ภิกษุขับรถได้หรือไม่ ตอนที่ 2
ภิกษุขับรถได้หรือไม่
สทนาพิเศษ เรื่อง ภิกษุยุคนี้กับพระธรรมวินัย
ที่ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔
ตอนที่ ๒
อ.อรรณพ เรียนอ.วิชัย เรื่องที่เขาสะท้อนมาในคราวที่แล้ว มีอีกประเด็นที่มักจะอ้างกันเรื่อย คือ อ้างความประพฤติ อ้างในสิ่งที่ผิด สิ่งที่ไม่ควร แต่เขาคิดว่าควร เขาก็เลย
ท่านอาจารย์ ขอโทษสักนิด เขาเป็นใคร เทียบตัวเองกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือ
อ.อรรณพ ใช่ แต่ว่าเพื่อความชัดเจน สำหรับผู้ที่อาจจะมีความคิดอย่างนี้ ที่ท่านกล่าวว่า ลองนึกภาพในอดีตดูว่า พระสงฆ์ขี่ม้าในการเดินทาง ถูก หรือพายเรือออกบิณฑบาต ซึ่งทั้งม้า และเรือ ก็เป็นยานพาหนะไม่ต่างกับรถยนต์ เพราะฉะนั้นก็ขับรถยนต์ได้ ใช่ไหม ก็คือไปอ้างในสิ่งที่ จริงๆ ก็ไม่ได้ถูกตามพระธรรมวินัย ทั้งขี่ม้า พายเรือ แต่เขาไปจำภาพตรงนั้น ไม่ได้เข้าใจพระธรรมวินัยเลย อยากให้เห็นว่าจะมีอย่างนี้เยอะ อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นการทำลายพระวินัย
ท่านอาจารย์ ต่อไปก็ขับเครื่องบิน
อ.อรรณพ อย่างที่อ.ทวีศักดิ์พูด แล้วคงจะมียานพาหนะอะไรอีกเยอะๆ ซึ่งไปตามกิเลส
อ.วิชัย ดังนั้นถ้าเป็นภิกษุในธรรมวินัยจริงๆ จะมีความเคารพยำเกรงอย่างยิ่งในสิกขาบท คือ บทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ดีแล้ว สิ่งใดก็ตามที่พระองค์ไม่ได้อนุญาต ถ้าเป็นผู้ที่เคารพยำเกรงจริงๆ ท่านจะไม่กระทำสิ่งนั้นเลย ต้องกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า สิ่งนี้มีเรื่องอย่างนี้ พระองค์จะตรัสไว้ว่าอย่างไร อย่างสมัยหนึ่งก็มีผู้ที่จะถวายหรือมอบคนทำการวัดให้ แต่เมื่อพระองค์ยังไม่อนุญาต ก็ต้องนำเรื่องนี้ไปกราบทูลก่อน ท่านจะไม่รับทันที ก็ต้องกราบทูลให้พระองค์อนุญาตก่อน ท่านจึงประพฤติ นี่คือความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ ไม่ใช่เราจะมาคิดเทียบเคียงเอาเองเลย
แม้แต่เรื่องของยานพาหนะเองก็ตาม อย่างในสมัยหนึ่ง พระฉัพพัคคีย์เที่ยวไปโดยยาน เหมือนกับคฤหัสถ์เลย ก็เป็นที่น่าตำหนิติเตียนของคนทั่วไปว่า ภิกษุมีความประพฤติอย่างคฤหัสถ์ คือ เที่ยวไปโดยยาน พระองค์ก็เลยบัญญัติห้ามภิกษุไปโดยยาน คือ ไม่ให้ขึ้นเกวียนเลย จนภายหลังพระองค์ก็จะมีอนุบัญญัติเพิ่มเติม สำหรับภิกษุอาพาธเท่านั้นเอง ดังนั้นลองพิจารณาดู ว่า แม้เที่ยวไปโดยยานอย่างคฤหัสถ์ ก็เป็นที่น่าตำหนิ และพระองค์ก็บัญญัติไว้ว่า ไม่ให้เที่ยวไปโดยยาน ต้องอาบัติทุกกฏ แต่มีอนุบัญญัติไว้ แต่ภิกษุอาพาธเท่านั้นเอง หรือแม้แต่พระภิกษุขี่ม้า พายเรือ ไม่มีเลย มีแต่โดยสารไปโดยเรือนี้ได้
