เข้าใจคำว่า “อนัตตา” จริงๆ หรือเปล่า


    สุ . ฟังเรื่อง “อ่อน” กำลังรู้ลักษณะที่อ่อนหรือเปล่าคะ ถ้ายังไม่รู้ก็หมายความว่า ฟังเรื่องนี้ ต่อเมื่อใดที่ลักษณะที่อ่อนปรากฏ และรู้ลักษณะนั้น ก็เป็นทางที่ทำให้เห็นความจริงว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นเรื่องสิ่งที่มีจริง และฟังความจริงของสิ่งนั้น จนกว่าจะถึงกาลที่สามารถจะเห็นว่า ไม่ใช่เราเลย เป็นธรรมแต่ละลักษณะเท่านั้น

    เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่า “ขันธ์” ถ้าฟังเพียงชื่อจำได้ เราก็จะรู้ได้ว่า วันหนึ่งๆ รู้จักขันธ์หรือเปล่า หรือเพียงแต่จำชื่อขันธ์

    ผู้ฟัง รู้จักแต่เพียงชื่อค่ะ

    สุ. ก็ต้องฟังต่อไป มีหนทางเดียวค่ะ หนทางอื่นก็ไม่มี

    การฟังธรรม กำลังมีธรรม ฟังเพื่อให้เข้าใจธรรมที่กำลังมี เพราะจริงๆ แล้วในสมัยโน้นที่มีการสนทนาธรรมของพระภิกษุ ถ้าไม่มีเรื่องที่จะสนทนา ท่านก็นั่งนิ่ง แต่นั่งนิ่ง ไม่ใช่นั่งนิ่งอย่างคนที่ไม่มีปัญญา เพราะฟังธรรมแล้ว ขณะนั้นมีธรรม เพราะฉะนั้นนั่งนิ่ง ขณะนั้นก็มีจิต นั่งนิ่งนอกเวลาฟังธรรม ก็นิ่ง ไม่พูด แต่ใจคิดถึงเรื่องอื่น แต่ขณะนี้ได้ฟังแล้ว และจะเมื่อไรคิดถึงสิ่งที่ได้ฟัง ถ้าขณะนั้นไม่สนทนาก็กำลังไตร่ตรอง หรือกำลังคิดถึงสิ่งที่ได้ฟังแล้ว เพราะว่าแม้ขณะนี้ที่มีธรรมปรากฏ และมีการพูดเรื่องธรรมที่ปรากฏ ก็จะเห็นปัจจัยที่สะสมมาตามความเป็นจริงว่า อนัตตา แต่ก็มีคนอยากจะฝืน เป็นผู้จัดการ อย่างนี้ก็ไม่เอา อย่างนี้ก็ไม่ชอบ เมื่อไรสติจะเกิด ทำไมถึงคิดมากเรื่องนั้นเรื่องนี้

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เข้าใจคำว่า “อนัตตา” จริงๆ หรือเปล่า เพราะจริงๆ แล้ว สภาพธรรมเป็นอนัตตาแน่นอน แม้แต่อะไรที่จะเกิดบังคับไม่ได้ เกิดแล้วก็ต้องดับ บังคับไม่ได้อีก แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้การฟัง แม้แต่ฟังเรื่องธรรมดา กำลังมีสิ่งที่ปรากฏ หรือใครไม่มีบ้างคะ ถ้าไม่หลับมีแน่ๆ ต้องทางหนึ่งทางใด ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นจึงฟัง และสนทนากันเพื่อให้เข้าใจขึ้น


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 267


    หมายเลข 12036
    27 ส.ค. 2567