อินทรีย์ ๑๑ ประเภท


    เรากำลังพูดกันเรื่องอินทรีย์ เพราะฉะนั้นเราพูดเรื่องไหน ก็จะเข้าใจเรื่องนั้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จะไม่ปะปนกับทางทวาร หรือวัตถุ หรืออะไรเลย เพราะฉะนั้นเมื่อกี้นี้ คุณวิชัยกล่าวถึงอินทรีย์ ๖ ก็เพื่อที่จะให้เราเข้าใจความหมายของอินทรีย์ ที่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จักขุปสาทเป็นรูป โสตปสาทเป็นรูป ฆานปสาทเป็นรูป ชิวหาปสาทเป็นรูป กายปสาทเป็นรูป ๕ รูปนี้เป็นรูปที่เป็นอินทรีย์ ที่ตัวของเราตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า มีรูปที่เป็นอินทรีย์ แค่นี้ก่อน ยังไม่กล่าวไปถึงรูปอื่น รูปอื่นก็มี แต่ยังไม่กล่าวถึง จะกล่าวถึงเพียงแค่นี้ก่อน คือ จักขุปสาทเป็นอินทรีย์ ถ้าไม่มีจักขุปสาท ก็ไม่สามารถมีสีสันวัณณะปรากฏได้ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร จะมั่งมีเงินทองมหาศาล จะมั่งมีความรู้ทางโลกมากมาย แต่ถ้าไม่มีจักขุปสาทเป็นอินทรีย์ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ปรากฏไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้ อินทรีย์ ๑ ที่กาย จึงเป็นจักขุปสาท เป็นอินทรีย์ เป็นใหญ่จริงๆ มิฉะนั้นโลกสีสันวัณณะปรากฏไม่ได้เลย เป็นรูปธรรม สำหรับทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็โดยนัยเดียวกัน แต่ถ้าเราพิจารณาแล้ว เราก็จะเห็นความเป็นอินทรีย์นั้นๆ เช่น เสียง เสียงนี้มีแน่ เป็นรูป เกิดจากการกระทบกันของแข็งพอเสียงเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่มีโสตปสาท คนที่ไม่มีโสตปสาท อย่างไรๆ ก็ให้เสียงปรากฏไม่ได้ จะรู้ว่าเสียงมีลักษณะอย่างไร เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นต้องอาศัยโสตปสาทเป็นรูปที่กลางหู ที่สามารถกระทบกับเสียง ไม่ใช่อยู่ตรงอื่น ไม่ใช่อยู่ทั่วตัว แต่ว่าเป็นรูปที่สามารถกระทบเสียง

    เพราะฉะนั้นโสตปสาทจึงเป็นรูปหนึ่งที่เป็นอินทรีย์ เป็น ๒ แล้วนะคะ เสียงนี่น่าสงสัยไหมคะ รูปร่างอะไรก็ไม่มี ก็ยังปรากฏได้ คิดดูถึงความอัศจรรย์ของธรรมแต่ละอย่างๆ สีสันวัณณะมี แต่ว่าถ้าไม่มีจักขุปสาท สีสันวัณณะปรากฏไม่ได้เลย แม้มี คนตาบอดก็จะสงสัยอยู่ตลอดเวลาว่า แสงสว่างเป็นอย่างไร สีเป็นอย่างไร รถยนต์เป็นอย่างไร สิ่งที่เขากล่าวถึงเป็นอย่างไร เพราะว่ามองไม่เห็นเลย สำหรับเสียงก็เช่นเดียวกัน คนที่ไม่มีโสตปสาท ก็สงสัย จะเป็นเสียงดนตรี เสียงเพลง เสียงรถไฟ เสียงอะไรทั้งหมด ก็ไม่มีการปรากฏเลย โลกเงียบ สำหรับคนที่ไม่มีโสตปสาท เสียงใดๆ ก็ปรากฏไม่ได้เลย

    นี่คือการที่ไม่ใช่ตัวตน และรูปใดจะเป็นอินทรีย์ได้ ก็ต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ พอถึงกลิ่น ดอกไม้มีกลิ่น มองไม่เห็นกลิ่น แต่เมื่อใดที่กลิ่นปรากฏ เพราะกระทบกับฆานปสาท ถ้ารูปนี้ไม่มี กลิ่นใดๆ ก็ปรากฏไม่ได้เลย กลิ่นอาหารก็ปรากฏไม่ได้ กลิ่นอะไรทั้งหมดปรากฏไม่ได้เลย แต่เมื่อมีรูปนี้เป็นอินทรีย์ สามารถกระทบกับกลิ่น จึงมีจิตที่สามารถรู้กลิ่นนั้นเกิดขึ้น คือ กำลังได้กลิ่นนั้น

    นี่คือความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ซึ่งปัญญาที่ค่อยๆ อบรม จะค่อยๆ เข้าใจ เห็นถูก จนกระทั่งแทงตลอดความจริงของสภาพธรรมซึ่งเป็นอย่างนี้ได้

