ฉันทะ-โลภะ 1


    ผู้ฟัง อย่างที่เคยฟังท่านอาจารย์มา ท่านอาจารย์บอกว่า โลภะเป็นเพียงธรรมลักษณะหนึ่ง ซึ่งต่างจากโทสะ พอฟังแล้วก็รู้สึกไม่เข้าใจ เวลาที่คนอื่นมีโลภะ เทวดาก็มีโลภะ สัตว์ก็มีโลภะ เป็นธรรมลักษณะหนึ่งได้อย่างไร

    สุ. ค่ะ เพราะไม่เข้าใจว่า “โลภะ” คืออะไร ต้องรู้ก่อนว่าคืออะไร โลภะมี หรือเปล่า หรือมีแต่ชื่อ ลักษณะของโลภะเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง โลภะมีลักษณะติดข้อง

    สุ. แล้วใครไม่มี เทวดามีไหมคะ ใครไม่มี

    ผู้ฟัง พระอรหันต์

    ผู้ฟัง ความพอใจเป็นโลภะ ไหมคะ

    สุ. แน่นอนค่ะ ติดข้อง แล้วแต่ว่าเป็นกุศล หรืออกุศล เพราะว่าสภาพธรรมที่คล้ายกันมี ๒ อย่าง ฉันทะ ความพอใจที่จะทำกุศล ไม่ใช่โลภะ และโลภะ ความติดข้อง พอใจ ยึดมั่น ต่างกับลักษณะของฉันทะ

    ผู้ฟัง พอใจเกิดขึ้นในจิตแล้วจะเป็นได้ทั้ง ๒ อย่าง หรือครับ

    สุ. ฉันทเจตสิกเกิดร่วมกับโลภเจตสิกได้ แต่ฉันทะไม่ใช่โลภะ คุณนนท์ชอบอะไรบ้างคะ บอกสักอย่าง

    ผู้ฟัง ความสบาย

    สุ. สบายจากอะไร อยู่ดีๆ ก็สบายไม่ได้ใช่ไหมคะ สบายจากอะไร

    ผู้ฟัง ความโล่งโปร่งสบายของร่างกาย ก็คือร่างกายไม่เจ็บปวด ไม่ทรมาน

    สุ. อยากได้ยา หรืออย่างไรคะ ที่ว่าต้องการความสบาย ต้องการอะไรทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย

    ผู้ฟัง สบายทางร่างกาย ไม่ทราบจะตอบว่าอย่างไร

    สุ. อยากรับประทานอาหารอร่อยไหมคะ ไม่ อยากได้รูปสวยๆ ไหมคะ ไม่ อยากได้ยินเสียงเพราะๆ ไหม ไม่ ไม่อยากได้อะไรเลย สบายอยู่แล้ว หรือคะ หรือไงคะ ก็ไม่ได้ต้องการอะไร แต่ติดข้องในความสบาย แต่จริงๆ แล้ว ขณะนั้นเราจะไม่เห็นความต่างของโลภะกับฉันทะ แต่เวลาที่เราชอบอย่างหนึ่งอย่างใด สิ่งหนึ่งสิ่งใด อย่างบางคนไปห้างสรรพสินค้าทีไร ก็ไปทางฝ่ายเครื่องเขียน ต้องการปากกา แต่กว่าจะได้สักด้ามหนึ่ง ดูแล้วดูอีก สีแล้วสีอีก อย่างนั้นอย่างนี้ นี่คือความติดข้องจริง แต่ก็มีฉันทะที่มีความต้องการในสิ่งที่พอใจนั้นด้วย เพราะฉะนั้นลักษณะของฉันทะกับโลภะก็ต่างกัน

