เจตนาเจตสิก
สุกัญญา กุศลจิต อกุศลจิตที่เกิดทางใจ กับมโนกรรม ต่างกันไหมคะ
สุ. ค่ะ กรรมมี ๓ อะไรบ้าง
สุกัญญา มโนกรรม กายกรรม วจีกรรม
สุ. ต้องเป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม ใช่ไหมคะ
สุกัญญา ใช่ค่ะ
สุ. แล้วจริงๆ แล้ว ก็เป็นเจตนาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทุกประเภท
นี่คือความเข้าใจธรรม ต้องเข้าใจขั้นต้น แล้วค่อยๆ เข้าใจความละเอียดขึ้น เจตนาเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกประเภท เพราะฉะนั้นเจตนาเจตสิกเกิดกับกุศลจิต เจตนาที่เป็นกุศลก็มี เจตนาที่เป็นอกุศลก็มี เจตนาที่เป็นวิบากก็มี มีเมื่อไร
สุกัญญา เมื่อเกิดกับวิบากจิต
สุ. ค่ะ เจตนาที่เป็นกิริยาก็เกิดกับจิตที่เป็นกิริยา ขณะเห็น มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหมคะ
สุกัญญา มีค่ะ
สุ. เป็นกรรมหรือเปล่า
สุกัญญา ไม่ใช่ค่ะ เป็นวิบาก
สุ. ค่ะ อันนี้คือความละเอียดที่เราจะพูดถึงส่วนหนึ่งส่วนใดในพระไตรปิฎก โดยที่ไม่ได้เข้าใจจริงๆ จะมีแต่ความสงสัย เพราะว่าส่วนใหญ่จะพบข้อความตอนหนึ่งตอนใดจากพระไตรปิฎก และก็อ้างด้วยว่ามาจากพระไตรปิฎก เช่น อิทธิบาท มีไหมคะในพระไตรปิฎก อ่านเฉพาะคำว่า “อิทธิบาท” แล้วก็รู้ว่า อิทธิบาทได้แก่อะไรเท่านั้น สามารถจะเข้าใจอิทธิบาทได้ไหม เมื่อไม่สามารถจะเข้าใจได้ ก็คิดกันไปต่างๆ นานา ไม่ได้ศึกษาตั้งแต่ต้นตามลำดับว่า แท้ที่จริงแล้ว คำนี้ใช้เมื่อไร และหมายความถึงอะไร ฉันใด เรื่องของกรรมก็เหมือนกัน การที่จะเข้าใจเรื่อง “มโนกรรม” โดยที่ไม่เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมโดยละเอียดตั้งแต่ต้น ก็ยังคงสงสัย เพราะว่าไปถึงข้อความอีกตอนหนึ่ง จะกล่าวถึงเจตนาที่เป็นลักษณะของกรรมแต่ละกรรม ตามที่ได้ฟัง ที่กล่าวถึงเมื่อวานนี้ เพราะฉะนั้นก็ควรจะมีความเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า เจตนาเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกประเภท แต่ว่าขณะที่กำลังเห็น แม้ว่ามีเจตนาเกิดกับจิตที่เห็นเป็นวิบากจิต แต่เราก็ไม่สามารถเข้าใจลักษณะของเจตนาขณะนั้น เพราะว่าไม่ได้ปรากฏเหมือนอย่างกุศลเจตนา และอกุศลเจตนา
เพราะฉะนั้นที่เราสามารถเข้าใจได้ ก็คือเจตนาที่เป็นกุศล และเจตนาที่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นถ้าเจตนาที่เป็นกุศลจิตเกิดทางจักขุทวาร คือ กำลังเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตายังไม่ดับ ก่อนจะเห็น จิตเป็นภวังค์ เมื่อภวังคจลนะไหว ภวังค์คุปเฉทะดับไป ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหมคะ มี เป็นชาติกิริยา รู้ได้ไหมคะเดี๋ยวนี้ รู้ไม่ได้ เพราะเร็วมาก เจตนาที่เป็นกิริยาก็ดับไป จะไม่ให้เป็นกรรมได้ไหม
