ชีวิตแต่ละขณะ คือเป็นแล้วก็ไป


    ผู้ฟัง ขณะที่มีสติระลึกรู้ว่า เท่านี้เห็น แล้วต่อไปด้วยบัญญัติ ผมเข้าใจว่า ขณะนั้นแยกปรมัตถ์กับบัญญัติ อันนี้เข้าใจถูกไหมครับ

    สุ. ต้องรู้ว่าไม่ใช่เราแยก ขณะนั้นเป็นเรากำลังแยก หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ผมเข้าใจว่า ไม่ใช่ตัวเรา แต่ว่าเป็นกุศล หรืออกุศล ขณะที่ผมถาม อันนี้ก็เป็นจิตชนิดหนึ่งที่เข้าใจว่า เป็นโมหมูลจิต วิจิกิจฉา ไม่ใช่ตัวเรา เข้าใจถูกไหมครับ

    สุ. ค่ะ อยากรู้ชื่อ หรือว่าอย่างไรคะ

    ผู้ฟัง จริงๆ อยากรู้ชื่อ แต่ตอนนั้นผมเข้าใจว่า มันไม่ใช่ตัวเราไปยึดติด

    สุ. เมื่อไม่ใช่ตัวเรา ลักษณะนั้นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง สงสัยครับ

    สุ. สงสัยมีจริง แต่ไม่รู้ว่า เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง

    ผู้ฟัง แต่ขณะที่เห็นแล้ว มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยถึง ๗ ดวง ตอนที่ผัสสะกระทบมีอยู่ตลอดเวลา แต่จะรู้ลักษณะของผัสสะ ตอนนั้นมีสติระลึกรู้ หรือเปล่าครับ

    สุ. ค่ะ สภาพธรรมทุกอย่างเกิดแล้วดับเร็วมาก แล้วสติก็เป็นอนัตตา จะไม่มีการจงใจที่จะรู้ผัสสะ หรือจะรู้อะไร แต่ขณะใดที่สติเกิด สติก็จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมสั้นๆ เล็กน้อย

    เวลานี้ผัสสะกระทบ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง มีครับ

    สุ. แล้วรู้อะไร

    ผู้ฟัง ขณะที่เรียนถามอาจารย์ก็มีผัสสะกระทบ

    สุ. มีโดยการจำ โดยเรื่องราวที่รู้ว่าทุกครั้งที่จิตเกิด ต้องมีผัสสเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ขณะได้ยินเสียง เสียงอาจารย์ที่พูด ขณะที่ได้ยิน ผมเข้าใจว่ามีสติระลึกว่า ไม่ใช่ตัวเรา

    สุ. อย่าเพิ่งเข้าใจว่า มีสติระลึกได้ไหมคะ ขณะที่ฟังในขณะนี้มีสภาพธรรม ฟังให้เข้าใจสิ่งที่ไม่รู้ที่กำลังมีในขณะนี้ให้เข้าใจขึ้น ผัสสะเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต เร็วมาก เพราะฉะนั้นอารมณ์ที่ปรากฏเพราะผัสสะกระทบ ก็ปรากฏสั้นๆ แล้วก็หมดไป นี่คือการฟังให้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ให้มีความเข้าใจที่มั่นคงในความไม่ใช่ตัวตน แต่ไม่ใช่พอฟังแล้ว อยากจะรู้ลักษณะของผัสสะ หรือสงสัยว่า นี่เป็นผัสสะ หรือเปล่า นั่นคือไม่ได้เข้าใจความละเอียด ความลึกซึ้งของธรรมว่า ขณะนี้สภาพธรรมแม้มี ก็เกิดดับเร็วมาก ตราบใดที่สติยังไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด สภาพธรรมนั้นเกิดแล้วดับแล้ว

    เพราะฉะนั้นขณะที่สภาพธรรมปรากฏโดยเกิดแล้วดับแล้ว กับปรากฏเมื่อสติสัมปชัญญะกำลังรู้ลักษณะของสิ่งนั้น นี่คือความต่างกัน

    ฟังให้ค่อยๆ เข้าใจ อย่าเพิ่งไปสรุปว่า ขณะนั้นสติเกิด กำลังมีเสียงเป็นอารมณ์ เพราะว่าได้ฟังมาว่า เสียงเป็นธรรมชนิดหนึ่ง

