ลักษณะของสติที่ระลึก-ลักษณะที่จดจ้อง


    ผู้ฟัง อย่างสภาพเห็น ถ้าเรายังไม่สามารถประจักษ์ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ว่าจริงๆ แล้ว การเห็นทุกครั้งก็มีจิตเกิดขึ้น แล้วก็รู้อารมณ์ทางตา ก็อยากจะกราบเรียนถามถึง อารมณ์ที่จิตรู้ เพื่อมีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น

    สุ. กำลังเห็น อะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วท่านอาจารย์ปรากฏ แต่ว่าจากการศึกษา ก็ทราบว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    สุ. นี่เป็นสิ่งซึ่งจะเข้าใจความหมายว่า ศึกษาธรรมคืออะไร ศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ เพราะว่าเวลาที่เราศึกษาธรรม เราอาจจะคิดว่า แล้วเมื่อไรเราจะประจักษ์อย่างที่เราได้ยินได้ฟัง อันนี้ตัดไปได้เลย ไม่มีเมื่อไร แต่ว่าขณะนี้ เดี๋ยวนี้กำลังเป็นปัจจุบัน เมื่อไร คือ ข้างหน้า ยังไม่มาถึง จะมาถึงเมื่อไร ก็เป็นสิ่งที่รู้ไม่ได้ แต่ว่าจะรู้ได้จากขณะนี้ว่า ในขณะที่ฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซ้ำไปซ้ำมา ไม่พ้นจากเรื่องนี้เลย เพื่อให้ค่อยๆ เกิดความเข้าใจ แสดงให้เห็นว่าอย่างไร ฟังไป ฟังไป ฟังไป แล้วก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏ เพื่อให้ค่อยๆ เข้าใจ อย่างคำถามของคุณสุกัญญา ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่สามารถจะเข้าใจได้ทันที และจะเข้าใจถึงขั้นประจักษ์แจ้งด้วย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเป็นผู้ที่ตรง แต่ก็จะรู้ว่า การที่เราฟังธรรม ไม่ฟังเพียงชื่อ แต่มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วเราจะรู้จักตัวเราตามความเป็นจริงว่า เราเริ่ม เริ่มนะคะ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย แม้ฟังแล้วก็ยังไม่สามารถเห็นจริงตามนั้นได้ แม้ว่าความจริงเป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจเรื่องความจริงก่อนว่า ความจริงคืออย่างไร ส่วนการฟัง ระดับขั้นที่ฟัง ยังไม่สามารถรู้อย่างที่เข้าใจได้ แต่เมื่อสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มีจริง อาศัยการฟัง เพราะเหตุว่าถ้าไม่ฟัง เราจะนึกถึงเรื่องอื่นทันที มีเรื่องที่ต้องคิดมากมาย แม้ขณะนี้ ช่วงว่างนิดเดียว ก็คิดถึงเรื่องอื่นแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องที่จะคิด สะสมมามาก เพราะฉะนั้นการฟังแต่ละครั้ง เพื่อเพื่อสะสมความเข้าใจถูกให้มั่นคงขึ้นว่า เป็นสิ่งที่ปัญญาจะแทงตลอด เมื่อมีความรู้ความเข้าใจจริงๆ เพิ่มขึ้น อย่าคิดว่าเข้าใจแล้ว แม้สิ่งที่กำลังปรากฏ กำลังเผชิญหน้า เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย แล้วเป็นธรรม ที่มีการเกิด และการดับด้วย และสภาพธรรมที่กำลังเห็นก็เป็นชั่วขณะที่มีสิ่งนี้กำลังปรากฏ ขณะใดที่สิ่งนี้ไม่ปรากฏ จะชื่อว่า เห็น ไม่ได้ ถูกต้องไหมคะ

    เพราะฉะนั้นการฟัง ฟังเพื่อให้เข้าใจขึ้น แต่ต้องรู้ลักษณะของปัญญาว่า ปัญญาขั้นฟัง คือ กำลังฟังเรื่องของสิ่งที่มีจริง โดยสิ่งที่มีจริงในขณะนี้กำลังเกิดดับเร็วมาก แต่ก็ฟังให้ค่อยๆ เข้าใจ จนกว่าสามารถจะเข้าใจได้

