สังขารนิมิต
อ.กุลวิไล เมื่อกี้ท่านอาจารย์กล่าวถึงความหลากหลายของเจตสิกตามอารมณ์ ซึ่งหมายความถึง การอบรมเจริญปัญญา ก็ต้องเริ่มจากการฟังแน่นอน ท่านอาจารย์ได้ยกวิริยเจตสิก แน่นอนขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย จากการศึกษาธรรม กุศลก็มีทั้งที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา และประกอบด้วยปัญญาได้ แม้ขณะที่ฟังขณะนี้เอง แม้จะเป็นการอบรมเจริญอินทรีย์ แต่ก็เป็นระดับขั้นแรก มีทั้งการฟังเรื่องราวของสภาพธรรมที่มีจริง และมีปัจจัยให้รู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริงด้วย ซึ่งเจตสิกที่ท่านอาจารย์ว่าหลากหลายตามอารมณ์ ก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีความเข้าใจอย่างไร หรือผู้นั้นฟังแล้วไตร่ตรองเข้าใจเพียงใด สภาพของเจตสิกก็เป็นอินทรีย์ เป็นพละ ก็คือสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกนั่นเอง แต่เจตสิกนั้นมีธรรมใดเป็นอารมณ์ ก็ขึ้นอยู่กับว่า มีเรื่องราวของสภาพธรรมเป็นอารมณ์ หรือมีลักษณะของสภาพธรรมเป็นอารมณ์ ซึ่งแล้วแต่การเจริญขึ้นของปัญญา และสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น
ท่านอาจารย์ ขอยกตัวอย่างเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกประเภท แล้วจะใช้คำว่า เป็นสมาธิพละเมื่อไร ถ้าปัญญาไม่ได้เจริญจนกระทั่งรู้ลักษณะของสภาพธรรมจากอินทรีย์ ๕ เป็นพละ ๕ ไม่ได้ แต่เมื่อเป็นพละ ๕ แล้ว และกำลังเป็นพละ ลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏกับปัญญาที่เกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว ไม่มีใครสามารถจะกั้นได้ แม้ลักษณะของสมาธิที่ไม่ได้เกิดกับปัญญาในขณะนั้น ท่านกล่าวว่าเป็นสมาธิพละ
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เราจะไปรู้ละเอียดถึงอย่างนั้น หรือเปล่าว่า แม้แต่คำนี้ หมายความว่าเมื่อไร ถ้าไม่มีความรอบคอบ เราก็กล่าวว่า เอกัคคตาเจตสิกเป็นสมาธิพละทั้งหมด เพราะกล่าวที่นี้ว่าเป็นสมาธิพละ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด ก็จะรู้ความหลากหลาย ขณะนี้เอกัคคตาเจตสิก แม้จะเกิดดับสลับทั้งกุศลจิต และอกุศลจิต จะกล่าวว่าเป็นพละได้ไหม เมื่อไร นี่ก็เป็นเรื่องของความละเอียด
เพราะฉะนั้นธรรม จากที่ไม่รู้เลย สิ่งที่ปรากฏก็ไม่เคยเข้าใจ เหมือนคนตาบอด อยู่ในความมืดด้วย และอยู่ในเหวลึกด้วย เพียงฟังธรรม เห็นไหมคะว่า อวิชชามากแค่ไหน สภาพธรรมกำลังปรากฏจริงๆ สีสันวัณณะกำลังปรากฏ ก็ไม่รู้ว่าเกิดดับ เสียง หรือสภาพธรรมใดๆ ทั้งหมด เร็วมาก จนกระทั่งใช้คำว่า “สังขารนิมิต” หมายถึงสิ่งที่เหลือ ที่ปรากฏ เกิดดับสืบต่อ เหมือนสิ่งนั้นยังมีอยู่จริงทั้งหมด เป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ แต่ตามความเป็นจริง ยังไม่ได้เข้าใจถึงอรรถของคำว่า สังขารนิมิต ว่า แท้ที่จริงแล้วอยู่ในโลกของนิมิต เพราะว่าสภาพธรรมเกิดดับ เร็ว ถ้าเข้าใจอย่างนี้ เมื่อไร จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น ถึงสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งแม้เกิดดับสืบต่อ ก็มีจริงๆ ให้เข้าใจถูกได้ ให้ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า จากการไม่รู้เลย ค่อยๆ ฟัง มีความเข้าใจขึ้น แต่จากระดับของความเข้าใจ จะให้เป็นระดับของการประจักษ์แจ้ง เป็นไปไม่ได้เลย คนละระดับ แม้ว่าเจตสิกจะเกิดกับกุศลจิต เหมือนกัน แต่ความต่างของกำลังของเจตสิกที่เกิดก็ต่างกัน เพราะว่ากุศลจิตต้องมีกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย ต้องมีศรัทธา ต้องมีอโลภะ อโทสะ โสภณเจตสิกทั้งหมดเกิด แต่ในขั้นฟัง กับในขั้นที่สติสัมปชัญญะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ในลักษณะที่ไม่ใช่เป็นคำที่คิด หรือท่องว่า เห็นเป็นนาม สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูป ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ขณะนี้ขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏ จากที่ไม่เคยเข้าใจเลย ก็รู้ว่า เป็นเพียงธาตุ หรือสิ่งหนึ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ เมื่อไรจะถึงอย่างนี้ ก็ลองดู จากเป็นเราอยู่ตลอดเวลา ไม่มีสักขณะหนึ่งที่ค่อยๆ เข้าใจ ไม่ใช่ให้ไปทำอะไรเลย แต่ฟังแล้วฟังอีกจนกระทั่งเริ่มเข้าใจว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ถ้ามิฉะนั้นแล้ว จะสละความเป็นเรา ความผูกพันในสิ่งที่ปรากฏเป็นคนที่รัก เป็นบุตร เป็นหลาน เป็นเพื่อนสนิทได้อย่างไร เพราะว่ายังไม่รู้ธรรมว่า ไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่า “ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา” ก็ไม่ใช่เพียงกล่าว แต่ธรรมไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่ตัวตน ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็ฟังไปเรื่อยๆ และเจตสิกทั้งหลายที่เป็นฝ่ายโสภณ ก็ค่อยๆ ปรุงแต่งเพิ่มกำลังขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะกล่าวว่า ขณะไหนเป็นพละ ขณะไหนไม่ใช่พละ ก็แล้วแต่ว่า ขณะนั้นมีสภาพธรรมใดเกิดดับสลับกันแค่ไหน
ที่มา ...