ดังนั้นการที่จะมาคิดเทียบเคียงเอาเอง ไม่ได้เลย ต้องศึกษาอย่างรอบคอบจริงๆ ว่าการขับรถของภิกษุเหมือนคฤหัสถ์หรือเปล่า ใช่ไหม เป็นกิจที่ควรกระทำไหม มีคฤหัสถ์ที่กระทำกิจหน้าที่ไหม ที่สมควรมากกว่าเพศภิกษุ ซึ่งจริงๆ แล้ว รถนั้นของใคร มาจากไหน ใช่ไหม ภิกษุมีรถได้ไหม ก็น่าคิดทั้งหมดเลย แต่ให้เห็นถึงว่าการที่จะพิจารณา ที่จะเข้าใจธรรมวินัย จะคิดเองเผินๆ ไม่ได้เลย ต้องเทียบเคียง แม้ในสิกขาบทอื่นๆ แล้วก็ที่นำมาเทียบเคียงนั้นถูกต้องหรือเปล่า อย่างภิกษุขี่ม้า มีไหม ในพระวินัยปิฎกที่พระองค์อนุญาตเอาไว้ ก็ไม่มีเลย กราบท่านอาจารย์ครับ ตรงนี้ซึ่งจริงๆ พระวินัยปิฎก เป็นพระสัพพัญญุตญาณเท่านั้น ที่จะทรงบัญญัติสิกขาบทได้ ในฐานะของผู้ศึกษาที่จะไม่ประมาทในพระวินัย ที่จะคิดเอง หรือตัดสินเองควรที่จะศึกษาอย่างไร
ท่านอาจารย์ ก็ต้องรู้จัก ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติ คนอื่นจะสามารถที่จะเข้าใจไหม ที่จะบัญญัติเปลี่ยนจากที่พระองค์ได้ทรงบัญญัติไว้แล้ว
อ.วิชัย ไม่ได้เลย
ท่านอาจาย์ ไม่ได้แล้วไปทำอะไร ในเมื่อต้องเป็นผู้ที่ตรงอย่างยิ่ง ไม่ลืมเลย ภิกษุต้องพิจารณาก่อนที่จะบริโภค หรือใช้คำว่า ฉันภัตตาหาร ใช่ไหม อย่างนั้นเพื่ออะไร เพื่อให้ไม่ลืมว่าเป็นภิกษุในพระธรรมวินัย บริโภคหรือฉันอาหารเพื่ออะไร แค่จะบริโภคซึ่งจำเป็น จำเป็นยิ่งกว่าการไปขับรถอะไรทั้งหมด แต่ทำเพื่ออะไร ถ้าจุดประสงค์อื่น ถูกต้องไหม เป็นภิกษุในธรรมวินัยหรือเปล่า
ปาติโมกขสังวร สังวรในพระปาติโมกข์ มีไหม อิทรียสังวร สังวรในขณะที่พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมไว้ เพื่อขัดเกลากิเลส ไม่ใช่แสดงธรรมไว้เฉยๆ ให้มานั่งเทียบเคียง แต่เพื่อให้เห็นว่า การที่จะขัดเกลากิเลส เป็นเรื่องที่ยาก และก็ละเอียด และต้องเป็นผู้ตรง และมั่นคง จึงมีข้อที่บุคคลกล่าวว่า เป็นภิกษุยาก ใครว่าเป็นง่าย ไม่ง่ายเลย แต่ทุกวันนี้เป็นภิกษุง่ายหรือยาก เห็นไหม บวชทำไม ไม่รู้เลย ง่ายไหม ไม่ได้ยากเลย แค่อยากจะบวชก็บวชแล้ว แต่ไม่รู้ว่าความยากของการที่จะมีชีวิตอย่างพระภิกษุ เพื่อขัดเกลากิเลส จึงสมควรที่จะเป็นผู้ที่เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ และรู้หนทางว่าการดับกิเลส หรือการที่จะหมดกิเลสตามที่บวช เพื่อถึงการดับกิเลสก็คือว่า ต้องมีปัญญา
เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีปัญญา ไม่ศึกษาธรรม แล้วจะดับกิเลสได้อย่างไร แต่จะไปเดินขบวน ปัญญาอยู่ไหน ขัดเกลากิเลสอะไร เพราะฉะนั้นเป็นผู้ที่ไม่เคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยที่ไม่รู้เลยว่า จริงๆ แล้วพระองค์ทรงอนุญาตว่า เมื่อไรที่ไม่สามารถจะดำรงเพศบรรพชิตได้ ลาสิกขาบทได้ทันที แสดงความเป็นผู้ตรง แล้วผู้นั้นทำไมไม่เป็นคฤหัสถ์ที่จะไปเดินขบวน แต่จะไปเดินขบวนในฐานะเพศบรรพชิต ไม่รู้จักพระภิกษุ และไม่เคารพในพระศาสดา เป็นโทษอย่างยิ่ง
