เข้าใจสิ่งที่มี


    ผู้ฟัง ขันธ์ ๕ ที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด หรือหมายถึงสภาพที่เป็นตัวเราอยู่ทุกวันนี้ แต่จริงๆ แล้ว สภาพของขันธ์เป็นอย่างไร เพราะว่าเรายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ทีนี้ท่านอาจารย์ก็ได้กล่าวด้วยเหมือนกับเป็นพยัญชนะ แต่จริงๆ แล้วก็ยังไม่เข้าใจความลึกซึ้ง

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นถ้าไม่เข้าใจธรรม จะเข้าใจคำว่า “ขันธ์” ไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีในขณะนี้ มี แน่นอน มีใครทำให้เกิดขึ้น หรือเปล่า ไม่มี ลักษณะของสิ่งที่มี และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา และมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ก็คือธรรมแต่ละชนิด

    เพราะฉะนั้นที่เคยไม่รู้ และก็ยึดถือว่ามีเรา ก็ทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ รู้ว่าเป็นธรรม นี่ขั้นฟัง แต่ว่ายังไม่สามารถสละความเป็นเรา ซึ่งไม่เคยคิด หรือแม้แต่จะพิจารณาว่า จริงๆ แล้วเราอยู่ที่ไหน และอะไรเป็นเรา แต่ก็เชื่อ และยึดถือมาตลอดว่า เป็นเรา เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่เข้าใจธรรม เราจะเข้าใจขันธ์ไม่ได้เลย ขณะนี้สิ่งที่กำลังมีจริงๆ มีอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสภาพธรรมที่มี เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม คือ ธรรมกำลังมี และไม่ได้ไปที่ไหนเลย อยู่ที่สิ่งที่กำลังปรากฏนี่แหละ มีจริงๆ เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง แล้วมีเสียงด้วยไหมคะ ขณะใดที่เสียงเกิดขึ้น เสียงเป็นลักษณะที่ต่างจากสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงมีจริงๆ ไหมคะ มีจริง เป็นธรรม แต่ต้องมีสภาพเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาจึงปรากฏได้ ต้องมีสภาพที่ได้ยิน เสียงจึงปรากฏได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่มีแต่สิ่งที่ปรากฏทางตา และเสียง แต่ต้องมีสภาพที่กำลังได้ยินเสียง เสียงที่กำลังปรากฏขณะนี้ ต้องมีสภาพที่ได้ยินด้วย เสียงจึงปรากฏได้ เช่นเดียวกับในขณะนี้ต้องมีสภาพที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏอย่างนี้แหละ สภาพนั้นมีจริงๆ แต่เป็นลักษณะที่ต่างกัน คือ เสียงก็เป็นอย่างหนึ่ง และสภาพที่ได้ยินเสียงก็เป็นอีกอย่างหนึ่งทางหู

    สำหรับทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ ก็เป็นอย่างหนึ่ง และสภาพที่เห็นสิ่งนั้นจริงๆ ก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นจากการที่เราเข้าใจสิ่งที่มี ก็ทำให้เรารู้ว่า สิ่งที่เป็นธรรม มีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ อย่างหนึ่งปรากฏ แต่ไม่ใช่สภาพรู้ แต่ในขณะที่สิ่งนั้นปรากฏ เช่น สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏขณะนี้ มีสภาพรู้ที่กำลังเห็น ใช้คำว่า “เห็น” ก็ได้ คือ หมายความว่า ไม่ใช่ไม่มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เหมือนโต๊ะ เก้าอี้ จะไม่มีอะไรไปปรากฏให้โต๊ะ เก้าอี้เห็นเลย แต่ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏให้สภาพที่เป็นธาตุรู้นั้นเห็น

    เพราะฉะนั้น ๒ อย่างนี้เป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน ก่อนที่เราจะไปใช้คำว่า นามธรรม กับรูปธรรม แล้วก็ไปจำ แล้วก็ไปคิด แล้วก็ไปท่องว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ไม่จำเป็นต้องรู้คำว่า นามธรรมกับรูปธรรม ก่อนได้ เพราะเหตุว่ามีสิ่งที่มีจริงๆ กำลังปรากฏ และลักษณะที่มีจริงนั้นก็ต่างกันจริงๆ ด้วย จึงใช้คำ เพื่อที่จะให้เข้าใจว่า สภาพธรรมที่มีจริงซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น รวมเป็นสภาพธรรมประเภทหนึ่งซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เป็นรูปธรรม

