เป็นผู้ละเอียด ก็จะเข้าใจสภาพของจิตใจได้


    คุณอุไรวรรณ มีโน้ตมาจากท่านผู้ฟัง อยากจะกราบเรียนถามท่านอาจารย์โดยเฉพาะว่า

    ดิฉันเห็นผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็ง อยู่ในโรงพยาบาล แล้วเขาก็นั่งสมาธิ กำหนดลมหายใจพร้อมทั้งบริกรรมพุทโธ ประมาณ ๓๐ นาทีทุกวัน ดิฉันก็สงสัยว่า เป็นมิจฉาสมาธิหรือไม่ และควรจะนั่งหรือไม่ เพราะเหตุใด

    สุ. ค่ะ นั่งแล้วสบายไหมคะ ต้องเป็นเรื่องสนทนาค่ะ เราไม่สามารถที่กล่าวภายนอกที่ใครคนหนึ่งคนใดทำ แล้วจะไปล่วงรู้ถึงจิตใจของเขาไปหมด เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แม้แต่เขาเอง เขาก็ไม่รู้ว่ามีประโยชน์หรือเปล่า แล้วทำทำไม เพื่อประโยชน์อะไร

    นี่ก็เป็นความสงสัยแล้ว และไม่ใช่ปัญญาด้วย เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงธรรมให้เกิดอกุศล หรือความไม่รู้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นกุศล ก็คือว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม เมื่อได้มีการเข้าใจคำสอน ก็สามารถจะรู้ด้วยว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรม ประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ประกอบด้วยปัญญา

    เพราะฉะนั้นผู้ที่นั่ง ก็ไม่ทราบว่า มีจุดประสงค์อะไรที่จะนั่ง อยู่ดีๆ ก็นั่งหรืออย่างไร ก็นั่งกันอยู่แล้วทุกวันๆ แล้วจะไปนั่งอะไรอีก

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่มีการสนทนา เขาก็ไม่สามารถจะตอบ และเขาก็ไม่สามารถจะรู้ และเข้าใจด้วยตัวเองได้ว่า ที่ทำนั้นถูกหรือผิด เพราะเขาไม่มีโอกาสจะบอกถึงความประสงค์ของเขาเลย

    เวลาที่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ กุศลจิตเกิด มีการกระทำสิ่งที่เป็นกุศล แต่เป็นไปโดยการมีอกุศลบ้างหรือเปล่า ในพระไตรปิฎกหรืออรรถกถา ก็มีเรื่องของคนหนึ่งซึ่งบอกทางคนอื่น แต่ไม่ได้บอกดีๆ บุ้ยปาก เห็นไหมคะ อย่างนี้ก็จะเห็นว่า แม้มีกุศล แต่ก็มีอกุศลร่วมด้วย เป็นไปในกุศลนั้นด้วย

    เพราะฉะนั้นถ้ามีการระวังกาย วาจา และเป็นผู้ละเอียด กุศลทุกประเภททำด้วยความอ่อนโยน ทำด้วยกุศล โดยที่ว่าไม่มีอกุศลใดๆ แทรก ก็ลองคิดดู ถ้าบอกทาง ก็มีหลายอย่าง บอกดีๆ ก็ได้ พาไปก็ได้ และมีจิตอนุเคราะห์ด้วยประการใดๆ ก็ได้ ไม่มีความสำคัญตน หรือไม่มีความเกียจคร้าน หรือไม่ได้แสดงสภาพที่ไม่เป็นไปด้วยกุศล

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า แม้กำลังเป็นกุศล ก็มีอกุศลเกิดร่วมด้วยในขณะนั้นได้ ไม่เหมือนขณะที่เป็นอกุศล ก็โดยตลอดหมดเลยทั้งอกุศล หรือเป็นกุศล ก็เป็นกุศลทั้งหมดเลย นี่ก็แสดงให้เห็นถึงการเป็นไปได้ แม้ในเรื่องของเหตุ

    เพราะฉะนั้นธรรมก็เป็นเรื่องจริง และเรื่องละเอียด เพราะฉะนั้นชีวิตประจำวันก็แสดงชัดเจน ประโยชน์คือ การให้ต่อไปคราวหน้า หรือการจะอนุเคราะห์ใครต่อไปคราวหน้าจะรู้ตัวไหมว่า มีอกุศลอะไรเกิดแทรกบ้าง บางคนให้ แต่เกือบจะเหมือนโยนให้ ก็เป็นไปได้ กับการให้ด้วยความที่เห็นใจ มีความเป็นมิตร ให้แล้วเขาสบายใจ คือ ยื่นให้ด้วยคำที่น่ารัก หมายความว่าจะให้ของที่เป็นคนงานก่อสร้าง หรืออะไรก็ตามแต่ ก็มีคำพูดที่ทำให้คนรับสบายใจ แต่ถ้าไม่เป็นไปอย่างนั้น มีอกุศลเกิดร่วมด้วย ก็เป็นอากัปกิริยาอีกอย่างหนึ่ง ก็เป็นไปได้

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ทุกอย่างถ้าเป็นผู้ละเอียด ก็จะเข้าใจสภาพของจิตใจซึ่งเกิด และลดความสงสัยลงไปได้


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 297


    หมายเลข 12225
    26 ส.ค. 2567