อยู่ในโลกของเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏสืบต่อ


    ผู้ฟัง อย่างฟังเรื่องโลภมูลจิต หรือโลภเจตสิก เราก็พอจะสังเกตได้ว่า มีจริงในชีวิตประจำวัน

    สุ. มีเมื่อไร

    ผู้ฟัง มีเมื่อเกิด และรู้ได้เมื่อเข้าใจ

    สุ. เราคิดถึง แต่สภาพธรรมนั้นดับแล้ว เร็วมาก

    ผู้ฟัง เมื่อศึกษาถึงลักษณะของโลภมูลจิต ก็มีความรู้สึกว่า จะสามารถกล่าวได้ว่า ในวันหนึ่งๆ จะมีอกุศลมากมายมหาศาล หากุศล ก็พยายามแหวกหา ก็หาไม่เจอ

    สุ. ค่ะ พยายามแหวกหา แต่ว่าเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏค่ะ

    ผู้ฟัง แม้แต่กุศลขั้นทาน ขั้นศีล ซึ่งเกิดในชีวิตประจำวัน จะระลึกได้ว่า จิตขณะนั้นมีลักษณะของกุศลจิต ยังไม่ได้เลยค่ะ

    สุ. เอาอีกแล้ว ก็จะทำให้ได้ ก็ไม่ได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องเข้าใจ เป็นเรื่องจะพยายามไปทำให้ได้แล้วไม่ได้ แต่ถ้าพยายามฟังธรรมเข้าใจ ว่าทั้งหมดที่คุณสุกัญญากล่าวจริง แต่ว่ารู้จริงๆ ต่อเมื่อสติเกิด ขณะนี้สิ่งที่แน่นอนจริงๆ ก็คือว่า สภาพธรรมเกิดดับเร็วที่สุด ประมาณไม่ได้เลย จะไปรู้อันไหน เพราะฉะนั้นอยู่ในโลกของความหลง กำลังอยู่ในโลกของเรื่องราว สิ่งที่ปรากฏสืบต่อ ทั้งๆ ที่สภาพธรรมนั้นก็ดับไปแล้ว กำลังอยู่กับนิมิตของสิ่งที่เกิดดับ จนกระทั่งปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ยังไม่ตื่น ยังหลับอยู่ในความคิดความจำ จนกว่าสติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไร มีลักษณะของปรมัตถธรรม หรือสภาพธรรมที่ปรากฏ ขณะนั้นตื่น ที่จะรู้ว่าความจริงคืออย่างนี้ ความจริงคือไม่มีใครเลย แต่มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ต้องไปแหวกว่ายหาอะไรทั้งสิ้น แต่ว่ามีการฟังให้เข้าใจว่า ขณะนี้เป็นอย่างนี้จริงๆ หรือเปล่า และเวลาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้จริงๆ ก็ด้วยสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นหนทางเดียวจริงๆ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นหนทางอื่น ไม่สามารถจะรู้ได้ หรือสามารถ ลองคิดหาทางว่า สภาพธรรมขณะนี้มี และกำลังเป็นโลกของสมมติบัญญัติ ซึ่งความจริงถ้าไม่มีปรมัตถธรรม นิมิตของสังขารธรรมทั้งหมด มีไม่ได้เลย แต่เพราะเกิดดับเร็ว และด้วยความไม่รู้ก็ทำให้อยู่ในความไม่รู้ในสิ่งที่เกิดดับเร็ว เสมือนว่าเที่ยง เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ตลอดเวลา แต่การฟังธรรม ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ พิจารณา จะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แล้วก็รู้ความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติ คือ ขณะที่สติสัมปชัญญะไม่ได้เกิด แม้ฟังว่าขณะนี้สิ่งที่ปรากฏ เป็นลักษณะของสภาพธรรม แน่นอน ไม่ใช่อย่างอื่น เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่กำลังปรากฏ ให้ฟังให้เข้าใจ ให้รู้ขึ้น จึงจะสามารถมีสติสัมปชัญญะที่รู้ลักษณะ แม้ว่าจะน้อยมาก แต่ก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นหนทางเดียว เพราะฉะนั้นก็แล้วว่ามีเหตุปัจจัย สติเกิดเมื่อไร ก็รู้อีกว่า ขณะนั้นสติกำลังรู้ และสติก็ดับไปเป็นปกติธรรมดา จนกว่าจะเกิดอีกเมื่อไร จึงจะรู้ว่าขณะนั้นเป็นสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่ขณะที่หลงลืมสติ

    เพราะฉะนั้นมีความอดทนที่จะมั่นคงในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม มิฉะนั้นก็จะมีอัตตา มีโลภะ ที่ทำอย่างอื่น ที่ไม่ใช่เป็นปกติ และสติสัมปชัญญะก็เกิดแล้วทำหน้าที่ของสติสัมปชัญญะ


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 273


    หมายเลข 12087
    27 ส.ค. 2567