความเป็นมิตร ต้องการให้คนอื่นมีความสุข กรุณา เวลาที่คนอื่นมีความทุกข์ เห็นใจ เข้าใจ แล้วก็ช่วยเหลือให้คนอื่นพ้นจากความทุกข์ แต่ว่าเวลาที่มีกรุณา หมายความว่าขณะนั้นต้องเป็นกุศล ซึ่งคนที่ยังมีกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ก็จะมีอกุศลเกิดสลับได้ เพราะว่าบางคนกรุณาคนที่ตกทุกข์ได้ยาก แต่ว่ามีความสำคัญตน ได้ใช่ไหม หรือว่ามีความถือตัวก็ได้ นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องมีความละเอียดขึ้น เมื่อเป็นกุศลอย่างหนึ่ง และกุศลอย่างอื่น ก็ควรเจริญด้วย ไม่ใช่ว่าในขณะนั้น ก็คิดถึง อย่างคนขอทาน แล้วก็มีคนบอกว่า เขาก็ให้เงินขอทาน แต่ด้วยความคิดว่า เขามีเงินมีทอง มีทุกสิ่งทุกอย่างมากกว่า เพราะฉะนั้นเขาก็อยากจะช่วยคนที่ด้อยกว่า แต่จริงๆ แล้วขณะนั้นก็เป็นสภาพจิตอย่างละเอียด ที่ว่าแม้ให้ก็จริง แต่มีความสำคัญตนในขณะที่ให้หรือเปล่า แต่ถ้าเป็นกุศลจริงๆ ก็คือขณะนั้นไม่มีอกุศลเกิดสลับ แต่ก็เป็นเรื่องที่ถึงมี ก็เป็นเรื่องที่เป็นจริง ทุกอย่างที่เป็นจริง ต้องยอมรับตามความเป็นจริง คือ เปลี่ยนไม่ได้ แต่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งยังไม่ดับสนิทไม่เกิดอีกเลย
เพราะฉะนั้นเมื่อมีเหตุปัจจัยที่สภาพธรรมนั้นจะเกิดในระดับใด ก็เกิดขึ้นเป็นไปในระดับนั้น มุทิตา เวลาที่มีผู้ที่ได้ดีมีสุข เราก็พลอยยินดีด้วย แต่ไม่ใช่โลภะ ไม่ว่าจะเป็นใคร ถ้าได้ดีมีสุข ได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ ทุกอย่างต้องมาจากกุศลกรรม ต้องเป็นผลของกุศลกรรม เพราะฉะนั้นถ้าใครได้ ขณะนั้นเราก็รู้ว่ามาจากเหตุ คือกุศลกรรม ก็ยินดีด้วยในผลที่เขาได้รับ แม้แต่ว่าจะเพียงชั่วคราว เพราะว่าทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนไป สามารถที่จะรู้ถึงเหตุในอดีตได้ ว่าทำให้เกิดสิ่งที่ดีทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเป็นผลของกุศล ก็ยินดีด้วย คือไม่ริษยา อุเบกขาก็คือว่า ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะประสบกับสิ่งที่น่ายินดียินร้าย ถ้าเราไม่สามารถที่จะช่วยได้ ก็ไม่เดือดร้อน
ผู้ฟัง อาจารย์คะ ที่ทราบมาคือว่า จิตจะตามเราไปทุกภพทุกชาติ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ จิตไม่ตาม
ผู้ฟัง จิตไม่ตาม แต่ทำไมเมื่อเวลาเราทำกรรมใด จะส่งผลไปที่ภพอื่นชาติอื่น
ท่านอาจารย์ จิตเกิดแล้วดับ เจตสิกที่เกิดกับจิต ดับพร้อมจิต และ เจตนาเจตสิก เป็นกัมมปัจจัย เป็นสภาพที่จงใจ ตั้งใจ ที่เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตดับไปแล้วก็จริง แต่ความจงใจ ตั้งใจ ที่ได้จงใจ ตั้งใจแล้ว ก็เป็นปัจจัยหนึ่งชื่อว่า กัมมปัจจัย ที่จะทำให้จิตขณะต่อไปเกิด เป็นผลของกรรม
เพราะฉะนั้นเวลาที่เราพูดเรื่องกรรม และผลของกรรม ถ้าเราไม่ศึกษา เราก็ใช้ความคิดของเรา แต่ถ้าศึกษาแล้วจะทราบว่า เมื่อนามธรรมเป็นกรรม ผลของกรรมนั้น ก็ต้องเป็นนามธรรมด้วย คือ จิต จริงๆ แล้วก็ขอกล่าวถึงจิต ๔ ชาติ คือ กุศล ๑ เป็นชาติหนึ่ง เกิดมาเป็นกุศล อีกชาติหนึ่งก็คือ อกุศล เกิดเป็นอกุศล ทั้งสองอย่างนี้ เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากจิต คือ จิตที่เป็นผล และอีกชาติหนึ่ง ก็คือกิริยาจิต จิตที่ไม่ใช่เหตุ และไม่ใช่ผล เพราะฉะนั้นจิต ๔ ชาติคือ กุศล ๑ อกุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑ แล้วเราก็ควรจะทราบด้วย ที่เราพูดเรื่องกรรมกับวิบาก ขณะไหนเป็นผลของกรรม ขณะแรกที่สุด คือ ปฏิสนธิจิต จิตที่เกิดขณะแรก เป็นผลของกรรมหนึ่ง