อ.คำปั่น กราบท่านอาจารย์ครับ ขออนุญาตนิดหนึ่ง ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะว่าท่านผู้ร่วมสนทนาก็ยก คือ อ้างข้อความที่ผิด ที่บอกว่าในอดีตกาล พระภิกษุก็ขี่ม้าได้ หรือว่าพายเรือได้ ซึ่งแม้ในพระวินัยปิฎกเอง ที่มีสิกขาบทที่ทรงบัญญัติเกี่ยวกับสัตว์เดรัจฉาน พระองค์ก็ทรงบัญญัติไว้มากมายทีเดียว แม้ภิกษุเพียงอยากจะเล่นกับสัตว์เดรัจฉาน ลูบหัวลูบหู เป็นอาบัติทุกกฏ ถ้าภิกษุ มีจิตกำหนัด ชุ่มด้วยราคะ จับต้องสัตว์เดรัจฉาน เป็นอาบัติทุกกฏ เป็นความประพฤติที่ไม่เหมาะไม่ควร ถ้าเป็นสัตว์เดรัจฉานตัวเมีย แม้ว่าจะไม่มีจิตชุ่มด้วยราคะก็ตาม จับต้องก็อาบัติทุกกฏ และถ้าภิกษุเกิดความคะนอง จับองค์กำเนิดของสัตว์เดรัจฉาน เป็นอาบัติหนักขึ้นมาอีก ก็คือเป็นอาบัติถุลลัจจัย เป็นโทษอ้วน เป็นสิ่งที่มีโทษมากขึ้น
เพราะฉะนั้นกรณีที่ภิกษุขี่ม้า เป็นอาบัติแน่นอน เป็นอาบัติทุกกฏ และ สำหรับการขี่ยาน ขับยาน เป็นความประพฤติที่เรียกว่าอนาจาระเป็นความประพฤติที่ไม่เหมาะ ไม่ควร แม้ฝึกขี่ก็ไม่ได้ ยังไม่ต้องพูดถึงขับเองเลย แม้ฝึกก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นในช่วงสนทนาในวันนี้ กระผมก็ซาบซึ้งอย่างยิ่ง กับข้อความหนึ่งที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงว่า โทษแม้เพียงเล็กน้อย ต่อไปข้างหน้าก็จะใหญ่ขึ้นๆ เป็นโทษมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งใดก็ตาม ที่ไม่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต สิ่งนั้นทำไม่ได้โดยประการทั้งปวง
ท่านอาจารย์ แล้วใครจะเคารพในสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติด้วยพระองค์เอง เพื่อป้องกันกิเลสที่จะเกิดขึ้นมากมายข้างหน้าในอนาคต ถ้าไม่ประพฤติ ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย
อ.ทวีศักดิ์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อท่านผู้ชม และท่านผู้ฟังด้วย อยากจะสนทนากับอาจารย์คำปั่นด้วยว่า พระวินัยนั้นก็มีทั้งอาบัติหนัก และอาบัติเบาก็คือ โทษหนัก โทษเบา ใช่ไหม มี ๒ ประการ ทุกวันนี้ภิกษุที่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามสิกขาบท ที่เป็นอาบัติหนัก แล้วก็ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน และยังมีข้อประพฤติปฏิบัติไม่ถูกต้องในหมู่คฤหัสถ์ อยากจะให้คุยชัดเจน ที่ว่าอาบัติปาราชิก ๔ อย่างนั้น มีอะไรบ้าง ตัวอย่างเป็นอย่างไร เพื่อที่ชาวพุทธเราจะได้เลิกเสียที ที่เรียกว่า ชั่วช่างชีดีช่างสงฆ์ จะได้ช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ให้มีความเจริญงอกงาม จะได้ช่วยกันขจัดบรรดาภิกษุทุศีล หรือว่าอลัชชีให้พ้นไป จากการสร้างความมัวหมองแก่พระพุทธศาสนา
