ความเข้าใจที่มั่นคงคืออย่างไร
สุ. ก่อนที่กุศลจิต และอกุศลจิตจะเกิด ต้องมีมโนทวาราวัชชนจิตเกิด รู้อารมณ์ซึ่งกุศลจิต และอกุศลจิตคิด เร็วมากเลยค่ะ ขณะนี้ทั้งหมด ก็คือ วิถีจิต และจิตที่ไม่ใช่วิถีสลับกัน แต่วิถีจิตแรกที่ลืมไม่ได้ก็คือ เป็นกิริยาจิต เพราะว่าจากภาวะของภวังคจิตซึ่งเป็นวิบาก จะไปสู่จิตประเภทอื่นก็ต้องเป็นกิริยาจิต ซึ่งสามารถจะรู้อารมณ์ที่ดีหรืออารมณ์ที่ไม่ดี เป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ ได้ทั้งหมด
เด่นพงศ์ วิถีจิตแรกจะเริ่มจากมโนทวารหรือเปล่าครับ
สุ. วิถีมีวิถีจิต ๖ ทวาร ทวารมี ๖ ทวาร ถ้าเป็นทางตา ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด เราใช้คำรวมว่า “ปัญจทวาราวัชชนะ” แต่ขณะที่เป็นสิ่งที่กระทบปสาท จักขุทวาราวัชชนจิต เราสามารถแยกปัญจะ ออกเป็นแต่ละหนึ่ง แทนที่จะรวมเป็น ๕ คือ เป็นจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร ๕ ทาง จิตที่สามารถเกิดขึ้นเป็นวิถีจิตแรก เมื่ออารมณ์นั้นๆ กระทบ ถ้าเป็นทางตา ก็คือจักขุทวาราวัชชนจิต เพราะอาศัยตา ถ้าเป็นทางหู ก็เป็นโสตทวาราวัชชนจิต เพราะอาศัยหู จึงสามารถให้เสียงปรากฏได้
นี่เป็น ๑ ขณะ ที่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยินเลย แต่เป็นวิถีจิตแรกซึ่งเปลี่ยนภาวะจากภวังค์สู่การเป็นวิถีจิต
เด่นพงศ์ ถ้าอย่างนั้นสมมติว่า ผมตื่นขึ้นตอนเช้า จากภวังค์แล้วลืมตาขึ้นเห็นครั้งแรก ตอนที่จักขุปสาทกับอารมณ์บรรจบกัน จิตเกิดครั้งแรก จักขุเป็นวิถีจิตแรก ตรงนี้เป็นกิริยาจิตหรือเป็นวิบาก
สุ. เป็นกิริยาจิต เปลี่ยนจากภวังค์ซึ่งเป็นวิบากแล้ว เป็นกิริยาจิต
เด่นพงศ์ จะเป็นวิบากเมื่อไรครับ
สุ. พอกิริยาจิตซึ่งรู้อารมณ์ที่กระทบไม่ว่าจะเป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ ดีหรือไม่ดีก็ตาม ดับไป ถ้าเป็นทางตา จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น เดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็น ต้องรู้ว่า ก่อนเห็น เดี๋ยวนี้มีจักขุทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน และก่อนจักขุทวาราวัชชนจิตก็ต้องเป็นภวังคุปัจเฉทะ คือ ภวังค์ขณะสุดท้าย และจักขุวิญญาณดับ จักขุวิญญาณเป็นวิบากจิต
เพราะฉะนั้นกรรมไม่ได้ทำเพียงให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นแล้วดับไป ยังทำให้สัมปฏิจฉันนจิตเกิดรับรู้อารมณ์นั้นต่อ เป็นวิบาก ด้วยเหตุนี้จึงต้องรู้ว่า จิตชื่ออะไร ทำกิจอะไร และเป็นชาติอะไร เปลี่ยนชาติไม่ได้เลย จิตใดที่เป็นวิบาก ก็คือจิตที่เป็นผลของกรรม กรรมเป็นปัจจัยทำให้วิบากจิตนั้นๆ เกิดขึ้น เมื่อถึงกาลที่กรรมนั้นสมควรจะให้ผลนั้นๆ คุณเด่นพงศ์เลือกผลของกรรมให้เกิดได้ไหมคะ
เด่นพงศ์ ไม่ได้ครับ
สุ. ไม่ได้ ถ้ากรรมใดยังไม่สุกงอม พร้อมจะให้ผล ก็ยังไม่สามารถทำให้วิบากจิตประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดขึ้น แต่ขณะนี้เห็นแล้วค่ะ รู้ว่าเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว แต่ไม่สามารถจะรู้อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เป็นผลของกรรมอะไร และเป็นผลของกรรมชาติไหน แต่เมื่อเป็นวิบากจิต ก็ต้องมีเหตุ คือ กรรมที่ได้กระทำแล้ว