นี่คือการจะเข้าใจสภาพธรรมแม้ในขั้นการฟัง เจตนาเจตสิกที่เกิดกับปัญจทวาราวัชชนจิต คือ วิถีจิตแรกที่ยังไม่ทันเห็นเลย แต่เมื่อรูปารมณ์ หรือรูปธาตุกระทบกับจักขุปสาท แล้วภวังคุปัจเฉทะดับไป วิถีจิตแรก คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งขณะนั้นรู้ว่า มีสิ่งที่กระทบตา แต่ยังไม่เห็น เพราะฉะนั้นก็จะใช้คำว่า จักขุทวาราวัชชนจิตก็ได้ มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นกรรมหรือเปล่า
เพราะฉะนั้นการเข้าใจธรรม ต้องเป็นเรื่องที่ตรง เจตนาเป็นกรรม เกิดกับกุศลจิตก็ได้ เกิดกับอกุศลจิตก็ได้ วิบากจิตก็ได้ กิริยาจิตก็ได้ จะไม่ให้เจตนาเจตสิกเป็นกรรมในขณะนั้นไม่ได้เลย แต่โดยสหชาตกัมมปัจจัย เป็นกัมมปัจจัย เพราะเหตุว่าเกิดร่วมกับเจตสิกอื่น ก็ทำกิจโดยฐานะของวิบาก
นี่ก็เป็นเรื่องที่จะได้เข้าใจ แม้แต่คำถามเรื่องของมโนกรรม ก่อนจะถึงคำนั้น ก็จะต้องเข้าใจว่า เจตนาเจตสิกเป็นกรรมเสมอ ไม่ว่าจะเกิดกับจิตประเภทใด แต่โดยฐานะของกัมมปัจจัย ซึ่งเป็นปัจจัยในขณะนั้น สภาพธรรมทั้งหมดที่เกิดร่วมกันเป็นปัจจัยซึ่งกัน และกัน แต่ว่าโดยสถานใด ถ้าผัสสเจตสิกเกิด ผัสสะไม่ใช่กัมมปัจจัย เป็นอาหารปัจจัย
นี่คือลักษณะของเจตสิกแต่ละชนิด ซึ่งเกิดร่วมกัน แต่ถ้าจะกล่าวถึงกรรม เจตนาเจตสิกขณะนั้นเป็นกรรม แต่เป็นสหชาตกัมม และเป็นวิปากปัจจัยหรือเปล่า นี่ก็คือสำหรับคนที่เรียนแล้วอยากจะรู้ ก็ไปพิจารณาไตร่ตรองได้ แต่ขณะนี้จะพูดเฉพาะเรื่องกรรม ซึ่งสงสัยเรื่องของมโนกรรม
เพราะฉะนั้นสำหรับจักขุวิญญาณ ก็มีกรรม และเวลาที่เราพูดถึงกุศล และอกุศล ซึ่งส่วนใหญ่เราจะเจาะจงเฉพาะกุศลกรรม และอกุศลกรรม หลังจากที่เห็นแล้ว รูปยังไม่ดับ อกุศลจิตเกิดขึ้น มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหมคะ มี เป็นอกุศลกรรมหรือเปล่า เป็น ถ้าจะกล่าวถึงที่เป็นกรรมบถ เป็นอกุศลกรรมบถหรือยัง ยัง แต่เป็นมโนกรรม เพราะเหตุว่ายังไม่มีการกระทำทางกาย ทางวาจา ที่จะล่วงออกไป ที่จะเห็นว่า เป็นการกระทำโดยกรรม สำเร็จทางกาย หรือทางวาจา แต่ว่าแม้เจตนาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตหรืออกุศลจิตขณะใด ก็เป็นกรรม ถ้ายังไม่ล่วงออกไป ก็เป็นมโนกรรม
ที่มา ...