    ผู้ฟัง แสดงว่าความพอใจเป็นต้นเหตุของโลภะด้วย หรือเปล่าครับ

    สุ. สภาพธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศลจะเกิดร่วมกัน แต่สภาพธรรมที่เป็นกุศลจะเกิดร่วมกับอกุศลไม่ได้ ฉันทะเป็นกลาง เกิดกับกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ ใครชอบบูชาพระด้วยดอกไม้อะไร เป็นกุศล แต่มีฉันทะไหม ดอกบัว หรือดอกมะลิ หรือดอกกุหลาบ

    ผู้ฟัง ไม่เคยเกิดขึ้นในใจว่า ต้องบูชาด้วยอะไรครับ

    สุ. ดูเป็นคนที่ไม่ติดข้องใช่ไหมคะ หรือว่าติดข้องโดยไม่รู้

    ผู้ฟัง ก็น่าจะมีสิ่งที่ติดข้อง แต่นึกไม่ออก

    สุ. วันนี้ใส่เสื้อสีเหลือง ต้องการจะใส่ หรือเปล่าคะ ทำไมไม่ใส่สีอื่น

    ผู้ฟัง ตอนที่จะใส่ ก็คิดว่า จะใส่สีอะไรดี

    สุ. ค่ะ นั่นแหละค่ะมีฉันทะ สีอะไรดี แต่มีความติดข้องแล้วที่จะใส่

    ผู้ฟัง ตอนนั้นต้องตัดสินใจ แต่ถามตัวเองว่าชอบสีเหลืองไหม ก็ไม่ได้ชอบสีอะไรเป็นพิเศษ

    สุ. ไม่ต้องถาม ธรรมเป็นสังขารขันธ์ เป็นสังขารธรรมปรุงแต่ง โดยที่ว่าไม่ต้องมีเราไปนั่งคิดว่า เราไม่ละอาย เราต้องเลือก ธรรมทำหน้าที่ของธรรมแต่ละเจตสิก ด้วยเหตุนี้ทั้งหมดจึงเป็นเจตสิกแต่ละประเภท

    ผู้ฟัง แล้วตอนตัดสินใจล่ะครับ

    สุ. ตัดสินใจก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นเจตสิก จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้ง ตัดสินใจด้วยฉันทะ หรือเปล่า ด้วยโทสะ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    สุ. แล้วเป็นเพราะอะไร มีแต่จิต ไม่มีเจตสิกไม่ได้ค่ะ

    ผู้ฟัง เป็นเพราะว่าคิดว่าสีเหลืองเป็นสี ...

    สุ. นั่นแหละค่ะ จิต เจตสิกทั้งนั้น

    ผู้ฟัง นอกจากเรื่องเก่าๆ

    สุ. ทั้งหมดมีสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งต้องรู้ว่า ธรรมใดเป็นรูป ธรรมใดเป็นนาม ไม่ใช่เราทั้งหมด

    ผู้ฟัง แต่วันอื่นก็ไม่ได้เลือกใส่สีเหลือง

    สุ. วันไหนก็เหมือนกัน ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ใช่วันนี้ไม่มีจิต เจตสิก พรุ่งนี้มี ไม่ใช่ ทุกขณะที่มีเป็นจิต เจตสิก เป็นรูป

    ผู้ฟัง อย่างนี้ความพอใจก็ยังไม่ใช่เป็นโลภะ ใช่ไหมครับ ไม่ใช่พอใจลูกค้า ต้องเป็นโลภะ

    สุ. โลภะเป็นความติดข้อง ลักษณะที่ติดข้อง เป็นลักษณะของโลภะ ลักษณะของฉันทะ คือ ความพอใจที่จะกระทำ กุศลก็ได้ อกุศลก็ได้

    ผู้ฟัง ถ้าพอใจแล้วไม่ติดข้องก็มี ใช่ไหมครับ

    สุ. ขณะใดที่โลภะเกิด มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ละครั้งที่โลภะเกิด โลภะจะแจกออกไปตามฉันทะ


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 280


    หมายเลข 12126
    26 ส.ค. 2567