    เมื่อกี้นี้คุณสุกัญญาตอบว่าเห็นอะไร เป็นคน เป็นสัตว์ แต่จริงๆ ก็ต้องคิดอีก ไตร่ตรองอีกว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา คุณสุกัญญาไม่ได้คิดเลยที่จะเข้าใจ เพราะว่าเห็นทีไรก็เป็นสิ่งนั้นทันที ยังไม่ถึงกาลที่เริ่มจะรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะจริงๆ ก็คือ เพียงปรากฏ แค่นี้ค่ะ ที่จะถึงความไม่ติดข้องในนิมิต อนุพยัญชนะ เพราะว่าถ้าเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นของธรรมดา หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะจิตเกิดดับเร็วมาก แต่เรามีความติดข้อง มีความไม่รู้ มีการยึดถือสิ่งนั้นมากมายมหาศาล เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ความจริงว่า จะไม่ติด คือเมื่อไร จะเริ่มรู้ลักษณะของสภาพธรรมเมื่อไร ก็คือขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เข้าใจ แค่ให้เข้าใจก่อน ยังไม่ต้องไปประจักษ์แจ้ง

    ผู้ฟัง พอเห็นปุ๊บ เราก็บอกว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นเพียงแค่ความคิดนึกที่เกิดขึ้น แต่ความคิดนึกที่เกิดขึ้นจากการศึกษาธรรม ก็มีความคิดว่า เราถ้าจะผิดปกติแล้ว

    สุ. ให้เห็นความคิดว่า สามารถทำให้คิดได้ถึงอย่างนั้นว่า ผิดปกติ ลองคิดถึงว่า คิดนี่เป็นปกติไหมคะ ไม่ว่าจะคิดเรื่องอะไรก็ตาม สภาพคิดเป็นปกติหรือเปล่า เป็นปกติ ถ้าคิดถึงอะไรก็ตาม สิ่งที่คิดมี แล้วแต่จะคิดเป็นเรื่องราวก็ได้ เพราะฉะนั้นคิดเป็นปกติ ฉันใด เวลาที่คิดเรื่องธรรม ความคิดจะผิดปกติได้ไหมคะ เพียงแต่เปลี่ยนเรื่องที่เคยคิดเรื่องอื่น มาคิดถึงเรื่องธรรม จะกล่าวว่า ผิดปกติได้อย่างไร ยังเหมือนเดิม ไม่มีใครรู้ว่า ใครคิดอะไรในขณะนี้ ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นขณะที่เกิดคิดเรื่องธรรม ขณะนั้นจะผิดปกติได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้นแม้แต่จะใช้คำว่า “ปกติ” และ “ผิดปกติ” ก็ต้องเป็นความละเอียดว่า ปกติคือคิด แต่เรื่องที่คิด แต่ก่อนไม่เคยคิดเรื่องนี้เลย แต่เมื่อได้ยินได้ฟัง ก็สามารถมีปัจจัยทำให้คิดเรื่องนี้ได้ แต่ว่าคิดมากหรือคิดน้อยในวันหนึ่งๆ ถ้าคิดถึงเรื่องอื่น ดูเป็นปกติหรือคะ เพราะเป็นชีวิตประจำวันที่คุ้นเคยที่จะคิดเรื่องนั้น แต่พอเปลี่ยนเรื่องคิด ทำให้เข้าใจว่า ผิดปกติ ทั้งๆ ที่ความคิดก็เป็นความคิดนั่นเอง

    เพียงเท่านี้ก็ยังต้องอาศัยการพิจารณา เพราะว่าความคิด ทำไมถึงเกิดคิดว่า ผิดปกติหรือเปล่า นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจมีมากมาย เป็นปัจจัยให้คิดแม้ขณะนั้นว่า ผิดปกติหรือเปล่าได้

    ผู้ฟัง คือจริงๆ แล้ว ความคิดห้ามไม่ได้ เมื่อเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นตามเหตุ และปัจจัย แต่การที่เราไปตรึกหรือการจดจ้อง ซึ่งเราก็รู้ว่า สิ่งนี้ไม่ใช่หนทาง

