ถึงกาลที่ปัญญาคมกล้า


    ผู้ฟัง หนูอยากให้ท่านอาจารย์อธิบายคำว่า “สังเกต” “สำเหนียก” เพราะท่านอาจารย์จะกล่าวบ่อยมาก

    สุ. จริงๆ กว่าจะฟังธรรมเข้าใจว่า ทั้งหมดกำลังเป็นขณะนี้ ไม่ใช่มีเรากำลังไปสังเกตหรือไม่ใช่มีเรากำลังพิจารณา

    ฟังเข้าใจไหมคะ เข้าใจคำว่า “นามธรรมต่างกับรูปธรรม” ไหมคะ

    ผู้ฟัง พอเข้าใจค่ะ

    สุ. ขณะนั้นคือสภาพธรรมเกิดขึ้นทำหน้าที่ฟัง และสามารถจะเข้าใจ และถ้าสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ขณะที่กำลังเข้าใจ โสภณเจตสิกทั้งหลายเกิดทำกิจการงาน ไม่ใช่มีเราต่างหากซึ่งไปตั้งหน้าตั้งตาพิจารณา แต่ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ทั้งหมด คือ สภาพธรรมที่เราได้ยินแต่ชื่อ เช่น มนสิการเจตสิก ปัญญาเจตสิก หรือโสภณเจตสิกอื่นๆ เกิดแล้ว ทำกิจการงานแล้ว ดับแล้วด้วย จนกว่าจะถึงกาลที่ปัญญาคมกล้าขึ้น ก็เป็นปัญญาซึ่งรู้

    เพราะฉะนั้นการที่จะสนใจในคำหนึ่งคำใด ก็คือให้รู้ว่า ไม่ว่าจะชื่ออะไร ก็เป็นธรรมทั้งหมด และก็จะไปแยกให้รู้ว่า นี่คือลักษณะของมนสิการเจตสิก นี่คือลักษณะของสัมมาสังกัปปะ หรือเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี คิด แต่ตามความเป็นจริงคือเกิดแล้วดับแล้ว เร็วมากทันที และขณะที่เกิดทำกิจการงานของสภาพธรรมนั้นๆ เอง ไปเปลี่ยนแปลงกิจการงานของสภาพธรรมแต่ละอย่างก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นฟังจนกว่าจะเข้าใจ จนกว่าจะรู้ลักษณะ จนกว่าจะประจักษ์ความไม่ใช่ตัวตน คือ สามารถจะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง จึงจะคลายความเป็นเราได้

    เพราะฉะนั้นถ้ายังมีความเป็นเรา อ่านพระสูตรก็คือเรา ธรรมทั้งหมดเลยเป็นเรา แต่พอถึงสภาพธรรมที่เป็นอภิธรรม เป็นปรมัตถธรรม ไม่มีเรา ก็ต้องเข้าใจให้ตรงสอดคล้องกันด้วย


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 269


    หมายเลข 12050
    27 ส.ค. 2567