    นี่สำหรับกลิ่น พอถึงรส อาหารที่ตั้งอยู่บนโต๊ะ รู้ไหมว่าเค็มแค่ไหน หรือหวานแค่ไหน ไม่มีทางจะรู้ได้เลย ผลไม้ บางคนก็ยังต้องให้คนอื่นชิมก่อนว่า เปรี้ยวไหม ถ้าเปรี้ยว จะได้ไม่รับประทาน ก็แสดงว่า ไม่สามารถจะรู้โดยสีสันวัณณะเลย แม้ว่าจะเป็นผลไม้ชนิดเดียวกัน แต่ต้องกระทบกับชิวหาปสาทที่อยู่กลางลิ้น จิตเกิดขึ้นลิ้มรส จึงได้ปรากฏรสนั้นได้ มิฉะนั้นรสนั้นก็ไม่ปรากฏ ไม่ว่ารสอะไรทั้งสิ้น ปรากฏเมื่อไร ให้ทราบว่าขณะนั้นเพราะจิตกำลังลิ้มรส โดยมีชิวหาปสาทเป็นอินทรีย์ เป็นรูปที่เป็นใหญ่ในการลิ้มรส

    สำหรับที่กายที่เป็นรูป คือ กายปสาท ซึมซาบอยู่ทั่วตัว ในขณะที่ปรากฏลักษณะที่อ่อน หรือแข็ง เย็น หรือร้อน ตึง หรือไหว ขณะนี้ทุกคนมีมหาภูตรูปที่ตัว ปรากฏลักษณะที่อ่อน หรือแข็ง เย็น หรือร้อน ตึง หรือไหว หรือเปล่า

    กาลใดที่จิตเกิดขึ้น รู้รูปที่สามารถกระทบกายปสาท คือ ลักษณะที่อ่อน หรือแข็ง เย็น หรือร้อนกระทบ จิตจึงเกิดขึ้นรู้ลักษณะที่แข็ง หรืออ่อน หรือเย็น หรือร้อน หรือตึง หรือไหว ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นที่กายปสาท จิตนั้นจะไม่รู้ลักษณะที่เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว ซึ่งความจริงก็มีอยู่ทั้งภายในภายนอก ที่ตัวก็มี แต่ว่าต้องมีกายปสาท ถ้าไม่มีกายปสาทที่เป็นรูปที่เป็นอินทรีย์ เป็นใหญ่ในการสามารถกระทบกับรูปที่เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว จิตจะไม่เกิดขึ้นรู้ลักษณะที่เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว

    เพราะฉะนั้นเป็นความละเอียดที่จะต้องรู้ว่า ขณะใดที่เป็นลักษณะที่เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหวปรากฏ จิตเป็นสภาพที่กำลังรู้ลักษณะนั้น เพราะอาศัยกายปสาทซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วตัว

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นความเป็นอินทรีย์ของรูป ๕ รูป คือ จักขุปสาทรูปเป็นอินทรีย์ โสตปสาทรูปเป็นอินทรีย์ ฆานปสาทรูปเป็นอินทรีย์ ชิวหาปสาทรูปเป็นอินทรีย์ กายปสาทรูปเป็นอินทรีย์

    สงสัยไหมคะว่าจะต้องไปท่อง หรือไปจำ ถ้ามีความเข้าใจก็จำได้เลย และคุณวิชัยก็กล่าวถึงอินทรีย์ ๖ ยังไม่ได้กล่าวถึงอินทรีย์ ๒๒ ทั้งหมด เพียงแต่กล่าวถึงอินทรีย์ ๖ ว่า อินทรีย์ที่ ๖ ก็คือ มนินทรีย์ ได้แก่จิต ซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เจตสิก แต่เป็นจิต เป็นธาตุที่เกิดขึ้นแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด รู้แจ้งในลักษณะของสิ่งนั้น เช่น ขณะนี้จิตเห็น รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ จะเป็นอื่นไม่ได้เลย แต่กำลังรู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เสียงปรากฏ จิตเป็นลักษณะที่รู้แจ้งในเสียงที่ปรากฏ ไม่ใช่เสียงอื่น และจะเปลี่ยนเสียงนั้นให้เป็นอื่นก็ไม่ได้ เมื่อเสียงนั้นเป็นอย่างนั้น สภาพที่รู้แจ้งเสียงนั้น คือ จิต

    เพราะฉะนั้นจิตทุกประเภทเป็นมนินทรีย์ ไม่เว้นเลย จะนอนหลับสนิท มีจิต ก็เป็นมนินทรีย์ จะเห็น เพียงแค่เห็น แต่ว่าเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ก็เป็นมนินทรีย์

    ด้วยเหตุนี้วันนี้ก็หมดสงสัยในเรื่องอินทรีย์ ๖ ต่ออีก ๕ ก็ได้ คือ เวทนินทรีย์ เกี่ยวข้องกัน และไม่ยากที่จะเข้าใจว่า ขณะใดก็ตามที่จิตเกิดขึ้น จะต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย และทุกเวทนาเป็นอินทรีย์หมด รวมอีก ๕ เวทนา จึงเป็น ๑๑ อินทรีย์

    ก็ไม่ต้องไปคิดที่จะไปจำอินทรีย์ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง แต่การที่จะให้เข้าใจจนกระทั่งไม่ต้องท่อง ก็คือสามารถจะรู้ความเป็นใหญ่ของอินทรีย์นั้นๆ


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 290


    หมายเลข 12190
    26 ส.ค. 2567