อ.คำปั่น สำหรับการล่วงละเมิดพระวินัยของพระภิกษุ เป็นการผิดต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีความเคารพยำเกรงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกว่าอาปัตติ ก็คือ อาบัติ คือ การล่วงละเมิดสิกขาบท ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ แล้วก็เกิดโทษ ซึ่งโทษก็มีสองสถาน คือ โทษหนักกับโทษเบา โทษหนักมี ๒ ส่วน ก็คือ หนึ่งก็คือขาดจากความเป็นภิกษุ อย่างที่อ.ทวีศักดิ์ได้กล่าวถึง ก็คือปาราชิก เป็นผู้ที่พ่ายแพ้ในพระพุทธศาสนา ในชาตินั้นผู้นั้นไม่ สามารถที่จะกลับมาเป็นภิกษุได้อีก ไม่สามารถบวชเป็นภิกษุได้อีก
อาบัติหนัก ๔ ประการ ก็คือเสพเมถุน ลักทรัพย์ ฆ่ามนุษย์ แล้วก็อวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน นี้คือโทษหนักเลย ต้องเมื่อใด ขาดจากความเป็นภิกษุทันที เป็นผู้ที่พ่ายแพ้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงอุปมาไว้ว่า เหมือนกับใบไม้ที่เหลือง ไม่สามารถที่จะกลับมาเขียวสดได้อีก เหมือนกับตาลยอดด้วน ไม่สามารถที่จะเจริญเติบโตได้อีก เหมือนกับบุคคลผู้มีศีรษะขาด ไม่สามารถที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีก และเหมือนกับศิลาแตก ซึ่งไม่สามารถที่จะประสานเข้ากันได้อีก ซึ่งก็เป็นโทษหนัก อันนี้คือ ปาราชิก
แต่ก็ยังมีส่วนอื่นอีกที่กล่าวถึง ผู้ที่พ่ายแพ้ในพระพุทธศาสนา อย่างเช่น ไปเข้ารีตเดียรถีย์ มีความเห็นคล้อยตามลัทธิอื่น ไม่มีความเคารพในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้นั้นก็คือเป็นผู้ที่พ่ายแพ้เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย นี้คือกล่าวถึงโทษหนัก ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ก็คือไม่ใช่ภิกษุอีกต่อไป แต่โทษหนักอีกประการหนึ่ง ยังมีความเป็นภิกษุเหลืออยู่ แต่ต้องได้อาศัยสงฆ์ ในการที่จะเกื้อกูลให้พ้นจากอาบัติประเภทนี้ได้ เรียกว่า สังฆาทิเสส อย่างเช่น ภิกษุมีจิตกำหนัด จับต้องกายหญิง เป็นอาบัติสังฆาทิเสส นี้คืออาบัติที่เป็นโทษหนัก นอกจากนั้นทั้งหมด เป็นอาบัติที่มีโทษเบา สามารถพ้นได้ ด้วยการปลงอาบัติ ก็คือแสดงความจริงใจ เปิดเผยโทษของตนเอง ต่อหน้าสงฆ์ บุคคลหรือคณะ เพื่อประกาศให้รู้ว่าตนเองมีความผิด และจะไม่กระทำผิดอย่างนั้นอีก นี่ก็เป็นข้อความในพระวินัย ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ ได้ทรงแสดงไว้
ก็แสดงให้เห็นเลยว่า การกระทำใดก็ตามที่ผิดพระวินัย ล่วงละเมิดสิกขาบท ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีโทษทั้งนั้นเลย ไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นประโยชน์เลย มีแต่จะเป็นโทษ เป็นเครื่องกั้น การบรรลุมรรคผล แล้วก็เป็นเครื่องกั้น การเกิดในสุคติภูมิด้วย ถ้ามรณภาพไปในขณะที่ยังปฏิญาณตนว่า เป็นภิกษุอยู่ ก็คือเกิดในอบายภูมิเท่านั้น นี่เป็นพระธรรมโดยตรงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้