    ผู้ฟัง อันนั้นผมเข้าใจว่า เป็นความจำมากกว่า ใช่ไหมครับ

    สุ. ค่ะ ฟังให้เข้าใจค่ะ ไม่ต้องไปนึกถึงอะไรเลยทั้งสิ้น แต่ว่าได้ฟังแล้วเข้าใจขึ้น หรือเปล่า แล้วเข้าใจอะไรขึ้น พอที่จะมีความมั่นคงว่า เป็นธรรมที่เป็นอนัตตา ที่จะถึงกาลที่วันหนึ่งจะสละการยึดถือสภาพธรรมนั้นได้ เพราะมีการฟังที่เข้าใจอย่างมั่นคง ไม่หลงผิด

    ผู้ฟัง ธรรมมีทุกขณะครับ

    สุ. และเดี๋ยวนี้ธรรมตั้งแต่ตื่นมา แปรงฟัน ทำกับข้าวนั้นอยู่ไหน

    ผู้ฟัง ไม่เข้าใจครับ

    สุ. นี่ค่ะ ไม่ต้องไปคิดเรื่องสติ เรื่องปฏิบัติ หรือเรื่องอะไรเลย ฟังให้เข้าใจขึ้นว่า ธรรมเกิดดับอย่างเร็วมาก ทุกอย่างที่เกิดดับแล้ว ถ้ารูปก็มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ซึ่งจิตเห็นกับจิตได้ยินที่เหมือนพร้อมกัน ห่างกันเกินกว่า ๑๗ ขณะ

    นี่การจะประมาณให้รู้ความจริงว่า ธรรมเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นธรรมตั้งแต่ตื่น แปรงฟัน ล้างหน้า ทำกับข้าว รับประทานอาหาร ธรรมเหล่านั้นเดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน นี่คือการฟังให้เข้าใจธรรม ไม่ต้องไปหวังอะไรหมดเลย นอกจากเข้าใจขึ้น

    สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก ทั้งนามธรรม และรูปธรรม รูปที่มีสภาวะ เป็นสภาวรูป มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ขณะนี้เหมือนจิตเห็นกับจิตได้ยินพร้อมกัน แยกไม่ได้ว่า ขณะไหนเห็น ใช่ไหมคะ เห็นแล้วก็เห็น แล้วก็มีได้ยิน เพราะฉะนั้นรูปที่มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ระหว่างจิตเห็นกับจิตได้ยิน ให้ทราบว่า ห่างกันเกิน ๑๗ ขณะ

    เพราะฉะนั้นตั้งแต่เช้าตี่นมา ทั้งนามธรรม และรูปธรรมซึ่งเกิด ขณะนี้อยู่ที่ไหน นามธรรมดับไหมคะ

    ผู้ฟัง ดับครับ

    สุ. รูปธรรมดับไหม

    ผู้ฟัง ดับครับ

    สุ. นามธรรมเก่า กลับมาเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ครับ

    สุ. รูปธรรมที่เกิดแล้วดับแล้ว กลับมาเกิดอีกได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ครับ

    สุ. ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ชีวิตแต่ละขณะ คือ ไป มีความเป็นไป หลังปฏิสนธิแล้วต้องเกิดขึ้นไปตามอารมณ์อยู่ตลอดเวลา โดยไม่มีอะไรเหลือเลย เพราะฉะนั้นตั้งแต่เช้า นามธรรมรูปธรรมที่เกิด ตั้งแต่ตื่นนอน แปรงฟัน จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ นามธรรมรูปธรรมเหล่านั้น ขณะนี้อยู่ที่ไหน ดับแล้ว ไม่กลับมาอีกเลย ดับแล้ว ดับเลย

    ผู้ฟัง ขณะที่เข้าใจว่าเกิดดับ รู้ทางมโนทวารแล้วใช่ไหมครับ

    สุ. ยังไม่ต้องไปคิดถึงทวารไหน เข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม ซึ่งมีลักษณะต่างกันจริงๆ และฟังเรื่องธรรม ให้เข้าใจธรรม จนกว่าจะไม่มีเรา

    ถ้าข้ามขั้น คือ อยากแล้ว จะปฏิบัติแล้ว อยากจะรู้นั่นรู้นี่ ประจักษ์นั่นประจักษ์นี่ ซึ่งไม่มีทางจะเป็นไปได้เลย ด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ฟังธรรมแล้วมีความเข้าใจธรรม แม้เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ แต่ก็เป็นการเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะว่าเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ เข้าใจระดับไหน ก็คือระดับนั้น แล้วก็ฟังอีก ต่อไปอีก ธรรมก็มีอยู่ที่จะให้พิสูจน์ ที่จะให้เข้าใจได้ ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ฟังเมื่อไร ก็เป็นธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ทั้งนั้น แต่เวลาที่ไม่ฟังก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรมที่กำลังมีในขณะนี้


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 281


    หมายเลข 12132
    26 ส.ค. 2567