เมื่อเข้าใจแล้วฟังซ้ำ ปัญญาจะรู้ละเอียดขึ้น


    อ.วิชัย สำหรับพื้นฐานพระอภิธรรม ก็เป็นการศึกษาเพื่อเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏ ให้เข้าใจมากขึ้น เพราะเหตุว่าแม้เราศึกษา อย่างเช่นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจว่า โดยสภาพรู้ มีธาตุรู้ ที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ อารมณ์คือสิ่งที่จิต และเจตสิกรู้ ปรากฏทางทวารต่างๆ

    เพราะฉะนั้นแม้ขณะนี้มีปรากฏก็จริง แต่ว่าความเข้าใจของเรามากน้อยแค่ไหน หรือว่าเข้าใจเพียงเรื่องราวที่กำลังศึกษาอยู่ เพราะฉะนั้นแม้จะกล่าวบ่อยๆ เรื่องทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่เมื่อมีปัจจัยที่จะฟัง และพิจารณามากขึ้น ความเข้าใจจากการได้ยินได้ฟังมากขึ้น ก็สั่งสมที่จะให้มีความเข้าใจละเอียดขึ้นในสิ่งที่กำลังปรากฏ อย่างเช่นแม้กล่าวขณะนี้ว่า มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา คือ รู้แจ้งได้ทางตาทวารเดียว ไม่สามารถจะเห็นทางทวารหูได้ หรือสีสันวัณณะต่างๆ ไม่สามารถจะปรากฏทางทวารอื่นๆ ได้ อันนี้เป็นความจริง เพราะเหตุว่าทรงแสดงว่า มีธรรมที่มีจริงๆ และสามารถกระทบได้เพียงจักขุปสาท หรือตา เท่านั้น จะกระทบกับรูปอื่นไม่ได้ ดังนั้นถ้าเข้าใจศึกษาละเอียดขึ้น ก็จะรู้ว่า เมื่อมีสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสภาพหนึ่งที่สามารถรู้ได้ด้วยจิต และเจตสิก แต่การรู้ของจิต และเจตสิกนั้นต้องอาศัยปัจจัยด้วย อย่างเช่นถ้าไม่มีตาเลย ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ทางตา เช่นคนตาบอด ก็ไม่สามารถเห็นได้ เพราะฉะนั้นก็พิจารณาการเห็นว่า มีมาได้อย่างไร ไม่ใช่ว่าจะทำให้เห็นมีได้ โดยที่ไม่มีปัจจัยพร้อมที่จะให้เกิดการเห็น ดังนั้นอรรถของอายตนะ ก็เห็นว่า เมื่อมีการประชุมรวมกัน จึงเป็นอายตนะที่ทำให้เกิดการเห็นขึ้นมาได้ ต้องมีรูปายตนะ คือ สิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นต้องมีจักขายตนะที่ประชุมกัน เป็นปัจจัยให้วิญญาณที่เป็นมนายตนะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ได้ อันนี้คือทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อันนี้ก็เป็นการศึกษาเพื่อเข้าใจความละเอียดของสิ่งที่ปรากฏให้เข้าใจมากขึ้น บางครั้งอาจจะรู้สึกว่า เข้าใจแล้ว แต่เมื่อปัญญาสั่งสมมากขึ้น ก็จะเข้าใจละเอียดมากขึ้น บางครั้งเราจะฟังบ่อยๆ แต่ความเข้าใจเพียงแค่นั้น ถ้าละเลยไป ก็อาจจะผ่าน แต่ถ้าพิจารณาแล้ว ปัญญาเกิด เจริญขึ้น มากขึ้น ความละเอียดที่จะเข้าใจสิ่งที่ปรากฏในขณะนั้นก็จะมากขึ้น

    ดังนั้นถ้าพิจารณาว่า เริ่มต้นจากการศึกษาที่ไม่เคยรู้เลยว่า มีสภาพธรรมจริงๆ แม้กำลังปรากฏอยู่ แต่ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ในขณะนั้น เพราะเหตุว่ายังไม่มีปัจจัยให้ปัญญาเกิด แต่เมื่อมีการฟัง และเริ่มจะเข้าใจ ปัญญาก็เริ่มค่อยๆ รู้ขึ้นในสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้เราศึกษาความละเอียดในส่วนอื่นมากขึ้น อย่างเช่นเจตสิกประเภทต่างๆ เจตสิก ก็หมายถึงสภาพที่เกิดร่วมกับจิต เกิดขึ้นแล้วทำกิจหน้าที่ของตน เกิดขึ้นโดยปราศจากจิตไม่ได้ ดังนั้นการศึกษาเรื่องเจตสิก เช่น เวทนาเจตสิก ความรู้สึก ก็ทำให้เข้าใจได้ว่า ในแต่ละวัน เคยมีความรู้สึกที่เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรืออุเบกขาเวทนา อันนี้ก็จะทำให้เริ่มเข้าใจ แม้เวทนายังไม่ปรากฏ แต่สามารถจะเข้าใจได้ว่า มีจริงๆ คือ ความรู้สึกที่เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ เพราะฉะนั้นที่จะเข้าใจละเอียดขึ้น ก็ต่อเมื่อเวทนานั้นเริ่มปรากฏแก่สติ และปัญญาค่อยๆ รู้ขึ้น แต่ไม่ใช่ไปจดจ้อง แต่สิ่งที่ควรเข้าใจถึง คือ สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ว่า ขณะนี้กำลังมีจริง และกำลังปรากฏอยู่ แต่ปัจจัยที่จะให้สติ หรือปัญญาเกิดรู้สิ่งที่กำลังปรากฏมี หรือเปล่า เพราะฉะนั้นปัจจัยก็เริ่มจากการฟัง แล้วพิจารณา แล้วค่อยเข้าใจมากขึ้น และที่สำคัญที่สุด ต้องเป็นการละความไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้ในขณะนี้


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 281


    หมายเลข 12133
    26 ส.ค. 2567