มโนทวารวิถีจิต แม้มีรูปเป็นอารมณ์ ก็ไม่เห็น


    ประทีป ในขณะที่นอนหลับ ขณะนั้นไม่เห็นแน่นอน ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่ได้กระทบสัมผัส แต่คิดนึกครับ

    สุ. หมายความว่าอะไร

    ประทีป กำลังจะเรียนถามว่า ความคิดนึกในความฝันกับในขณะนี้เอง เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วก็คิดนึกว่า เป็นท่านอาจารย์สุจินต์ กำลังสนทนากับท่านอาจารย์สุจินต์ มีความต่างกันไหมครับ

    สุ. รถคุณประทีป สีอะไรคะ

    ประทีป รถสีน้ำตาลครับ

    สุ. ปรากฏเดี๋ยวนี้ หรือเปล่า

    ประทีป ไม่ปรากฏ แต่ขณะนี้คิดได้ คิดถึงได้ แต่ไม่ปรากฏ

    สุ. ถามว่า ขณะนี้รถของคุณประทีปปรากฏ หรือเปล่า

    ประทีป ไม่ปรากฏ

    สุ. แล้วทำไมบอกว่า รถสีน้ำตาล

    ประทีป พราะจำแล้วก็คิดถึงได้ครับ

    สุ. เพราะฉะนั้นคำถามว่าอย่างไรคะ

    ประทีป ก็ถามว่า ในขณะที่นอนหลับแล้วไม่หลับสนิท ไม่เป็นภวังคจิต ก็ฝันเป็นเรื่องเป็นราว

    สุ. ขณะนี้ไม่ได้ฝัน คุณประทีปก็ยังรู้ว่า รถคุณประทีปสีน้ำตาล จำได้ โดยที่ไม่ฝันเลย และรถก็ไม่ได้อยู่ตรงนี้ด้วย เพราะฉะนั้นถึงแม้ไม่มีอะไรปรากฏ จำไว้หมด ก็คิดถึงสิ่งที่จำไว้นั่นเอง เพราะว่าทางที่จะรู้อารมณ์มี ๖ ทาง ไม่เกินกว่านี้เลย ทางตาเห็น จะไม่ให้สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏไม่ได้ ขณะที่บอกว่าเห็น ต้องมีสิ่งที่ปรากฏ ขณะที่ได้ยินเสียง จะไม่มีเสียงไม่ได้ ต้องมีเสียง และมีจิตได้ยินเกิดขึ้นได้ยินเสียง ขณะที่กลิ่นปรากฏต้องมีกลิ่น และจิตก็รู้กลิ่น ขณะที่รสปรากฏ จิตเกิดขึ้นลิ้มรส ขณะที่กำลังกระทบสัมผัสสิ่งที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หรือตึงไหว สิ่งนั้นก็มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แม้สิ่งนั้นๆ ดับไปแล้ว ก็ยังจำ และคิดได้ แม้สิ่งนั้นไม่มีฉันใด จิตคิดนึก ไม่ว่าจะเป็นเมื่อไร อย่างไร ก็เป็นจิตที่คิดนึก ไม่ใช่จิตเห็น เพราะฉะนั้นฝันเห็น คือ คิด จำ แต่ไม่ใช่เห็น แต่ไม่ใช่ได้ยิน

    ประทีป จากการฟังมา แล้วอาจารย์จะไม่ได้กล่าวขณะนี้ แต่ความจำ และยังนึกถึงเรื่องที่อาจารย์เคยพูดไว้ ความต่างกันของทางปัญจทวาร และมโนทวาร ก็คงเป็นไปในลักษณะนี้

    สุ. ค่ะ การฟังก็ตรง เวลารู้ก็ต้องตรง เพราะความจริงเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น

    ประทีป ความคิดที่สืบต่อจากทางจักขุทวาร ท่านอาจารย์ก็เคยกล่าวไว้ว่า จักขุทวารก็คือ

    สุ. จักขุทวารวิถีจิต หมายความถึงจิตที่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดดับสืบต่อรู้อารมณ์ทางทวารนั้น ขณะที่อารมณ์นั้นยังไม่ดับ จึงใช้คำว่า “วิถีจิต” แล้วแต่ว่าจะเป็นทวารไหน ถ้าเป็นทางจักขุทวาร จิตทั้งหมดที่อาศัยจักขุรู้รูปที่ยังไม่ดับ เป็นจักขุทวารวิถีจิต จนกว่ารูปนั้นดับเมื่อไร ภวังคจิตเกิดคั่น ภวังค์ไม่ใช่วิถีจิต ไม่ได้อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดรู้รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    เพราะฉะนั้นวิถีจิตหมายความถึงจิตที่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา ก็เป็นจักขุทวารวิถีจิต ทางหูก็เป็นโสตทวารวิถีจิต จิตเกิดดับสืบต่อ รู้รูปที่กระทบทวารนั้นแล้วยังไม่ดับ จิตที่รู้รูปที่ยังไม่ดับทางทวารนั้นทั้งหมด เป็นวิถีจิตทางทวารนั้น