เพราะว่าแต่ละคนทำกรรมไว้มากมาย แต่เราเลือกกรรมได้ไหมว่า ให้กรรมนี้ให้ผล ไม่มีทางเลย แล้วแต่กรรมใดพร้อมที่จะให้ผลเกิดขึ้น ก็เกิดสืบต่อจากจุติจิต ทำกิจปฏิสนธิ นั่นเป็นขณะแรกของวิบาก คือ ผลของกรรมทำให้เกิด แต่ละคนเป็นอย่างนี้ เพราะกรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นอย่างนี้ เมื่อกรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ปฏิสนธิจิตเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม ตัวจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกัน เป็นประเภทวิบาก คือ เป็นผลของกุศล และอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว
หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว พอภวังคจิตก็เป็นวิบากอีก ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น ยังไม่ให้ตาย ให้เป็นอย่างนี้ จนกว่าวันไหนหมดกรรม ที่ภาษาไทยเราใช้คำว่า ถึงแก่กรรม หมายความว่าสิ้นสุดกรรมนั้นแล้ว ก็จะเป็นบุคคลนี้ต่อไปอีกไม่ได้ โดยจุติจิตเกิด ทำหน้าที่เคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ แต่ระหว่างยังไม่ตาย ก็ยังมีผลของกรรมด้วย คือขณะใดที่เห็น ขณะนี้ที่กำลังเห็น เป็นวิบากจิต ขณะที่ได้ยิน เป็นวิบากจิต ขณะที่ได้กลิ่น เป็นวิบากจิต ขณะที่ลิ้มรส เป็นวิบากจิต ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นวิบากจิต
เพราะฉะนั้นเรารู้กรรม และผลของกรรม เวลาที่วิบากจิตเกิด ป่วยไข้ได้เจ็บ สุขหรือทุกขเวทนา เป็นกายวิญญาณ เป็นผลของกรรม ที่ให้ผลทำให้ความรู้สึกเจ็บปวด หรือความรู้สึกสบายนั้นเกิดขึ้น เรารู้เลย ใครทำ เราเอง ไม่ใช่คนอื่นเลย ถ้ามีโจรผู้ร้าย มายิงรันฟันแทง หรือว่าในพระไตรปิฏกใช้คำว่า ใช้เลื่อย เลื่อยอวัยวะแขนขา ถ้าผู้ใดโกรธ ผู้นั้นไม่ใช่สาวกของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าเป็นผู้ที่ไม่รู้เรื่องกรรม และผลของกรรม ถ้าคนนั้นไม่ได้กระทำกรรมนั้นมา ไม่มีทางที่สิ่งนั้นจะเกิดกับเขาได้เลย ไม่มีเหตุที่จะทำให้ผลอย่างนั้นเกิด
เพราะฉะนั้นเวลาที่เราอ่านหนังสือพิมพ์ พบสิ่งที่เป็นข่าวร้ายต่างๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ ให้ทราบว่า ถ้าเขาเหล่านั้นไม่ได้ทำกรรมที่จะให้ผลอย่างนั้นเกิด ใครก็ทำอย่างนั้นให้ไม่ได้ ไม่ทราบใครอ่านเรื่องคนที่ติดอยู่ในลิฟท์ ๓ ชั่วโมงบ้างหรือเปล่า หนังสือพิมพ์ก็ลงข่าว ติดอยู่ที่คอหรืออย่างไร ความวิจิตรของกรรม ที่จะให้ผลขณะไหน เมื่อไร ไม่มีใครทำ และกรรมก็ทำได้วิจิตรจริงๆ จะให้ผลแบบไหน ใครลองคิดดู กี่คนจะเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นก็แนบเนียนที่สุดนะคะ ทำได้ตามกำลังความวิจิตรของกรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้นเวลาที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดจะเกิดขึ้น ทำให้เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เป็นผลของอกุศลกรรม ถ้าเห็นสิ่งที่น่าพอใจ เป็นผลของกุศลกรรม และทุกคนก็อยากที่จะได้ผลของกุศลกรรมทั้งหมดเลยทุกวัน แล้วแต่กรรม เมื่อไรที่ได้สิ่งที่น่าพอใจ ก็รู้ว่าเพราะกรรมที่ได้ทำมา แต่สิ่งนี้ก็ไม่เที่ยง สักครู่หนึ่งก็อาจจะเป็นผลของอกุศลกรรมก็ได้
อย่างเวลารับประทานอาหารอร่อยๆ ประเดี๋ยวก็มีเผ็ดพริก เดี๋ยวก็มีก้อนกรวดเล็กๆ หรืออะไรก็ได้ ก็ให้เห็นว่าไม่มีใครสามารถที่จะทำให้จิตชนิดไหนเกิดได้เลย นอกจากเหตุในอดีต ที่ได้ทำแล้ว ถึงกาลที่จะให้ผลเมื่อไร ผลนั้นก็ต้องเกิด ก็เป็นผู้ที่มั่นคงในกรรม และผลของกรรม แล้วก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่เลื่อนลอย คือ พูดไปเฉยๆ ว่าแล้วแต่กรรม และผลของกรรมก็คิดกันไปต่างๆ นานา แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะรู้ว่า ผลของกรรม คือ ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะรูปที่จะเป็นทาง ให้ผลของกรรมเกิด คือวิบากจิตเกิด รูปนั้นๆ เกิดจากกรรม กรรมทำให้ตาเกิดขึ้น หู จมูก ลิ้น กาย เกิดขึ้น เป็นทางรับผลของกรรม