ขอทบทวนเรื่องจิต โดยชาติ
ชา - ติ คือ การเกิด ว่าจิตที่เกิดต้องเป็น ๑ ใน ๔ ชาติ เพราะเหตุว่าชาติทั้งหมดมี ๔ กุศล ๑ จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล อกุศล ๑ จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล วิบาก ๑ คือ จิตเกิดขึ้นเป็นผลของกรรม กิริยา ๑ คือ จิตที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่วิบากจิต ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต
นี่คือ ๔ ชาติ หรือ ๔ ประเภท โดยชาติ จิตที่เกิดแล้ว จะไม่เป็นกุศลได้ไหม ได้ คือ เป็นอกุศล หรือเป็นวิบาก หรือเป็นกิริยา แต่ต้องเป็น ๑ ใน ๔ ค่ะ แล้วแต่ว่าจะเป็นอะไร
เพราะฉะนั้นแต่ละจิต ต้องรู้ว่าจิตนั้นเป็นเหตุ คือ เป็นกุศล อกุศล หรือว่าจิตนั้นเป็นผล คือ เป็นวิบาก หรือว่าจิตนั้นไม่ใช่เหตุ และผล คือ ไม่ใช่ทั้งกุศล และอกุศลซึ่งเป็นเหตุ และไม่ใช่วิบาก แต่เป็นกิริยาจิต
เด่นพงศ์ ประเด็นข้อสงสัยของผมจริงๆ อยู่ที่ขณะใดเรารู้ว่าเป็นกิริยาจิต ขณะใดที่เราจะรู้ว่า เป็นวิบากจิต
สุ. ค่ะ ขณะนี้เพียงทราบว่าจิตทั้งหมด ต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ ชาติ เราสามารถจะรู้ชาติของจิตไหมคะ ในขณะที่กำลังเห็นเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม หมดไปแล้ว กรรมทำให้เห็น ใครก็ทำไม่ได้ นอกจากกรรม จะทำให้เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดตามใจชอบก็ไม่ได้ แล้วแต่กรรมจะทำให้เห็นอะไร และเมื่อเห็นแล้ว คนที่ยังไม่หมดกิเลส ก็จะชอบหรือไม่ชอบในสิ่งที่เห็น เป็นอกุศล หรือว่าเป็นกุศล แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้ว ความต่างกัน คือ ท่านเห็นทุกอย่างเหมือนคนอื่น แต่ไม่มีกุศล และอกุศลอีกเลย เห็นแล้วก็เป็นกิริยาจิต
เพราะฉะนั้นเรื่องจิต ๔ ชาติ ก็ต้องเข้าใจว่า จิตอะไรเป็นชาติอะไร ถ้าพูดถึงอาวัชชนจิต จิตที่เป็นวิถีจิตแรกทางทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร จึงชื่อว่า “ปัญจทวาราวัชชนจิต” ยังไม่ใช่ขณะที่เป็นผลของกรรม แต่เป็นกิริยาจิตเพื่อเป็นบาทเฉพาะให้วิบากจิตเกิดขึ้น เป็นบาทเฉพาะ คือ จิตนี้เกิดขึ้นทำให้จิตที่เป็นชาติอื่นเกิดต่อได้
ฟังดูเป็นชื่อ เหมือนกับยาก แต่ถ้าเรามีความเข้าใจที่มั่นคง ตั้งแต่ต้นว่า จิตไม่ใช่เรา กุศลจิตไม่ใช่เรา เป็นธรรม อกุศลจิตก็ไม่ใช่เรา วิบากจิต กำลังเห็น กำลังได้ยิน ก็ไม่ใช่เรา กิริยาจิตก็ไม่ใช่เรา ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ แล้วรู้ว่า เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า จิตใดเป็นเหตุ และจิตใดเป็นผล และจิตใดไม่ใช่ทั้งเหตุ และผล เป็นกิริยาจิตที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ตามกาลซึ่งเกิดขึ้นที่จะต้องทำกิจนั้น
ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้พอได้ยินชื่อ โลภมูลจิต คือ จิตที่มีโลภมูลจิตเกิดร่วมด้วย ขณะที่ติดข้องอยากได้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นเป็นชาติอะไรคะ
เด่นพงศ์ ชาติอกุศล
สุ. ค่ะ ชาติอกุศล ก็พอจะรู้ได้จากการฟัง และค่อยๆ เข้าใจขึ้น
เด่นพงศ์ และเราได้ทราบว่า กิริยาจิตเป็นของปุถุชนก็มี ใช่ไหมครับ