อ.วิชัย ขออนุญาต อ.ทวีศักดิ์สักนิด อย่างประเด็นผู้ที่แสดงความเห็นมา เรื่องของภิกษุพายเรือ ก็มีข้อความในพระวินัยว่า ภิกษุแล่นเรือด้วยพาย และถ่อเป็นต้น หรือเข็นเรือบนตลิ่ง ชื่อว่าเล่นเรือเป็นทุกกฏ นี้ก็ชัดเจนว่าการที่ภิกษุจะพายเรือ หรือถ่อเรือ ไม่ได้ เป็นโทษ คือเป็นอาบัติทุกกฏ ก็ให้เห็นถึงว่า ไม่ต้องพูดถึงไปขับรถเลย แม้จะเพียงเข็นเรือ หรือว่าแล่นเรือ หรือเล่นน้ำก็ต้องเป็นอาบัติแล้ว
อ.ทวีศักดิ์ ในช่วงท้ายของเช้านี้การสนทนาพิเศษ ท่านอาจารย์สุจินต์ท่านจะได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพระธรรมวินัย ที่จะดำรงพระพุทธศาสนา ให้มีความเจริญมั่นคงสืบไป ก็ต้องอาศัยจากชาวพุทธทั้งหลายทั้งมวล ที่มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนั้นเองการที่จะมีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนที่ถูกต้องนั้น มีหนทางอย่างไร อยากจะให้ท่านอาจารย์ได้ชี้แนะเพิ่มเติมอีกสักนิด
ท่านอาจารย์ ต้องศึกษาพระธรรมวินัย ถ้าคฤหัสถ์ไม่รู้จักสิกขาบทของพระภิกษุก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ ว่าใครเป็นภิกษุหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ละเลยการศึกษาทั้งพระธรรม และพระวินัยไม่ได้ ในฐานะที่เป็นชาวพุทธก็จะต้องเข้าใจ เพราะเหตุว่าสิกขาบทสำหรับพระภิกษุ ที่ล่วงละเมิดไม่ได้ แต่คฤหัสถ์ที่เข้าใจประพฤติตามได้ ขัดเกลากิเลสได้ เพราะฉะนั้นจึงสมควรอย่างยิ่ง ที่จะเข้าใจว่า ที่ทรงบัญญัติสิกขาบทสำหรับบรรพชิต แม้คฤหัสถ์ที่เห็นโทษของกิเลสยังศึกษา และประพฤติตามพระธรรมวินัยได้เลย แล้วทำไมพระภิกษุไม่เห็นประโยชน์ ไม่รู้คุณ
เพราะฉะนั้นภิกษุใดก็ตาม ที่ไม่ได้ศึกษาธรรม และไม่เข้าใจพระวินัย จะเป็นภิกษุได้หรือ แล้วถ้าคฤหัสถ์ไม่รู้ สิกขาบทของพระภิกษุ และไม่เข้าใจพระธรรม ก็ไม่สามารถที่จะรู้ว่า ทำไมไม่อนุญาตให้ภิกษุทำอย่างนั้นอย่างนี้ นั่นตนเองอนุญาต แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต เพราะฉะนั้นจะมีข้ออ้างใดๆ ไม่ได้เลย ในฐานะของพุทธบริษัท ต้องรู้ประโยชน์จริงๆ ว่าแต่ละข้อของพระวินัยบัญญัติ ทรงอนุเคราะห์พระภิกษุ ไม่ใช่เป็นการที่จะไปทรมาน ไปขัดขวางหรืออะไรเลย แต่เป็นการอนุเคราะห์ให้รู้ว่า เมื่อเป็นภิกษุแล้ว เป็นโทษที่ไม่ประพฤติขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต ไม่รู้ตัวเลย คิดว่าไม่เป็นโทษ ทำได้ แต่ความจริงเป็นโทษมากด้วย แม้จะเป็นเพียงอาบัติเล็กน้อย แต่ไม่เคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เป็นผู้ที่จริงใจ ไม่เป็นผู้ที่ตรงต่อการบวช ว่าบวชเพื่ออะไร เพราะฉะนั้นขณะนั้น แม้กระทำผิดเพียงเล็กน้อย ในฐานะเพศบรรพชิต ก็เป็นโทษใหญ่
