ความสำคัญอยู่ที่การเข้าใจ
สุ. เพราะว่าจากนี้ก็จะถึงอินทรีย์ ๕ แต่ก็ต้องให้รู้อินทรีย์อื่นด้วย ที่จะให้เห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน ทั้งนามธรรม และรูปธรรม แม้เวทนา ผู้ถามเคยรู้ไหมว่าเป็นอินทรีย์แต่ละอินทรีย์ และเวลาที่จะเจริญอินทรีย์ รู้ไหมว่า จะเจริญอินทรีย์อะไร ไม่ได้เจริญจักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ไม่ได้เจริญเวทนินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ แต่เจริญศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาซึ่งเป็นอินทรีย์ แต่ขณะนี้ถ้าไม่รู้ว่าเป็น หรือเปล่า ศรัทธาจะเจริญได้ไหม เพราะฉะนั้นไม่ใช่รู้เพียงชื่อ
สุรีย์ อยากให้ท่านอาจารย์ให้ข้อคิดว่า เหตุใดท่านจึงแยกเป็นอินทรีย์ ๒๒ บ้าง เป็นอินทรีย์ ๕ บ้าง อันนี้มีเหตุผลอะไร
สุ. ไม่ได้แยกค่ะ แต่ละอินทรีย์เป็นอินทรีย์ รวมแล้วเป็น ๒๒ คือการฟังธรรมเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่ฟังแล้วไปคิดต่อเอง ฟังแค่คำเดียว ไปคิดต่อเองมากมายเหลือเลย นั่นไม่ได้ฟังธรรม ถ้าฟังธรรม ก็คือเป็นธรรม แล้วก็เข้าใจสิ่งนั้น เช่น พอพูดถึงอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นอินทรีย์หนึ่งอินทรีย์ใดก็ตาม เป็นอินทรีย์ จักขุเป็นอินทรีย์ พอพูดถึงโสตปสาท หู ก็เป็นอินทรีย์ ไม่ใช่จะไปอยู่ในไหน อะไรๆ แต่ให้เข้าใจความหมาย ความจริงของสภาพธรรมนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในพระปิฎกไหนด้วย แต่ถ้าเป็นความเข้าใจ นี่อินทรีย์หนึ่ง นี่อินทรีย์หนึ่ง นั่นอินทรีย์หนึ่ง รวมแล้วทั้งหมดเป็น ๒๒
เด่นพงศ์ วลาเราถามว่า อินทรีย์ ๕ ก็มีอินทรีย์ ๒ อันจริงๆ คือ จักขุ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ ๕ และอินทรีย์ ๕ อีกอันหนึ่ง ก็สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ นั่นก็ ๕ เหมือนกัน
สุ. และอีก ๕ คืออะไร เมื่อกี้นี้บอกแล้ว สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส อุเบกขา ก็ ๕ อีก ก็ไม่เห็นเป็นไร
เด่นพงศ์ ก็ใช่ครับ แต่เวลาคนใหม่ๆ อย่างกระผม เวลาเอ่ยชื่อ อย่างเมื่อวานนี้ก็งงอีก
สุ. คนใหม่ๆ จำจำนวน แต่คนฟังให้เข้าใจ ไม่คำนึงถึงจำนวนค่ะ อย่างไรก็ครบ เพราะเป็นความจริงอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ก็ต้องเข้าใจด้วย ถ้าศึกษาผิด ก็ไม่ได้อะไร ก็เหมือนวิชาหนึ่ง บวกลบคูณหาร เป็นประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์บ้าง เป็นอะไรบ้าง แต่ธรรมไม่ใช่อย่างนั้น ธรรม คือ ฟังให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง และมีจริงๆ ไม่ได้ฟังอย่างนี้เลย ไปคิดถึงเรื่องโน้น ไปรวมกับเรื่องนั้น พอพูดถึงอันนี้ก็ไปเติมอันนี้อีก และบางทีไม่ได้ไปเติมอะไร คิดเองต่อ อย่างนั้นก็ไม่ชื่อว่า ฟังธรรม