สุ. ๒ ประเภทเท่านั้น คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต กับมโนทวาราวัชชนจิต ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์จะมีกิริยาจิตมากกว่า ๒ ประเภทนี้ไม่ได้เลย ทุกคนขณะนี้มีกิริยาจิตซึ่งเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต และกิริยาจิตซึ่งเป็นมโนทวาราวัชชนจิต เท่านั้น แต่พระอรหันต์มีกิริยาจิตทั้งหมด
ตัวอย่าง ทุกคนพูดได้ว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นผลของกรรม พูดได้แค่นี้เอง แต่กรรมไหน ชาติไหน เป็นผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่วิบากจิตเกิดขึ้น และสิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็อายุสั้นมาก เพียงแค่จิต ๑๗ ขณะ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดับแล้ว เพราะฉะนั้นใครสามารถที่จะบอกได้ รู้ได้ชัดเจนว่า ขณะไหนเป็นผลของกุศลกรรม และขณะไหนเป็นผลของอกุศลกรรม
นี่คือความละเอียด และผู้ที่จะรู้จริงๆ ต้องเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะอะไร เพราะเราไม่ได้เกิดชาตินี้ชาติเดียว เราเกิดมาแล้วนานมาก และแต่ละชาติทำกรรมไว้หรือเปล่า ถ้ามีจิต ก็ต้องมีกุศลจิต อกุศลจิต ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดกุศลกรรม และอกุศลกรรม ทั้งหมดนี่ลองคิดดู จิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ ถ้าจิต ๑ ขณะนี้จะไม่ดับหมดสิ้นไป ยังไม่ปราศไป จิตขณะต่อไปเกิดไม่ได้
เพราะฉะนั้นต่อเมื่อจิตนี้ ซึ่งมีอายุสั้นมาก สามารถจะแบ่งเป็นอนุขณะได้ ๓ ขณะ คือ ขณะเกิด อุปาทขณะ ฐิติขณะ ขณะที่ยังไม่ดับ และภังคขณะ คือขณะที่ดับ ไม่มีใครคิดที่จะต้องไปรู้จิต ๑ ขณะซึ่งเกิดดับอย่างนี้ได้ เพราะเหตุว่าแม้ขณะที่ปรากฏเป็นคน เป็นสัตว์ นั่งอยู่ที่นี่ มีอะไรตั้งหลายอย่าง จิตก็เกิดดับสืบต่อนับไม่ถ้วน กว่าจะรู้ว่าขณะนี้สิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร
นี่เป็นแต่เพียงเรื่องของจิต ยังไม่ถึงเรื่องของกรรม เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเกิดดับสืบต่อมานานแสนนาน ถอยกลับไปกี่กัป แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงระลึกพระชาติในอดีตก่อนที่จะถึงการตรัสรู้อริยสัจธรรม ในคืนของการได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ยามแรกทรงระลึกถึงพระชาติก่อนๆ นานเท่าไรก็ไม่หมด แล้วเราจะเป็นอย่างนั้นหรือ? เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไปรู้ถึงกรรมที่ได้กระทำแล้วในชาติต่างๆ แต่ให้ทราบว่า จิตที่เกิดแล้วดับไปเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด เพราะฉะนั้นจิตขณะต่อไปที่เกิด มาจากไหน มาจากจิตขณะก่อนซึ่งดับไป เมื่อจิตขณะก่อนซึ่งดับไปเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในจิตนั้นก็สะสมสืบต่อในจิตขณะต่อไป ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรม หรือกุศลจิต หรืออกุศลกรรม อกุศลจิต เมื่อไร ขณะไหน ในชาติไหน ก็สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ เห็นความต่างกันไหมคะของแต่ละจิต ซึ่งขณะนี้ก็เป็นจิตต่างๆ ซึ่งสะสมมาในแสนโกฏิกัป ที่จะปรากฏเป็นความคิด หรืออัธยาศัยต่างๆ กัน
ที่มา ...