ลักษณะที่ไม่ได้คิด - ลักษณะที่คิด


    ผู้ฟัง ในขณะที่มีเรื่องราวใดๆ ก็ตาม จะเกิดขึ้นลอยๆ ไม่ได้เลย ถ้าไม่มีสภาพที่คิดถึงเรื่องราวนั้น แต่ถ้าผมมีอำนาจวิเศษเอาเรื่องราวออกหมด ก็จะเหลือแต่สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมล้วนๆ มีมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล เดี๋ยวนี้ และอีก ๑๐๐ ปี ๑,๐๐๐ ปี สภาพที่คิดอย่างนี้ก็ยังต้องมีต่อไป อันนี้ใช่ไหมครับ เป็นลักษณะของธรรมที่เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง และเราก็เรียกว่า ความคิด

    สุ. ค่ะ คุณประทีปไม่ต้องมีอำนาจวิเศษที่จะทำอะไรทั้งสิ้น เพราะสภาพธรรมนั้นเป็นอย่างนั้นแล้ว

    ผู้ฟัง เป็นอย่างนั้นแล้วหรือครับ

    สุ. แน่นอนค่ะ เห็นดับไหม

    ผู้ฟัง ดับครับ

    สุ. แล้วคิด เพราะฉะนั้นขณะที่เห็นดับ ก็แสดงว่าเห็นนั้นหมดแล้ว แยกออกไปแล้วจากจิตขณะต่อไปซึ่งคิด และเรื่องราวก็ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา แยกออกไปแล้วจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นคุณประทีปไม่ต้องไปแสวงหาอำนาจวิเศษอะไรมาทำเลย เพราะสภาพธรรมเป็นอย่างนั้นแล้ว แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม จะเห็นได้ว่า แม้ธรรมจะปรากฏจริงๆ แต่ต้องอาศัยการฟัง และเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง จนกระทั่งเป็นสัจญาณ อริยสัจ ๔ ทุกคนรู้จัก ทุกขสัจ ทุกขสมุทัยสัจ ได้แก่ โลภะ ความติดข้อง และสภาพธรรมที่ดับทุกข์ ทุกขนิโรธสัจ จนถึงกระทั่งถึงทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ที่จะให้ถึงการรู้แจ้งสภาพธรรมได้ แต่ถ้าไม่มีสัจญาณ ไม่มีทางเลยที่สามารถจะรู้แม้ทุกขสัจ ยังไม่ต้องไปถึงสัจธรรมอื่นๆ

    เพราะฉะนั้นการฟัง แทนที่จะไปคิดว่า ถ้าเรามีอำนาจ ไม่ต้องมีใครมีอำนาจเลย ธรรมเป็นอย่างนั้นแล้ว คือ ขณะใดก็ตาม จิตเห็นเกิดขึ้น มีสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ ยังไม่เป็นการคิดนึกเรื่องราวใดๆ ทั้งสิ้น จนกว่าจิตที่รู้สภาพที่ปรากฏทางตาดับหมดแล้ว ภวังคจิตคั่น ขณะนั้นไม่ได้รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเลย ใครไปทำให้ ภวังค์คั่น มีอำนาจอะไรที่จะให้แยกขาดทางจักขุทวารกับทางมโนทวาร ไม่ต้องมีอำนาจใดๆ เลย ธรรมเป็นอย่างนั้น เมื่อภวังคจิตดับแล้ว จากการที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาดับไป ทำให้มโนทวาราวัชชนจิตตรึกถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา คนละขณะแล้ว เห็นจริงๆ กับขณะที่ไม่ได้เห็น แต่จากการเห็นนั่นแหละ ทำให้นึกถึงสิ่งที่เพิ่งผ่านไป ไม่ต้องมีใครมีอำนาจใดๆ ไปแยกทั้งสิ้น และขณะนั้นก็มีสภาพธรรมที่ปรากฏทางตานั่นแหละ เพราะนึกถึงอะไร นึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วดับไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏกับมโนทวาราวัชชนจิตทางใจ จะเป็นอื่นไม่ได้ เพราะนึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตาดับไป เพราะฉะนั้นก็รู้สิ่งที่ปรากฏที่ทางตาเห็น ดับไปนั่นเอง แล้วต่อไป เราจะใช้คำว่า หลายวาระ ก็จะเป็นการคิดนึกเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏทางตา

    สภาพธรรมเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่ปัญญายังไม่ได้รู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้น เพราะฉะนั้นการฟังจึงต้องถึงความเป็นสัจญาณ เป็นปัญญาที่รู้จริงๆ ว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้นเมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ สิ่งนี้กำลังเกิดดับสืบต่อ ไม่ได้ปรากฏความจริงให้รู้การเกิดดับสืบต่อแต่ละรูป ซึ่งดับไปแล้วไม่กลับมาอีก แต่ละขณะของนามธรรมซึ่งดับแล้วไม่กลับมาอีก แต่ว่าเมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ การที่จะรู้ลักษณะซึ่งสืบต่ออย่างเร็วมาก เหมือนกับเป็นนิมิตของสิ่งที่มีจริงๆ เพราะว่าสิ่งที่มีจริง เกิดแล้วดับแล้ว แต่ว่าสืบต่อย่างเร็วมาก ทำให้สามารถค่อยๆ รู้ลักษณะ ซึ่งความจริงก็เป็นรูปนิมิตหรือสังขารนิมิตนั่นเอง แต่มีลักษณะให้เข้าใจถูกได้ว่า ขณะนั้นเป็นลักษณะที่ไม่ได้คิด เพราะว่าคิดสิ่งนั้นไม่ได้ปรากฏให้รู้

    ด้วยเหตุนี้การค่อยๆ เข้าใจความละเอียดขึ้น ก็ทำให้รู้ความต่างของขณะที่เป็นปรมัตถ์กับขณะที่เป็นบัญญัติ เพราะว่าเราใช้คำว่า “บัญญัติ” เสมอ คิดเป็นเรื่องเป็นราวเป็นบัญญัติต่างๆ แต่ว่าการจะรู้บัญญัติได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อรู้ว่า อะไร ขณะไหน สภาพไหนเป็นปรมัตถ์ และนอกจากนั้นแล้วก็เป็นบัญญัติ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังทั้งหมด ปัญญาต้องค่อยๆ รู้ตาม ตามลำดับขั้น ถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคง เราจะไปทำอย่างอื่นไหม จะไปเอาอำนาจอะไรๆ ไหม เพราะไม่มี สภาพธรรมเป็นอย่างนั้น อำนาจใดๆ ก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้

    เพราะฉะนั้นเมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้ ก็จะรู้ได้ว่า ปัญญาที่จะเจริญจนกระทั่งสามารถเข้าถึงทุกขสัจ หรือทุกขอริยสัจจะได้ ก็คือการเข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งซึ่งปรากฏแต่ละทางตามความเป็นจริงนั่นเอง

    ถ้าขณะนี้สิ่งใดปรากฏ แล้วไม่รู้ ขณะนั้นสิ่งนั้นดับแล้ว แล้วก็เกิดดับสืบต่อนานสักเท่าไรก็ตามแต่ ก็หมดไปทุกๆ ขณะ จนกว่าสติสัมปชัญญะมีการรู้ตรงลักษณะนั้น ขณะไหน ขณะนั้นก็คือปัญญาที่เริ่มรู้ว่า ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมต่างกับขณะที่คิดนึกเรื่องราวต่างๆ


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 271


    หมายเลข 12074
    27 ส.ค. 2567