    สุ. เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ว่า เมื่อคิดแล้วมีการจดจ้อง แต่คุณสุกัญญาก็ต้องทราบความต่างของลักษณะของสติเจตสิก เวลาที่กุศลจิตเกิด มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เร็วแค่ไหน เจตสิกทั้งหลายที่เกิดพร้อมกัน ทำหน้าที่เฉพาะของตนๆ แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว

    เพราะฉะนั้นลักษณะของสติ เป็นสภาพที่ระลึก เกิดแล้วดับแล้ว เร็วมากไหมคะ จะเหมือนลักษณะที่จดจ้องไหม

    นี่คือความต่างของขณะที่สติเป็นปกติ อย่าลืมนะคะ เป็นปกติ ธรรมเป็นปกติ แม้ขณะนี้ ขณะใดก็ตามที่ฟังเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตาม แล้วเข้าใจ ขณะนั้นก็จะมีการรู้ตรงลักษณะ ซึ่งไม่เคยรู้ เพราะว่าผ่านไปเรื่อยๆ เกิดแล้วดับแล้ว เป็นคนนั้นคนนี้อยู่ตลอดเวลา แต่เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด จะรู้ลักษณะที่ปรากฏเป็นปกตินั่นแหละ แล้วการรู้ลักษณะนั้นก็เป็นปกติ ไม่ใช่การจดจ้อง เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่จดจ้อง ขณะนั้นไม่ใช่สติสัมปชัญญะ

    เพราะฉะนั้นการฟังต้องฟังให้ละเอียด แล้วสติสัมปชัญญะก็เป็นปกติเหมือน โสภณเจตสิกอื่นๆ แต่โสภณเจตสิกอื่นที่เป็นไปในทาน ในศีล ไม่ใช่ในขณะกำลังรู้ลักษณะ มีลักษณะที่กำลังปรากฏ

    เป็นความจริงที่ว่า ลักษณะที่แข็ง มี แล้วเราก็รู้แข็ง เวลาใครตอบก็รู้แข็ง ขณะนั้นถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญา ก็จะรู้ได้ว่า เพียงตอบว่ารู้แข็ง หรือว่าขณะนั้นกำลังมีสติเกิดรู้ลักษณะที่แข็ง

    นี่คือความต่างกัน เพราะฉะนั้นเป็นปกติจึงเป็นสติปัฏฐาน เป็นสติสัมปชัญญะ ถ้าผิดก็เป็นมิจฉามรรค ผิดปกติทันที

    เพราะฉะนั้นขณะนี้สติสัมปชัญญะเกิดได้เป็นปกติ แต่ปัญญายังไม่สามารถสละหรือละการที่เคยยึดถือลักษณะที่ปรากฏ เพราะเหตุว่าสติเกิดแล้วก็ดับไป เหมือนทุกๆ ขณะนี้แหละ

    เพราะฉะนั้นถ้ารู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะที่เกิด ก็จะรู้ว่า วันหนึ่งๆ มีสติสัมปชัญญะบ้างไหม หรือวันนี้ไม่มีเลย เดือนนี้ไม่มีเลย ต่อไปอาจจะมีสักขณะหนึ่ง แล้วไม่มีอีก

    นี่เป็นการทดสอบความเข้าใจความเป็นอนัตตา และเยื่อใยในความเป็นตัวตนว่า มากมากมหาศาล พอที่จะหม่นหมองต้องการสติ โดยที่นั่นไม่ใช่หนทางเลย เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมด้วยการอดทน ด้วยการรู้ว่าเป็น อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ แต่สังขารขันธ์ก็ปรุงแต่งให้เป็นผู้ฟังธรรมอีก ไม่ได้ทอดทิ้งละเลยการฟังธรรม และมีการเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่เป็นผู้หวังว่าจะทำให้สติเกิด ถ้าเป็นอย่างนั้นเมื่อไร ก็หมายความว่า ที่สะสมความเข้าใจว่า ธรรมเป็นอนัตตา ก็หมดไปอีกแล้ว มีแต่ความเป็นตัวตนเข้ามาบ่อยๆ

    เพราะฉะนั้นการสะสมความเข้าใจธรรมว่าเป็นอนัตตา ก็น้อย จนกว่าจะมั่นคงขึ้น


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 273


    หมายเลข 12086
    27 ส.ค. 2567