ศรัทธาที่จะปรุงแต่งให้สติสัมปชัญญะเกิด
สุ. เพราะฉะศรัทธาที่จะปรุงแต่งให้สติสัมปชัญญะนั้นการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น บุคคลนั้นก็จะรู้ได้ว่า ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด เราก็เพียงแต่จะพูดเรื่องลักษณะของแข็ง แต่แข็งไม่ได้ปรากฏ จนกว่าสติสัมปชัญญะรู้แข็ง ไม่ใช่เพียงกายวิญญาณที่รู้แข็ง ขณะนั้นจึงจะรู้ว่าเป็นสติสัมปชัญญะที่เกิด แล้วก็เป็นปกติ ไม่หวั่นไหว มิฉะนั้นถ้าไม่เป็นสติสัมปชัญญะหวั่นไหวทันที แต่ถ้าเป็นสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่เรา ก็เป็นปกติธรรมดาที่หลงลืมสติบ้าง และสติก็เกิดบ้าง
อ.วิชัย มีความรู้สึกว่า ขณะที่ตื่นกับขณะที่หลับ ช่างแตกต่างกันมากเหลือเกิน เทียบกับการที่ไม่ได้ฟังพระธรรม แล้วโอกาสที่จะตื่นขึ้นก็มีโอกาสน้อยมากในแต่ละวัน และถ้ายิ่งในสังสารวัฏฏ์อีกก็ยิ่งเนิ่นนาน
สุ. ค่ะ เพราะจริงๆ จะห้ามไม่ให้ชีวิตเป็นไปตามการสะสมไม่ได้เลย เมื่อ ปฏิสนธิจิตขณะแรกมี ต้องมีปวัตติ คือ ความเป็นไป ตามการสะสม ซึ่งเป็นอนัตตาทั้งสิ้น แต่ที่ได้เป็นไปแล้วทั้งหมดโดยที่ไม่ได้เข้าใจธรรม เปล่าประโยชน์ เพราะเหตุว่าเกิดมาแล้วก็สุขบ้าง ทุกข์บ้าง แล้วก็ไม่มีอะไรเหลือเลย และไม่มีอะไรกลับมาอีกด้วย และไม่มีความเข้าใจถูกต้องว่า ขณะนั้นไม่ใช่เรา
เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามมีการฟังธรรม เห็นประโยชน์จริงๆ จนกระทั่งถึงขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด เมื่อนั้นจะรู้ได้เลยว่า สิ่งที่ได้ฟังมาทั้งหมดเป็นความจริง และจะเป็นความจริงยิ่งขึ้น เมื่อสติเจริญขึ้น ธรรมทั้งหลายที่ปรากฏตรงกับที่ได้เรียน ขณะนั้นตื่น แล้วก็เป็นสาระ เพราะเหตุว่ากำลังมีความเห็นถูก ความเข้าใจถูกสะสมที่จะเห็นความจริงของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้นขณะนั้นจะระลึกถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไหมคะ มิฉะนั้นสติจะเกิดได้ไหม ถ้าไม่มีการฟังพระธรรม แม้ศรัทธา ศรัทธามีหลายประเภท ศรัทธาในทาน บางคนก็สะสมมาที่จะให้ทานเป็นอุปนิสัย บางคนเห็นคนที่น่าสงสาร อดไม่ได้ต้องให้ ไม่สบายใจเลย ถ้าไม่มีการสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลนั้น เพราะสะสมมา
ศรัทธาในศีล บางคนก็กล่าวแม้ในการเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานว่า เขาไม่สามารถที่จะพูดคำหยาบ ในขณะที่เพื่อนฝูงมิตรสหายทั้งหลายเป็นชีวิตประจำวันเลยที่จะใช้คำหยาบ แต่เขาไม่พูด พูดไม่ได้ ไม่สะสมมาที่จะพูด นี่ก็เป็นสีลุปนิสัย สะสมมาในเรื่องศีล แม้ในเรื่องความสงบของจิต เราเกิดมาแล้ว ไม่ทราบนานแสนนานเท่าไร เคยอบรมเจริญความสงบถึงขั้นฌานมาแล้ว ก็เป็นได้ ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้นความสงบจากการที่ได้สะสมมา เห็นประโยชน์ว่า ขณะนั้นถ้าโกรธกับไม่โกรธ อย่างไหนจะดีกว่ากัน ไม่โกรธก็ต้องดีกว่าโกรธ โกรธไม่ได้นำอะไรมาให้ใคร แม้แต่คนที่กำลังโกรธ และคนที่ถูกโกรธด้วย มีแต่เหตุที่จะทำให้เดือดร้อนทั้ง ๒ ฝ่าย เพราะฉะนั้นขณะนั้นเขาก็อาจจะมีจิตที่สงบด้วยเมตตา ด้วยกรุณา ด้วยมุทิตา ด้วยอุเบกขา ศรัทธาที่สะสมมาก็เป็นในระดับนั้น แต่ให้ทราบว่า การฟังพระธรรม ถ้าไม่มีคำสอนของพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าจากการตรัสรู้ ศรัทธาในการฟังธรรมของเราจะเกิดแต่ไหน ไม่มีเลย ก็จะมีศรัทธาเพียงขั้นทาน ศรัทธาเพียงขั้นศีล ศรัทธาเพียงขั้นสงบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หรืออาจจะระลึกถึงความตาย ความไม่เที่ยง เป็นต้น แต่ศรัทธาที่ไม่เสื่อมคลาย เพราะเหตุว่าเห็นประโยชน์ของการฟัง ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงพระธรรม จะไม่มีการฟังธรรม ศรัทธาในการฟังก็ไม่มี ศรัทธาที่เมื่อเข้าใจแล้ว ก็ฟังต่อไปอีก ก็ไม่มี และศรัทธาที่จะปรุงแต่งให้สติสัมปชัญญะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็มีไม่ได้
เพราะฉะนั้นแม้ศรัทธา ตั้งแต่ในขั้นต้นของการฟัง จนกระทั่งปัญญาที่เจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้มาจากใคร และมาจากไหน ก็มาจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี ตรัสรู้ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระมหากรุณาแสดงธรรม และศรัทธาของผู้ได้ฟังจำนวนเท่าไร ที่จะอบรมเจริญไปๆ จนกว่าจะถึงกาลที่สามารถจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
เพราะฉะนั้นศรัทธาของผู้เลื่อมใสไม่หวั่นไหว คือ ผู้ที่ได้รู้แจ้งความจริงของสภาพธรรม เพราะเห็นคุณแม้ศรัทธาเริ่มต้นจากการฟัง ด้วยเหตุนี้การฟังธรรม ก็จะเป็นผู้รู้ตัวเองว่า กำลังรับมรดก คือ อริยทรัพย์ ทรัพย์ทางโลก หมดไปได้ด้วยไฟ ด้วยน้ำ ด้วยโจร แต่สิ่งที่ได้สะสมมาในแต่ละชาติ ก็จะสะสมสืบต่อไป
เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ประโยชน์แท้จริงของการมีชีวิตอยู่ในแต่ละชาติ คือ ขณะที่ได้ฟังพระธรรม และเข้าใจพระธรรม
ที่มา ...