ไม่อาจหาญร่าเริง


    สุกัญญา อาจหาญร่าเริงแม้แต่ขณะที่อกุศลเกิดหรือคะ

    สุ. ทุกขณะค่ะ เพราะว่าอกุศลไม่ใช่เรา

    สุกัญญา แต่เมื่ออกุศลจิตเกิด เมื่อก่อนไม่ทราบ แล้วก็ไม่เดือดร้อน เพราะว่าบางครั้งอกุศล อย่างเช่นโลภะ เราก็จะเพลิดเพลิน และพอใจ แต่พอได้ศึกษาธรรมทำให้เรารู้ว่าเป็นอกุศล เมื่อแม้ความเพลิดเพลินพอใจเกิดขึ้น เราก็เดือดร้อน เราก็ไม่สามารถที่จะอาจหาญร่าเริงในอารมณ์นั้นที่ปรากฏได้ ในขณะเดียวกันก็มีความเดือดร้อน ซึ่งเป็นลักษณะสภาพธรรมอีกประเภทหนึ่ง คือ โทสะเกิดขึ้นต่อเนื่องไป ก็เลยอยากจะกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ลักษณะของความอาจหาญร่าเริงในอกุศล เป็นอย่างไร

    สุ. ในอกุศล ขณะที่กำลังมีอกุศล หรือรู้ว่า อกุศลเป็นธรรม

    สุกัญญา ในขณะที่มีอกุศล ก็ต้องไม่มีความอาจหาญร่าเริง

    สุ. เพราะว่าเป็นเรา

    สุกัญญา แต่ว่าเมื่ออกุศลจิตเกิด แล้วรู้ว่าเป็นอกุศล ก็ยังไม่อาจหาญร่าเริง

    สุ. เพราะว่าเป็นเรา ไม่ใช่ปัญญาแล้ว จะอาจหาญร่าเริงได้อย่างไร ปัญญากล้าที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรมหรือเปล่า ไม่ใช่เราเลย ถ้ายังคงเป็นเราอยู่ ไม่พ้นกรงของกิเลส คือ โลภะ จะไม่ให้ออกไปสู่ความเห็นที่ถูกต้องเลย แม้แต่เพียงจะเข้าใจถูกต้องว่า ขณะนั้นเป็นธรรม ซึ่งความจริงเป็นธรรม ได้ฟังก็เข้าใจตามเหตุตามผลว่า เป็นธรรม แต่เวลาที่อกุศลจิตเกิด ก็หวั่นไหว เพราะขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาที่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะนั้นว่า เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะอย่างนั้น ใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เกิดแล้วก็หมดไป อย่างในขณะนี้ เห็นเกิดแล้วหมดไป ได้ยิน เกิดแล้ว หมดไป คิดนึกเกิดแล้ว หมดไป กุศลจิตเกิดแล้วหมดไป อกุศลจิตเกิดแล้วหมดไป เข้าใจได้ แต่ไม่ประจักษ์ความจริง

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่การอาจหาญร่าเริง ที่สามารถสละความติดข้องซึ่งเคยยึดถือสภาพนั้นๆ ว่าเป็นเรา

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ต้องรู้ว่า อวิชชาไม่สามารถเห็นถูก เข้าใจถูก แม้ในสิ่งที่กำลังมีจริง ที่กำลังเผชิญหน้า


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 250


    หมายเลข 11897
    28 ส.ค. 2567