    เพราะฉะนั้นมโนทวารวิถีจิตไม่ใช่จักขุทวารวิถีจิต ไม่ใช่โสตทวารวิถีจิต ไม่ใช่ฆานทวารวิถีจิต ไม่ใช่ชิวหาทวารวิถีจิต ไม่ใช่กายทวารวิถีจิต แล้วมโนทวารวิถีจิต แม้มีรูปเป็นอารมณ์ ก็ไม่ใช่จักขุทวารวิถีจิต

    ประทีป แยกกันตรงนี้เท่านั้นเองนะครับ ถ้าอย่างนั้นผู้ที่จะรู้จักลักษณะของสภาพธรรมทีละขณะ อย่างที่ท่านอาจารย์ได้เคยอธิบายไว้ ถ้าความเข้าใจในขั้นการฟัง ยังไม่เข้าใจอย่างนี้ ลักษณะของสภาพธรรมไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม หรือนามธรรม ก็คงไม่ปรากฏ

    สุ. ไม่ใช่ให้รู้อย่างนี้ทีละขณะ สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ตามความเป็นจริงเกิดดับเร็วมาก เกิดแล้วดับแล้ว เกิดแล้วดับแล้ว ปรากฏเหมือนนิมิตให้รู้ว่า มีสิ่งที่ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมทั้งหมดที่เกิดดับสืบต่อเร็ว เป็นสังขารนิมิต ไม่ใช่เพียงขณะจิตเดียว เพราะฉะนั้นขณะนี้ก็เหมือนถูกหลอก เพราะความไม่รู้ ทำให้เห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง แต่ความจริงเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดดับอยู่ตลอดเวลา

    ประทีป ถ้าอย่างนั้นความเข้าใจของผู้ฟังธรรม การที่จะรู้ทีละขณะจิตนั้นเป็นไปไม่ได้

    สุ. รู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริงแต่ละทาง

    ประทีป ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดแต่ละทาง เขาไม่ได้เกิดครั้งเดียวแล้วดับ ดับไปเลยๆ แต่เขาก็เกิดซ้ำๆ

    สุ. ไม่ใช่อันเก่ากลับมาเกิด มีปัจจัยที่สภาพธรรมใดจะเกิด สภาพธรรมนั้นเกิดแล้วดับไป

    ประทีป เช่นการเห็น ก็ไม่ใช่ว่ามีการเห็นครั้งเดียว แล้วจบ ก็ต้องมีสภาพธรรมใหม่เกิดขึ้นแล้วก็เห็นๆ

    สุ. ตราบใดที่มีเหตุปัจจัยให้สภาพธรรมนั้นปรากฏ

    ประทีป เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ไม่ใช่ขณะเดียว แต่เป็นหลายๆ ขณะ ซึ่งปรากฏให้รู้ได้

    สุ. ขณะนี้รู้อะไรบ้าง ถึงจะต้องไปถึงขณะเดียวๆ นี่ก็เกินความคิดที่เป็นไปได้แล้ว คิดเรื่องอะไร ในเมื่อสิ่งนี้กำลังปรากฏ

    ประทีป กระผมกำลังทำความเข้าใจว่า สภาพธรรมเกิดซ้ำๆ กันมาก

    สุ. เข้าใจว่า ทั้งหมดที่ได้ฟัง เพื่อให้เข้าถึงความเป็นอนัตตา ให้คลายการที่เคยยึดมั่นโดยความไม่รู้ขั้นฟังเท่านั้นเอง แต่ให้รู้จริงๆ ว่า เป็นอนัตตาเพราะเหตุอย่างนี้ๆ ๆ พอเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทีละขณะ สืบต่ออย่างนี้ๆ

    ประทีป เพราะฉะนั้นชีวิตปกติธรรมดาของกระผมก็จะมีแต่ลักษณะของสภาพธรรมไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม หรือนามธรรม ก็สลับกับความนึกคิดที่เป็นเรื่องราว แล้วก็เป็นคิดทีละคำๆ ก็สลับไปสลับมา แต่ไม่รู้ครับ

    สุ. และของคนอื่นเหมือนกันไหมคะ

    ประทีป ก็คงต้องเหมือนกันครับ

    สุ. เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ไหมคะ

    ประทีป ไม่ได้ครับผม


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 287


    หมายเลข 12173
    27 ส.ค. 2567