พื้นฐานของการฟังให้มีความเข้าใจว่าอย่างไร


    เพราะฉะนั้นกรรม เราจะรู้ไหมคะว่า เราได้ทำกรรมชาติไหน อย่างไร แม้ในชาตินี้ กุศลจิตเกิด อกุศลจิตเกิด และได้กระทำกรรมอะไรบ้าง ทางกายบ้าง หรือทางวาจาบ้าง ก็มากมายจนกระทั่งจำไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่จะให้ไปรู้ความละเอียดของกรรมนี่ยาก แต่ให้ทราบว่า กรรมมีกิจ เป็นกุศลจิต และอกุศลจิต ซึ่งแม้เกิดดับสืบต่อสะสม ในขณะนี้ที่นั่งอยู่ ใครสามารถจะรู้ว่า กุศลจิต อกุศลจิตประเภทไหนได้สะสมมามากน้อยเท่าไร ไม่สามารถจะรู้ได้เลย นี่เป็นเหตุให้อัธยาศัยต่างๆ กัน

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ถึงกาลที่กรรมซึ่งประมวลมาทั้งหมดในแสนโกฏิกัป ไม่ได้หายไปไหนเลย ไม่ใช่ว่าเราเพิ่งจะมีกรรมชาตินี้ชาติเดียว แต่นานแสนนานแสนโกฏิกัปมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกุศล หรือฝ่ายอกุศล แม้แต่บารมีของพระสาวกทั้งหลาย ก็สะสมมาเช่นเดียวกับผู้ที่ไม่ได้สะสมที่จะเป็นบารมีที่จะรู้แจ้ง แต่กรรมที่ได้สะสมมาทั้งหมด ที่ประมวลไว้ สามารถจะแยกออกมาเป็นแต่ละกรรมๆ ให้เห็นชัดเจนได้ไหม เพราะว่าสะสมรวมกันอยู่ในจิต ๑ ขณะ ซึ่งเกิดแล้วก็ดับ

    เพราะฉะนั้นขณะหนึ่งๆ ซึ่งสะสมไปในภพหนึ่งชาติหนึ่ง ประมวลกรรมที่จะทำให้ผลของกรรมเกิดขึ้นเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ต่างกันไปทั้งสภาพของจิต และรูป ซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมบ้าง อกุศลกรรมบ้าง แม้แต่รูปที่เป็นผลของอกุศลกรรม เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ต่างกันไป เพียงสัตว์ประเภทเดียว คือ ผีเสื้อ ก็ต่างกันมากแล้ว อะไรทำให้ต่างกันอย่างนั้น ถ้าไม่ใช่การประมวลของกรรมทั้งหมดในแสนโกฏิกัป จนกระทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเป็นสัตว์โลกประเภทนั้นๆ

    เพราะฉะนั้นกรรมก็มีกิจหน้าที่ด้วย แม้ว่าจะประมวลกันมา และสะสมกันมา เป็นสังขารขันธ์ซึ่งปรุงแต่งทำให้ชาติหนึ่งๆ จะมีผลของกรรมอะไรบ้าง

    เพราะฉะนั้นขณะที่กรรมให้จะผล ก็ตามกิจหน้าที่ของกรรม กรรมมีกิจ คือ

    กิจที่ ๑ ชนกกิจ ทำให้เกิด เมื่อเป็นอกุศลกรรมที่ครบองค์ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรมเกิดขึ้นเป็นอะไรในชาติไหนก็ได้ ในชาตินี้เกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศลกรรม แต่ก็ต่างกันมากตั้งแต่เกิดจนกระทั่งจากโลกนี้ไป แล้วแต่กรรมที่ประมวล และสะสมปรุงแต่งจะให้ผลของชีวิตมากน้อยในทางหนึ่งทางใด

