คำพูดที่ดีมีลักษณะอย่างไร


    สุกัญญา การที่เราจะพูดความจริงที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แต่เราหลีกเลี่ยงกล่าวคำไม่จริง ก็ไม่น่าจะถูกต้อง อย่างเราซื้อสิ่งของให้มารดา ท่านก็จะถามว่าซื้อมาเท่าไร แพงไหม ถ้าเราบอกความจริงไป มารดาก็เหมือนจะรับประทานไม่ลง แต่ถ้าเราพูดไม่จริง ใหม่ๆ ไม่รู้สึกอะไร เพราะเหมือนกับว่าการพูดไม่จริงมีประโยชน์กว่าความจริงที่เราจะพูด แต่พอพิจารณาธรรมไปแล้ว ยังไงก็เป็นอกุศลจิต

    สุ. ค่ะ ก็ต้องพูดจริง

    สุกัญญา ถึงแม้ความจริงนั้นจะไปประทุษร้ายผู้อื่น

    สุ. คำจริงถ้าไม่มีประโยชน์ ไม่ควรพูด นี่แน่นอน แล้วต้องดูกาลด้วย เหมาะควรกับเวลาหรือเปล่า และขณะที่พูดก็ต้องพูดด้วยจิตเมตตาด้วยคำที่ไพเราะ ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน แต่ต้องพิจารณาว่าเป็นประโยชน์หรือเปล่า

    สุกัญญา ต้องเลือกพูดจริงที่เป็นประโยชน์

    สุ. แม้เป็นความจริง ก็ต้องดูว่าเป็นประโยชน์หรือเปล่า ทุกคนรู้เรื่องจริงมาก แต่ไม่ได้พูดทั้งหมด โดยเฉพาะถ้าสิ่งนั้นไม่มีประโยชน์ แต่ก่อนนี้ก็อาจจะพูดจริงเพราะเห็นว่าจริง ก็พูดได้เพราะจริง แต่ต่อไปก็จะพิจารณาว่า จริง แต่มีประโยชน์หรือมีโทษกับบุคคลอื่น ถ้าไม่มีประโยชน์ใดๆ เลยทั้งสิ้น ก็ไม่พูด เพราะไม่มีประโยชน์ แม้ว่าเป็นเรื่องจริง แต่ถ้าเป็นประโยชน์ เป็นสิ่งที่ควรพูด และก็ดูกาลด้วยว่าจะได้รับประโยชน์จากคำพูดนั้นถูกต้องตามประโยชน์นั้นๆ หรือไม่ เวลาพูดก็พูดด้วยถ้อยคำที่น่าฟัง

    อ.วิชัย ก็เคยสนทนาเรื่องของคำพูด ก็มีความเห็นของท่านวัสสการพราหมณ์ว่า การพูดตามความเป็นจริงในสิ่งที่เห็น ในสิ่งที่ได้ยิน ในสิ่งที่ทราบ โทษผิดจากการพูดความจริงนั้นไม่มี ไม่ทราบว่าเห็นจริงไหมครับ เมื่อเห็นสิ่งใดก็พูดสิ่งนั้น และได้ยินสิ่งใดก็พูดสิ่งนั้น ทราบสิ่งใดก็พูดสิ่งนั้น ไม่ทราบว่าความเห็นอย่างนี้ถูกจริงไหมครับ

    สุกัญญา จริงค่ะ เพราะว่าศีลข้อวาจา ก็จะมีอยู่ว่า สิ่งใดควรพูดหรือไม่ควรพูด ทีนี้ที่เป็นปัญหาหนักหนา ก็คือว่าบางครั้งการตัดสินใจว่าจะพูดจริงหรือไม่จริงจะค่อนข้างยาก แต่เพื่อเป็นความมั่นคงในการตัดสินใจ ก็เลยต้องกราบเรียนถามท่านอาจารย์

    อ.วิชัย พระผู้มีพระภาคก็ตรัสแก่วัสสการพราหมณ์ พระองค์ตรัสว่า พระองค์ไม่กล่าวว่า สิ่งทั้งหมดที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ทราบ ควรกล่าว และไม่กล่าวว่า สิ่งที่เห็น ได้ยิน ได้ทราบทั้งหมดไม่ควรกล่าว แต่ถ้ากล่าวสิ่งใดให้กุศลธรรมเจริญควรกล่าว ถ้ากล่าวแล้วอกุศลเจริญ ไม่ควรกล่าว

    สุ. ปัญหาของคุณสุกัญญาเป็นเรื่องของมารดาที่ซื้อของมาให้ท่าน แล้วท่านก็อาจจะไม่อยากได้ยินราคาที่แพง เพราะฉะนั้นคุณสุกัญญาตัดสินใจว่าอย่างไร

