การจงใจ ขวนขวาย


    อรวรรณ ขอรบกวนให้ท่านอาจารย์อธิบายเรื่องกรรม ให้เข้าใจง่ายๆ ขึ้น คือ เดิมเข้าใจว่า กรรมเป็นการกระทำ แต่พอมาเรียนอภิธรรม ก็เข้าใจว่า เป็นเจตนาเจตสิก ซึ่งหมายถึงการจงใจ ขวนขวาย

    สุ. ก่อนฟังธรรม มีทำ ใช่ไหมคะ ทำโน่นทำนี่ เราทำ แต่ถ้าเรียนธรรมแล้ว ไม่มีเรา อะไรทำ ถ้าไม่มีจิต เจตสิก อะไรจะทำ เพราะฉะนั้นจิต เจตสิกเกิดขึ้นทำกิจการงาน เพราะความไม่รู้ จึงเป็นเราไปหมดเลย จิตเห็น เกิดขึ้น ทำกิจเห็น กลายเป็นเราเห็น เพราะไม่รู้ ขณะได้ยิน จิตเกิดขึ้นทำกิจได้ยิน ไม่ใช่กิจเห็น ก็กลายเป็นเราได้ยิน เพราะความไม่รู้ จึงยึดถือทั้งหมด

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ก็เพื่อให้เข้าใจว่า ที่เราเคยเข้าใจว่า ทำ ทำ ทำ เป็นการกระทำซึ่งต้องเป็นจิต เจตสิก รูป โต๊ะ เก้าอี้ ไปทำอะไรได้บ้าง ไม่มีทางเป็นไปได้เลย

    เพราะฉะนั้นการทำ ไม่ว่าจะอะไรทั้งหมด เพราะจิต และเจตสิกเกิดขึ้นทำกิจของจิต เจตสิกนั้นๆ นี่พอจะเข้าใจ แต่พอพูดถึงเจตนา ความจงใจ ความตั้งใจขวนขวาย ซึ่งเป็นกัมมปัจจัย เป็นตัวกระทำ เจตสิกทั้งหมด มี ๕๒ ประเภท แต่ในบรรดา ๕๒ ประเภท เจตสิกหนึ่งเป็นกรรม คือ เจตนาเจตสิก และความละเอียดของธรรม ก็คือ เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท ทุกขณะ ไม่เว้นเลย เพราะฉะนั้นที่เราเข้าใจว่า เราทำ ถูก หรือผิด หยาบ หรือละเอียด เพราะว่าเจตนาทำกิจของเจตนา แต่เราไปเข้าใจว่า เรากำลังทำ ใช่ไหมคะ แท้ที่จริงแล้วต้องเข้าใจลักษณะของเจตนาเจตสิกเพิ่มขึ้น จึงสามารถรู้ได้ว่า ทำไมเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง แม้ขณะที่เห็นก็มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะที่ได้ยินก็มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เราไปคิดว่า เราเจตนาที่จะทำกุศล และอกุศล เราไม่สามารถจะรู้ละเอียดกว่านั้นว่า แม้เพียงเห็น ก็มีเจตนาเกิดขึ้นทำกิจของเจตนาเจตสิกด้วย

    เพราะฉะนั้นที่เราเข้าใจว่า กุศลเจตนา อกุศลเจตนาไม่ผิด เจตนาเป็นสภาพธรรมที่จงใจ ขวนขวายกระทำกิจของตน คือ กระตุ้นเตือนสหชาตธรรมให้กระทำกิจของธรรมนั้นๆ ที่เกิดร่วมกัน

    นี่คือความละเอียดของธรรม เพราะฉะนั้นจะไม่ขาดเจตนาเจตสิกเลยสักขณะเดียว แต่ที่จะปรากฏ เราก็บอกว่า คนนั้นจิตเป็นกุศล เขามีเจตนาดี เขาตั้งใจจะช่วยเหลือคนอื่น ก็รู้เฉพาะเจตนาที่เป็นกุศล หรือเจตนาที่เป็นอกุศล แต่ละเอียดยิ่งกว่านั้น คือ เจตนาเกิดกับจิตทุกประเภท

    อรวรรณ ถ้าอย่างนั้นหมายความว่า เวลาเห็นเป็นวิบาก เจตนาก็ทำหน้าที่

    สุ. ของเจตนา กระตุ้นเตือนสหชาตธรรม คือ เจตสิกที่เกิดร่วมกันให้ทำกิจนั้นๆ สำเร็จกิจเห็น

    อรวรรณ ซึ่งก็จะไม่ส่งผล เพราะวิบากเป็นผลของกรรม

    สุ. วิบากเป็นผลของกรรม กรรมให้ผลแล้ว

    อรวรรณ เพราะฉะนั้นเจตนาที่จะให้ผล ต้องเกิดกับกุศลกรรม และอกุศลกรรม

    สุ. เกิดกับกุศลกรรม และอกุศลซึ่งเป็นเหตุเท่านั้น ถ้าพูดถึงกัมมปัจจัย เพราะความละเอียดของสภาพธรรม แม้ไม่เป็นกัมมปัจจัยก็เป็นปัจจัยอื่นได้ ละเอียดมาก สิ่งที่เรามองไม่เห็นเลย แต่ว่าเกิดขึ้น และมีความละเอียดมากมาย

    อรวรรณ เพราะฉะนั้นที่เราเคยเข้าใจว่า กรรม คือ การกระทำของเรา

    สุ. เข้าใจเพียงบางส่วน คือ เข้าใจเฉพาะกุศลกรรม และอกุศลกรรม

    อรวรรณ เพราะจริงๆ แล้ว เจตนาก็เกิดกับจิตทุกดวง ไม่ว่าจะเป็นจิตชาติไหนก็แล้วแต่

    สุ. แล้วเจตสิกก็ทำกิจของสภาพของเจตนานั้น ถ้าเป็นเจตนาที่เป็นวิบาก เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ก็มีฐานะเป็นวิบากที่จะกระตุ้นเตือนธรรมที่เป็นวิบากร่วมกันให้กระทำกิจเท่านั้นเอง ไม่สามารถจะเป็นกุศล อกุศลเจตนาเหมือนขณะอื่นได้


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 285


    หมายเลข 12160
    27 ส.ค. 2567