โลภะน้อยๆ จะรู้ได้อย่างไร
ผู้ฟัง การที่จะเข้าใจเรื่องโสภณธรรม เป็นเรื่องที่ยากพอสมควรทีเดียว เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะนั้นมีโสภณธรรมเกิดขึ้นแล้ว จะดูที่เวทนาหรือเปล่า
สุ. สภาพธรรมเป็นเจตสิก
ผู้ฟัง เป็นจิตด้วยหรือเปล่า
สุ. ได้ค่ะ สภาพธรรมใดที่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย สภาพนั้นก็เป็นโสภณจิต ถ้าจิตใดมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตนั้นเป็นโสภณ เพราะฉะนั้นเราจะรู้หรือว่าเราเข้าใจเรื่องราว เพราะขณะนี้แม้จิตมี กำลังทำหน้าที่ของจิตแต่ละประเภท จิตก็กำลังทำหน้าที่เห็น เกิดแล้วดับไป จิตได้ยินก็เกิดขึ้นทำหน้าที่ แล้วก็ดับไป จิตอื่นๆ แต่ละขณะเกิดขึ้นทำหน้าที่ แล้วก็ดับไปทั้งนั้นเลย เราก็ยังไม่รู้ และเราจะรู้เจตสิกที่เกิดกับจิตนั้น เช่น ผัสสเจตสิกได้ไหม แต่สำหรับเวทนา ความรู้สึก มีแน่ และปรากฏให้รู้ได้ด้วย เพราะว่าเสียใจเกิด มีใครบ้างที่ไม่รู้ลักษณะที่เสียใจ
ผู้ฟัง ไม่มี นอกจากจะลืม
สุ. แต่ไม่รู้ว่าเป็นเจตสิก ไม่รู้ว่าชื่ออะไร แต่ลักษณะนั้นเปลี่ยนไม่ได้ ภาษาบาลีจะเรียกอะไรก็ไม่จำเป็น ภาษาไทย ภาษาอื่น จะเรียกอะไรก็ไม่จำเป็น เพราะเหตุว่าลักษณะนั้นมี เกิดขึ้นทำหน้าที่ของสภาพธรรม แต่ที่เรียกเพื่อให้เข้าใจว่า เวทนา ความรู้สึกนี่ต่างกัน ทางใจเป็นโทมนัส ทางกายเป็นทุกข์ ปวด เจ็บ คัน เมื่อย พวกนี้ไม่ใช่โทมนัส แต่อาศัยกายเกิดขึ้นเป็นทุกข์ แต่เมื่อทุกข์เกิดขึ้นแล้ว โทมนัสตามมา ไม่ชอบ เสียใจ โทมนัส ที่เราป่วยไข้ได้เจ็บอย่างนี้ๆ
ผู้ฟัง ในส่วนที่เป็นโสภณธรรมซึ่งเป็นเจตสิก ความแช่มชื่นตรงนั้นกับความปีติยินดีกับโสมนัสที่เกิดขึ้น อาการอย่างนี้เข้าใจเรื่องราวพูดว่าอย่างไร แต่ไม่รู้ว่าเป็นโลภะหรือโสมนัส
สุ. อาการแช่มชื่น หรือปีติ ความปลาบปลื้มดีใจ เกิดได้ทั้งกับกุศล และอกุศล เพราะฉะนั้นก็จะรู้ได้จากสภาพธรรมอื่นซึ่งเกิดร่วมกัน ถ้าเป็นโลภะ สนุกมากเลย ปลาบปลื้มไหมคะกับความสนุกสนาน หัวเราะ เบิกบาน ขณะนั้นก็เป็นโสมนัสที่เป็นอกุศล
ผู้ฟัง อันนั้นจะเห็นได้ชัดเจน แต่ถ้าโลภะน้อยๆ หรือปลาบปลื้มน้อยๆ ก็มองไม่ค่อยเห็น
สุ. แต่รู้สึกได้ แม้แต่เพียง ท่านใช้คำว่า “ตาบาน” คือ มีลักษณะที่รู้ได้ว่า นัยน์ตาเบิกบาน
ผู้ฟัง ยากที่จะเห็นตาบาน เป็นอย่างไร
สุ. รู้สึกเองได้ไหมคะ
ผู้ฟัง รู้สึกได้ครับ
สุ. พราะฉะนั้นไม่ต้องให้คนอื่นเห็นก็ได้ แต่เรารู้สึกได้ว่า ต่างกับที่ไม่บาน ที่เราใช้คำว่า “หน้าชื่นตาบาน” เคยได้ยินไหมคะ
ผู้ฟัง เคยได้ยินครับ ตาบานอย่างเดียว หน้าไม่ต้องชื่นก็ได้
สุ. ก็ต้องดูเวลาที่ตาบาน หน้าชื่นด้วยหรือเปล่า
ผู้ฟัง บางครั้งเราจะกล่าวถึงเรื่องการเจริญกุศล แรกๆ เราก็ควรจะรู้ว่า กุศลต่างกับอกุศลอย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้นเรื่องโสภณธรรมก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจตรงนี้ เวลาที่เป็นกุศล ที่เราเรียกว่า “บุญ” คือ กุศลที่เกิดขึ้น คือ ความแช่มชื่นของใจในขณะที่เป็นกุศลจิต
สุ. กุศลเกิดกับอุเบกขาเวทนาก็ได้ เกิดกับโสมนัสเวทนาก็ได้ ไม่จำเป็นว่ากุศลต้องเกิดกับโสมนัสเวทนาเสมอ
ที่มา ...