เด่นพงศ์ ผมว่ามันก็ถูกส่วนหนึ่ง อย่างเราเอ่ยถึงศีล ๕ มันก็ต้องนับให้ถูก นับศีล ๘ ก็ต้องนับให้ถูก อิทธิบาท ๔ ก็ต้องนับให้ถูก สัมมัปปธาน ๔ ก็ต้องนับให้ถูก
สุ. แต่เข้าใจไหมคะ ศีล ๕ เข้าใจไหม
เด่นพงศ์ เข้าใจครับ แต่ต้องมีทีหลัง
สุ. ต้องมาก่อน
เด่นพงศ์ แต่ถ้าเราไม่รู้ว่า อิทธิบาทแปลว่าอะไร
สุ. ทีละ ๑ ทีละ ๑ รวมแล้ว ๔ แต่ไม่ได้หมายความว่า ๔ ต้องจำไว้ให้ได้ แล้วไปหามาให้ครบ ไม่ใช่อย่างนั้น การฟังธรรม คือ ฟังสิ่งที่มีให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้ว ทรงแสดงธรรมที่มีนั่นแหละ โดยนัยประการต่างๆ แม้แต่เรื่องของศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แสดงไว้โดยนัยหลากหลาย อินทรีย์ก็เป็น พละก็เป็น อริยทรัพย์ก็เป็น ก็มีอีกหลายๆ อย่าง แล้วเรามัวไปนั่งจำ ๕ บ้าง ๗ บ้าง ๓ บ้าง ๑๐ บ้าง ๒๒ บ้าง เราเข้าใจแต่ละ ๑ หรือเปล่า ถ้าเข้าใจแต่ละ ๑ เราจะไปพบจำนวน ๓ บ้าง ๔ บ้าง อย่างศรัทธา หรืออินทรีย์ บางแห่งแสดง ๔ บางแห่งแสดง ๕ แล้วเราก็มานั่งงง เราต้องมานั่งจำว่า ส่วนนี้ของพระไตรปิฎก จะเป็นนิกายไหนก็ตาม อันนั้นแสดง ๔ แสดง ๕ นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ จุดประสงค์ คือ ให้เข้าใจสิ่งที่มีให้ถูกต้อง
เด่นพงศ์ ถ้าอย่างนั้นฟังอย่างเมื่อเช้า สัมมัปปธาน ๔ ก็มี อิทธิบาท ๔ ก็มี อินทรีย์ ๕ ก็มี อินทรีย์ ๕ ก็มีตั้ง ๒ – ๓ อย่าง ก็ให้ฟังไปก่อนใช่ไหมครับ
สุ. จุดประสงค์ คือ ฟังให้เข้าใจ
เด่นพงศ์ เข้าใจอะไรครับ
สุ. สิ่งที่กำลังฟัง กำลังฟังเรื่องอินทรีย์
เด่นพงศ์ เอ่ยชื่อ “อินทรีย์”
สุ. กำลังฟังเรื่องอินทรีย์ อินทรีย์คืออะไร นี่คือความเข้าใจ ยังไม่ต้องไปนับจำนวนอะไรทั้งสิ้น อย่างตา จักขุปสาท หรือที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เข้าใจความหมายว่า เป็นอินทรีย์ หรือเปล่า ถ้าเข้าใจ หูเป็นอินทรีย์ หรือเปล่า จมูกเป็นอินทรีย์ หรือเปล่า ก็เข้าใจ นับแล้วก็ ๕ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ไม่ต้องไปนับก็ได้ เพราะว่านับขาดนับเกินอย่างไร ก็ไม่เหมือนกับเข้าใจ ถ้าเข้าใจแล้ว ก็ต้องตรงตัว ถ้าจุดประสงค์คือเรียนเพื่อเข้าใจ ก็สบายมาก อย่างไรๆ ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ๕ ก็คือ ๕
เวทนา ๓ ได้ไหมคะ หรือว่าต้อง ๕
เด่นพงศ์ แต่มันอดคิดไม่ได้ มันมีชื่อบอกอยู่แต่ละแห่ง
สุ. แต่เข้าใจ หรือเปล่า สำคัญที่เข้าใจค่ะ
ที่มา ...