    เพราะฉะนั้นเวลาที่กรรมใดสามารถทำให้จิตที่เป็นวิบากเกิดขึ้น กรรมนั้นทำชนกกิจ ทำกิจทำให้เกิด เวลาที่กล่าวถึงกรรมต้องจำแนกเป็นโดยกิจ หรือว่าโดยประเภทที่หนักเบา เป็นต้น แต่เวลาที่คุณเด่นพงศ์สนใจในเรื่องอุปฆาตกรรม ก็จะกล่าวเฉพาะเรื่องกิจของกรรม ซึ่งกรรมมีกิจที่ทำให้เกิดขึ้นได้ ขณะใดที่วิบากเกิดขึ้น เพราะกรรมนั้นทำกิจทำให้วิบากจิตนั้นเกิดขึ้น กรรมนั้นทำชนกกิจ คือ กิจให้เกิดวิบากประเภทหนึ่ง แต่กรรมที่มี และยังไม่ได้โอกาสที่จะทำให้เกิดวิบากขึ้น ก็มีอีกมากมาย

    เพราะฉะนั้นบางกรรมก็ทำกิจอุปถัมภ์กรรมที่เกิดแล้วให้ผล ให้ผลมากยิ่งขึ้นก็ได้ แล้วแต่ว่าจะเป็นผลของกรรมประเภทใด ถ้าอกุศลกรรมกำลังทำให้อกุศลวิบากเกิด แล้วก็มีอกุศลกรรมที่อุปถัมภ์ทำให้อกุศลวิบากเกิดนานๆ มากๆ ขณะนั้นก็เป็นกิจของกรรมนั้น ซึ่งไม่ได้ทำชนกกิจ แต่ทำอุปถัมภกกิจ นี่ก็เป็นกิจของกรรมด้วย กิจที่ ๒

    ส่วนอีกกรรมหนึ่งก็ทำหน้าที่เบียดเบียน อุปปีฬกกิจ ซึ่งเป็นอุปปีฬกกรรม ไม่ได้ทำกิจอุปถัมภ์ แต่เบียดเบียน เคยมีใครที่กำลังมีความสุข และเกิดมีความทุกข์แทรกคั่นขึ้นมาบ้างไหมคะ นั่นคือกรรมนั้นมีโอกาสที่จะให้ผลเบียดเบียนกรรมที่กำลังให้ผลอยู่

    สำหรับอีกกรรมหนึ่ง ให้ผลมากกว่านั้นอีก คือ ตัดรอนกรรมที่กำลังให้ผลอยู่ เพราะฉะนั้นกรรมที่ตัดรอน ก็เป็นกรรมที่ทำให้อุปฆาตกกิจ คือ ทำหน้าที่ตัดรอน

    เพราะฉะนั้นก็เป็นชีวิตที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรม ซึ่งเป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป แต่มีความละเอียด แม้แต่จะพูดเรื่องกรรม ก็ต้องเกี่ยวเนื่องกับจิต เพราะว่ากรรมเป็นนามธรรม ซึ่งไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตนาเจตสิก และมีความละเอียดอีกมาก

    เพราะฉะนั้นพื้นฐานก็คือให้เรามีความเข้าใจว่า ไม่ว่าจะฟังธรรมเรื่องใด ที่ไหนก็ตาม ให้เห็นว่าเป็นธรรมที่ละเอียดลึกซึ้ง และยากที่จะละการยึดถือสิ่งที่มี ที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมที่เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป

    เพราะฉะนั้นก็ใจเย็นๆ ฟังอะไรก็ขอให้เข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังชัดขึ้น และไม่ข้ามขั้นด้วย เพราะว่าถ้าไม่มีพื้นฐานเรื่องจิต เจตสิก จะพูดเรื่องกรรมก็เป็นเรา แต่ความจริงก็คือเจตสิกซึ่งได้แก่ เจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่จงใจ ขวนขวาย กระทำกิจเวลาที่เกิดกับจิต ซึ่งเจตนาต้องเกิดกับจิตทุกประเภท ถ้าเกิดกับกุศลจิตก็ขวนขวายกระทำในทางที่เป็นกุศล ถ้าเป็นอกุศลเจตนาก็ขวนขวายกระทำในกรรมที่เป็นอกุศล


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 298


    หมายเลข 12231
    26 ส.ค. 2567