อ.อรรณพ กราบเรียนท่านอาจารย์ แม้หัวข้อจัดสนทนาว่า ภิกษุยุคนี้กับพระธรรมวินัย จริงๆ ก็ไม่ใช่เพียงภิกษุยุคนี้ อุบาสก อุบาสิกายุคนี้ด้วย กับพระธรรมวินัย ทั้งภิกษุ และอุบาสก อุบาสิกายุคนี้กับพระธรรมวินัย
ท่านอาจารย์ ก็เป็นพุทธบริษัทยุคนี้ แต่ว่าคฤหัสถ์ไม่ใช่บรรพชิต แล้วก็ไม่รู้จักบรรพชิตด้วย เพราะฉะนั้นคฤหัสถ์มีส่วนส่งเสริมให้บรรพชิตทำผิด
อ.อรรณพ ซึ่งก็เพราะว่าประการที่หนึ่ง ที่คิดว่าจะทำอย่างโน้นได้ จะขับรถได้ เพราะอ้างว่ามีภิกษุขี่ม้า หรือว่าก็คือไม่ได้ดูในพระธรรมวินัย ซึ่งพระวินัยมีระบุไว้ชัดเจน นี้อย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งแม้เขาจะรู้ว่ามีอยู่ในพระธรรมวินัยจริงๆ อย่างเช่น ภิกษุไม่รับ และไม่ยินดีในเงิน และทอง แต่ก็คิดเองแล้วก็จะเปลี่ยนทั้งๆ ที่รู้ อย่างเช่น ที่สนทนาเรื่องขี่ม้า ขี่รถ ก็มีเยอะแยะข้อความที่ได้เปิดพบ ซึ่งก็ชัดเจน เรื่องภิกษุพวกพระอัสสชิ และพระปุณณะ พระสุกกะ ซึ่งสมัยหนึ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวัน ครั้งนั้นพวกภิกษุ เหล่านี้ซึ่งเป็น ภิกษุอลัชชีชั่วช้า พวกภิกษุพวกนั้นซึ่งอยู่ในชนบท อิตาคีรี มีความประพฤติอนาจาระ เห็นปานนี้ ปลูกต้นไม้ดอกเองบ้าง ให้ผู้อื่นปลูกบ้าง รดน้ำเองบ้าง ให้ผู้อื่นรดบ้าง และอีกเยอะ แต่ส่วนหนึ่งที่ชัดเจนที่เป็นอนาจาระ คือ การประพฤติที่ไม่ดี คืออย่างที่อาจารย์คำปั่นกล่าว หัดขี่ช้างบ้าง หัดขี่ม้าบ้าง หัดขี่รถบ้าง ก็เป็นความประพฤติที่เป็นอนาจาระชัดเจน หนึ่งไม่ได้ศึกษา ก็บอกว่าไม่มีข้อความเหล่านี้ แล้วก็ไปอ้างว่า ในเมื่อขี่ม้าได้ ก็ต้องขี่รถได้ แต่หนึ่งไม่ได้ดูในพระธรรมวินัยว่า มีอย่างนี้จริงๆ แล้วแม้จะรู้ว่ามีในพระธรรมวินัย ก็ยังคิดเองว่ายุคนี้ต้องเปลี่ยน ท่านอาจารย์มีโทษถึง ๒ อย่าง ไม่ศึกษาตามพระธรรมวินัย ซึ่งท่านแสดงไว้ชัดเจน เรื่องขี่รถ ขี่อะไร เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่ท่านแสดงความเห็นมา ก็เป็นความคิดเองของท่านหมดเลยคิดพระวินัยเองก็เป็นโทษ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นยุคนี้บวชเป็นภิกษุ ไม่ได้เพื่อละคลายกิเลส แต่เป็นการเป็นภิกษุ ด้วยความต้องการเพิ่มกิเลส
อ.อรรณพ ภิกษุที่ดีงาม แล้วก็อุบาสก อุบาสิกาที่ดีงามในยุคนั้น เขาก็มีภิกษุที่ท่านเป็นลัชชี ผู้ละอาย ท่านก็ไปที่ชนบทอิตาคีรีนั้น แล้วก็มีอุบาสกที่ท่านเข้าใจพระธรรมวินัย ท่านก็เห็นว่าพระภิกษุรูปนี้ เป็นภิกษุที่มีอาจาระที่ดี แตกต่างกับพวกชาวชนบท ที่หลงเชื่อภิกษุอลัชชีเหล่านั้น