    เพราะฉะนั้นเวลาที่กล่าวถึงคำว่า “รูปธรรม” ก็หมายความถึงสิ่งที่มี เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่สภาพที่รู้อะไรได้ ส่วนสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งต่างกับรูปธรรม ไม่มีรูปร่างเลย ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส แต่สามารถเห็น ขณะนี้กำลังเห็นด้วย เพราะฉะนั้นถ้าคิดถึงสภาพที่มีจริงที่กำลังเห็น ก็จะทำให้เข้าใจว่า มีจริงๆ แน่นอน และก็เป็นธรรมซึ่งเมื่อเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็เป็นนามธรรม ใช้คำเรียกว่า “นามธรรม” โดยไม่ใช่เราไปรู้ชื่อก่อน แล้วก็ไปหาว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม แต่ขณะนี้แหละสภาพธรรมที่มีเดี๋ยวนี้ เริ่มเข้าใจถูกต้องว่า รูปธรรมคืออย่างนี้ นามธรรมคืออย่างนี้ ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้ว เห็นเมื่อกี้ต้องดับ เพราะว่าจิตจะเกิดขึ้นมีอารมณ์หลายๆ อารมณ์พร้อมกันไม่ได้ จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่งเห็น แล้วก็ดับไป จิตอีกขณะหนึ่งเกิดขึ้นได้ยินแล้วก็ดับไป

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมที่มีเพราะเกิดขึ้น ถ้ายังไม่มีปัจจัยปรุงแต่งไม่เกิด จะบอกว่ามี มีอยู่ที่ไหน แต่ว่าขณะใดก็ตามที่สภาพธรรมนั้นเกิดแล้วปรากฏมี แล้วก็หมดไป ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับ ไม่ว่าจะเป็นนามธรรม หรือรูปธรรมก็ตาม ใช้คำว่า ขันธ์ เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้ว ถ้าไม่ใช้คำ เราก็ไม่สามารถอธิบายเข้าใจได้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเสียงที่ปรากฏขณะนี้ เพียงปรากฏแล้วหมด แล้วไม่กลับมาอีกเลย ไม่สามารถจะย้อนกลับมาอีกได้ แต่การปรากฏของเสียงแต่ละเสียง ก็หลากหลาย และจะให้ใช้คำว่าอะไร แต่ละเสียงๆ ก็นั่งพูดไป เยอะแยะไปหมด แต่ละสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็นั่งพูดไป เยอะแยะไปหมด ก็รวมเป็นประเภท เป็นนามขันธ์กับรูปขันธ์ เพราะเหตุว่าลักษณะนั้นไม่เที่ยง แม้มีจริง แต่ก็หลากหลายมาก แล้วก็ปรากฏเพียงสั้นๆ ทีละ ๑ ลักษณะเท่านั้นเอง แล้วลักษณะของรูปก็หลากหลายมาก รูปทางตาอย่างหนึ่ง รูปที่ปรากฏทางหูอย่างหนึ่ง รูปที่ปรากฏทางจมูก รูปที่ปรากฏทางลิ้น รูปที่ปรากฏทางกาย ก็แต่ละอย่างไป หลากหลายจนกระทั่งรวมเป็นประเภทของรูปขันธ์ เพราะว่าแต่ละรูป ให้เข้าใจว่า ที่ใช้คำว่า “ขันธ์” ส่องถึงความไม่เที่ยง คือ มีจริง เกิดขึ้นแล้วก็

    ดับไป เพราะฉะนั้นก็จะได้เข้าใจความหมายของสิ่งที่ปรากฏ เวลาที่พูดถึงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นขันธ์ จำแนกออก โดยไม่มี แต่มี จำแนกเพราะความหลากหลาย เพราะความรวดเร็ว เพราะการเกิดดับตามเหตุตามปัจจัยที่ละเอียดมาก และต่างกันมาก ไม่ว่าจะละเอียดแค่ไหน ต่างกันอย่างไร ประเภทของรูปก็เป็นประเภทนั้นๆ เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นอื่นไม่ได้ หลากหลายอย่างไรก็เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียง หลากหลายอย่างไรก็ตาม ก็เป็นเสียงที่ปรากฏได้ทางหู เมื่อจิตได้ยินเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมเหล่านี้เป็นสภาพธรรมที่เพียงปรากฏสั้นๆ แล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้นลักษณะของขันธ์แต่ละขันธ์ คือ สิ่งที่มีจริง ก็คือเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต และความหลากหลายนี่ก็มีทั้งหยาบ ละเอียด ไกล ใกล้ เลว ประณีต ภายใน ภายนอก ซึ่งก็คือสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรม ก็คือให้เกิดปัญญาเข้าใจสิ่งที่มีแล้ว ปรากฏ ไม่ใช่จะต้องไปทำอะไรมาเลย เพราะว่าใครก็ทำอะไรไม่ได้


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 291


    หมายเลข 12197
    26 ส.ค. 2567