สัมมัปปธาน


    อ.อรรณพ การสนทนาธรรมขณะนี้ แต่ละท่านมีความเข้าใจขึ้น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา คือ เจตสิก ๕ อย่างนี้ มีเกิด ถ้าขณะนั้นมีปัญญาขั้นการเข้าใจ จะเป็นอินทรีย์ หรือเป็นฝักฝ่ายของอินทรีย์ ๕ อย่างไร

    สุ. เข้าใจชื่อ หรือเข้าใจลักษณะที่กำลังปรากฏ

    อ.อรรณพ ถ้าเข้าใจชื่อละครับ

    สุ. ถ้าเข้าใจชื่อ และตัวจริงอยู่ที่ไหน

    อ.อรรณพ เข้าใจสภาพธรรม แต่ยังไม่รู้ตรงลักษณะสภาพธรรม

    สุ. ก็จะนำไปสู่ปัญญาขั้นต่อๆ ไป เพราะว่าถ้าศึกษาโดยละเอียด จะเห็นได้ว่า แม้แต่คำว่า “สัมมัปปธาน” ซึ่งเป็นคำที่ใช้สำหรับวิริยเจตสิก เวลาที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าทำกิจ ๔ กิจ ทีละกิจ จะพร้อมเมื่อถึงโลกุตตรจิต แต่แม้กระนั้นข้อความในพระไตรปิฎกก็มีว่า แม้ขณะจิตที่คิด ที่จะเว้นทุจริต ขณะนั้นก็เป็นสัมมัปปธาน

    คือ นี่เป็นเรื่องของภาษา ภาษาที่ใช้ทั่วๆ ไปในถิ่นหนึ่ง คือ ในครั้งโน้น แล้วภาษาไทยของเราก็ใช้กันทั่วๆ ไป ในกาลนี้ เพราะฉะนั้นเวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ก็ใช้ภาษาที่ใช้ทั่วไปด้วย และใช้ภาษาซึ่งเป็นคำที่เขาเข้าใจอยู่แล้ว ไม่ใช่หมายความว่า ต้องไปคิดคำใหม่มาให้เขาไม่รู้เรื่อง อย่างภาษาโน้นใช้คำว่า “จักษุ” ก็ใช้คำว่า “จักษุวิญญาณ” วิญญาณก็ใช้อยู่ จักษุก็ใช้อยู่ แต่หมายความถึงสภาพธรรม แต่ไม่ใช่ไปประดิษฐ์คำต่างหากขึ้นมาอีก

    เพราะฉะนั้นแม้ความเพียร หรือสัมมัปปธาน ซึ่งเป็นไปเพื่อจะละอกุศลที่เกิดแล้ว หรือที่จะไม่ให้เกิด หรือว่าให้กุศลที่ยังไม่เกิด เกิด และให้กุศลที่เกิดแล้วเจริญขึ้น แม้เพียงเริ่มที่จะคิดตั้งใจที่จะละอกุศล ขณะนั้นภาษาบาลีทั่วๆ ไป ก็ใช้คำว่า “สัมมัปปธาน” ด้วย

    เพราะฉะนั้นก็มีความหลากหลาย ตั้งแต่ขั้นต่ำสุด เล็กน้อยที่สุด จนกระทั่งสูงที่สุดได้

    อ.อรรณพ ปัญญาก็เช่นเดียวกัน ใช่ไหมครับ สุตตมยปัญญา กับจินตามยปัญญา อันนี้ก็เป็นปัญญินทรีย์ในตอนเริ่มต้นด้วยใช่ไหมครับ

    สุ. เป็นเรื่องของภาษา เราจะรู้ได้อย่างไร เพราะว่าถ้าต่อไปศึกษาละเอียดขึ้น ก็จะรู้ว่า แม้แต่ "พละ" ที่ใดที่เป็นสภาพธรรมที่เป็นพละได้ เกิดกับจิตใด ในที่นั้นใช้คำว่า พละ แต่ความลึกซึ้ง อย่างจักขุวิญญาณ ทุกคนเห็น มีเห็น ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วเมื่อไรเป็นพละ จิตซึ่งเกิดต่อ แม้ขณะนี้ก็เป็นกุศล ก็มี และขณะนั้นก็มีวิริยะด้วย แล้วก็มีสภาพธรรมที่เป็นวิริยะ คือ ศรัทธาวิริยะ แต่ปกติธรรมดาของกุศลทั้งหลาย ก็ต้องมีศรัทธา และมีวิริยะ มีสติ มีสมาธิ และเมื่อไรเป็นปัญญา ถึงแม้ว่าเป็นกุศล แต่เป็นกุศลที่หลากหลาย แม้แต่ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่ใช่ว่า มีปัญญาเกิดร่วมด้วยทุกขณะจิต แล้วแต่ปัจจัยว่า ขณะนั้นแม้แต่กุศลซึ่งไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี และกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาก็มี

    เพราะฉะนั้นความที่จะเป็นพละ หรือไม่เป็นพละ ก็แสดงให้เห็นว่า ในขณะไหน ซึ่งเกิดสืบต่อกัน โดยที่ในขณะนี้ ขั้นต้นอย่างนี้ ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย แต่เวลาที่ปัญญาเจริญขึ้น ก็จะมีเจตสิกซึ่งเกิดกับจิต ซึ่งขณะนั้นต่างกับขณะนี้ เพราะฉะนั้นใช้คำว่า “วิริยะ” หรือ “สัมมัปปธาน” หรือ “พละ” หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่เป็นการหลากหลายที่จะแสดงให้เข้าใจว่า เจตสิกทั้งหมดเปลี่ยนลักษณะของเจตสิกแต่ละประเภทไม่ได้ แต่ว่าความหลากหลาย คือ เกิดเมื่อไร ขณะไหน ประกอบด้วยเจตสิกอะไร และมีอารมณ์อะไร ก็ทำให้ต่างๆ กันไป

    แต่ทั้งหมดไม่ใช่ชื่อ เป็นสภาพธรรมที่เป็นจริง จึงทรงบัญญัติคำ แสดงให้เห็นความหลากหลาย หรือความต่างในขณะนั้น


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 286


    หมายเลข 12166
    26 ส.ค. 2567