ฟังโดยไม่ถึงความเข้าใจที่จะรู้ลักษณะเป็นโมฆะ


    อ.กุลวิไล มีข้อความที่ดิฉันนำมาจากอภิธัมมัตถสังคหะ จะเป็นการทบทวน ขออ่านข้อความให้ฟังก่อน

    ธรรมชาติ ที่ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า คิด อธิบายว่า รู้อารมณ์ เหมือนอย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวไว้ว่า จิตมีการรู้แจ้งอารมณ์ เป็นลักษณะ ดังนี้

    ธรรมชาติที่ชื่อว่า เจตสิก เพราะอรรถว่า มีในจิต โดยมีความเป็นไปเนื่องด้วยจิตนั้น ความจริงเจตสิกนั้นเว้นจากจิตเสีย ไม่สามารถจะรับอารมณ์ได้ เพราะเมื่อจิตไม่มี ก็เกิดขึ้นไม่ได้ทั้งหมด ส่วนจิตแม้เว้นจากเจตสิกบางประการ ก็ยังเป็นไปในอารมณ์

    เพราะฉะนั้นเจตสิกนั่นแล จึงชื่อว่า มีความเป็นไปเนื่องกับจิต

    อันนี้ก็จะเป็นลักษณะของจิต และเจตสิก ซึ่งตอนต้นชั่วโมงก็จะกราบเรียนท่านอาจารย์เกี่ยวกับพื้นฐานพระอภิธรรมค่ะ

    สุ. ก็เป็นการทบทวน และบางครั้งก็อาจจะคิดว่า ทำไมถึงต้องอยู่ตรงจิต เจตสิก รูป เพราะเหตุว่าในพระไตรปิฎก และอรรถกถา หรือเมื่อไร ขณะไหนก็ตาม มีอะไรที่จะพ้นไปจากจิต เจตสิก รูป ทั้งๆ ที่มีอยู่เป็นประจำตั้งแต่เกิดจนตาย ก็ไม่รู้ความจริงในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    เพราะฉะนั้นถ้าจะกล่าวถึงธรรมอื่น ที่ได้ยินได้ฟัง เช่น ปฏิจจสมุปปาท หรืออริยสัจธรรม แต่ถ้าไม่เข้าใจว่า เป็นจิต เจตสิก รูป ก็คือไม่สามารถจะเข้าถึงความจริงของอริยสัจธรรมได้

    ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องอะไร ก็ไม่พ้นจากจิต เจตสิก รูป และสำหรับนิพพาน เมื่อยังไม่มีปัญญาที่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานได้ ก็รู้ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเจริญปัญญา ที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ

    การฟังธรรม ถ้ามีความเข้าใจแล้ว คงไม่ต้องไปนึกถึงชื่อ และคำที่มีในพระไตรปิฎก และอรรถกถามาก แต่ขณะใดก็ตามที่มีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็สามารถเข้าใจสิ่งที่มีในพระไตรปิฎก และอรรถกถาได้ เช่น ขณะนี้มีจิต แล้วอย่างไรคะ ที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ให้ไปนั่งคิด แต่ขณะที่ฟัง ก็จะรู้ได้ว่า จิตเป็นสภาพรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะที่ฟังก็ต้องมีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่เวลาที่ไม่ได้ฟัง แม้มีลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏ ก็ลืม หรือว่าไม่คิดถึง หรือว่าไม่เข้าใจ แต่ว่าขณะที่กำลังฟังธรรม ก็มีธรรมที่มีลักษณะต่างๆ ปรากฏให้ศึกษา ให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    เพราะฉะนั้นจะกล่าวถึงเรื่องจิตเมื่อไร ก็ให้ทราบว่า ขณะนี้มีจิตอะไร และขณะที่กำลังฟัง ก็เป็นเรื่องราวของจิต เจตสิก เรื่องราวของสภาพธรรม ฟังแล้วเข้าใจเมื่อไร แม้ขณะที่กำลังฟังนี่เองก็สามารถรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทีละเล็กทีละน้อยได้

    นี่คือจุดประสงค์ของการฟัง ถ้าฟังโดยไม่ถึงความเข้าใจที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ก็เป็นโมฆะ เพราะว่าจะเอาเรื่องราวเหล่านั้นไปทำไม จำชื่อต่างๆ ขณะนั้นไปทำไม แต่ว่าเมื่อฟังเข้าใจเมื่อไร ก็รู้ว่า ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นก็คงจะไม่มีใครเบื่อที่จะฟังเรื่องจิต เพราะจิตก็กำลังมี ฟังเพื่อว่า ถ้าไม่ฟังก็ไปคิดถึงเรื่องอื่น แต่ว่าในขณะที่ฟัง จิตกำลังมีจริง เจตสิกกำลังมีจริง รูปกำลังมีจริง และมีลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างด้วย ฟังจนกว่าไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หรือแม้ในขณะที่ฟัง ก็สามารถรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏได้ นี่คือจุดประสงค์ของการฟัง


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 264


    หมายเลข 12020
    27 ส.ค. 2567