เพราะฉะนั้นท่านฝากพระภิกษุ จะมาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อุบาสกท่านนี้ ท่านก็บอกว่าถ้าเช่นนั้น ขอพระคุณเจ้าจงกราบถวายบังคมพระบาท พระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยเศียรเกล้า และขอกราบทูลตามถ้อยคำของกระผมอย่างนี้ ซึ่งท่านเห็นความประพฤติไม่ดี ของภิกษุเหล่านี้ มีความประพฤติอนาจาระเห็นปานนี้ คือปลูกต้นไม้เอง อะไรเอง หัดขี่ช้าง หัดขี่ม้า หัดขับรถ แล้วก็อะไรอีกหลายอย่าง ท่านก็เห็นว่าควรที่จะแก้ไข แล้วก็ฝากพระภิกษุรูปนั้น ไปกราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ตอนท้าย กราบเรียนท่านอาจารย์ ว่า ณ บัดนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ก็สุดที่ว่าจะไปกราบทูลพระองค์ได้เช่นไร ซึ่งเมื่อเห็นอย่างนี้ ในยุคนี้ก็ยิ่งกว่านี้อีกมากมาย ไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กราบทูลแล้ว จะทำอย่างไร
ท่านอาจารย์ ก็ต้องรู้ว่าการบวชเป็นภิกษุ เพื่อขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้นการกระทำใดๆ ซึ่งไม่ใช่การขัดเกลากิเลส ก็ไม่ใช่กิจหน้าที่ของภิกษุบุคคลนั้น เมื่อกระทำด้วยความเพิ่มกิเลส ต้องการอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย เป็นโทษอย่างยิ่ง
อ.อรรณพ เพียงแต่จะกล่าวตามพระธรรมวินัย ให้พูดโดยเข้าใจได้ ได้เข้าใจเท่านั้น
ท่านอาจารย์ เพราะว่าทั้งหมดแก้ไขไม่ได้ ถ้าไม่เข้าใจถูกต้อง เพราะฉะนั้นถ้ามีการศึกษาให้เข้าใจทุกคำ แม้แต่คำว่าภิกษุ ถ้าเข้าใจจริงๆ เป็นผู้ตรง ที่จะรู้ว่าเป็นภิกษุหรือไม่ใช่ภิกษุ เพราะพระธรรมวินัยได้แสดงแล้ว ผู้ที่ไม่ได้ตามพระธรรมวินัย ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย คำของใคร ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้นก่อนอื่นแม้แต่ภิกษุ พุทธบริษัทก็ต้องเข้าใจ ว่าภิกษุคือใคร
เพราะฉะนั้นก่อนที่จะปรินิพพาน เมื่อมารมาทูลขอให้ปรินิพพาน พระองค์จึงตรัสว่า จะปรินิพพานเมื่อพุทธบริษัท เป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรมถูกต้อง มั่นคง พุทธบริษัททั้งหมด ไม่ใช่แต่ภิกษุ เพราะฉะนั้นเรานับถือพระพุทธศาสนา เป็นพุทธบริษัท ของผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาด้วยกัน ก็จะต้องศึกษาพระธรรม ไม่ใช่ว่าปล่อยให้เป็นภาระของคนอื่น แล้วก็ตามคนอื่น โดยไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด เป็นผู้ตรง ไม่มีอคติ ไปในทางที่ไม่สมควร ไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นอย่างนั้นเลย เพราะความไม่รู้ โมหาคติ เพราะความพอใจรักใคร่ เป็นพวกพ้องเพื่อนฝูง ผิดก็ไม่พูด ฉันทาอคติ
อ.ธนากร เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า พระภิกษุขับรถไม่ได้ จะขี่ม้า หรือว่าพายเรือก็ทำไม่ได้ ตามพระธรรมวินัย แล้วก็ตามหลักมหาประเทศ ๔ ที่ถึงแม้ว่าจะไม่มีพระพุทธบัญญัติ แต่ถ้าสิ่งนั้นเข้ากันได้กับสิ่งที่ไม่ควร ขัดแย้งกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นก็ไม่สมควร เพราะว่าพระภิกษุ เมื่อบวชแล้ว เป็นผู้ที่ขัดเกลากิเลสเพื่อที่จะศึกษา แล้วก็น้อมประพฤติปฏิบัติ ตามพระธรรมวินัยนั่นเอง