    สุกัญญา ต้องพิจารณาสภาวะจิตใจของมารดาในขณะนั้นด้วย คือถ้าพูดไปแล้วเป็นการเพิ่มพูนอกุศลของมารดา ก็เลือกที่จะไม่พูดดีกว่า

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อเอาตามที่พระพุทธเจ้าว่า พูดจริง ถูกกาล ถูกเวลา เป็นประโยชน์ ไพเราะ ผสานสามัคคี องค์มีอยู่แล้ว สมมติว่าคุณแม่ไม่อยากได้ยินคำว่าแพง ก็บอกว่า ซื้อมาค่อนข้างแพง ก็ยังไม่เท็จ ไม่ได้ผิด ๕ อย่างนี้

    อ.อรรณพ พูดตามความเป็นจริงว่า ไม่แพงเมื่อเทียบกับคุณภาพ ที่สำคัญก็คือ เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต กุศลจิตที่หวังให้มารดาได้บริโภคของที่เป็นประโยชน์ แต่ขณะที่เราพูดไม่ตรง ถึงจะคิดว่าหวังดีไม่อยากให้มารดาเกิดความไม่สบายใจ แต่ขณะที่เราพูดไม่ตรง จะต้องเป็นอกุศลจิตที่พูดคำไม่ตรง เพราะฉะนั้นคำเท็จจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย อันนี้เป็นประเด็นหนึ่ง เพราะฉะนั้นจิตที่พูดสิ่งที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง สมมติราคาพันหนึ่ง เราบอกว่า ๓๐๐ ก็เป็นจิตที่ไม่ตรง อันนั้นก็เป็นอกุศลจิตที่พูดคำไม่จริง แต่แม้พูดสิ่งที่เป็นความจริงอย่างนั้น แต่พูดด้วยจิตอะไร อย่างคนที่พูดจาส่อเสียดกัน เอาเรื่องจริงของคนอื่นมาพูด แต่ด้วยจิตที่จะทำให้เกิดความแตกแยกกัน แม้เป็นความจริง แต่จิตที่พูดอย่างนั้นเป็นอกุศล เพราะออกมาจากจิตที่มุ่งให้เขาแตกกัน

    ผู้ฟัง คำถามของคุณสุกัญญาในกรณีที่มีบุคคลที่ ๓ อยู่ด้วย แล้วเราเข้าไปพบมารดา แล้วเราซื้อของมา ท่านถามว่าแพงไหม และบุคคลที่ ๓ ไม่ทราบว่าเราซื้อแพงหรือไม่แพง ก็ตอบแทนว่า ไม่แพง คุณแม่ทานเถอะ แล้วเราเงียบได้ไหมครับ หรือว่าเราจะทำประการใด

    สุ. ไม่ใช่เรื่องอนุญาตเลย เป็นเรื่องเข้าใจ และแต่ละบุคคลก็ต่างวาระ ต่างกาลด้วย แล้วแต่เหตุการณ์ขณะนั้นว่า มีปัจจัยอะไร ที่จะทำให้กล่าวคำอะไร ไม่ได้หมายความว่า คนที่มีความเข้าใจธรรมแล้ว จะไม่มีวจีทุจริตเลย ยังคงมีอยู่ จนกว่าจะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ไม่เกิดอีกเลย เป็นพระโสดาบันจะไม่กล่าวคำที่ไม่จริง

    เพราะฉะนั้นเรื่องวาจา คิดอย่างหนึ่ง พอถึงเวลา พูดอีกอย่างหนึ่งก็ได้ ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่ค่ะ

    ผู้ฟัง ในกรณีที่เราไม่ได้ทำสิ่งที่ผู้หนึ่งกล่าว เราจำเป็นต้องบอกตามความเป็นจริงไหมครับ หรือว่าเราไม่ต้องพูดก็ได้

    สุ. เพื่อประโยชน์ หรือเพื่ออะไร ถ้าเขาไม่รู้ความจริง เขามีอกุศลจิตเพิ่มขึ้นมากมาย แต่ถ้าเรารู้แล้ว เขาก็จะไม่มีอกุศลจิตอย่างนั้น การป้องกันไม่ให้เขาเกิดอกุศลจิต ก็คือให้เขารู้ว่า ความจริงคืออย่างนี้ เป็นผู้ที่ตรง คือ รู้ประโยชน์ว่าเพื่ออนุเคราะห์ไม่ให้อกุศลเขาเกิดต่อไปอีก ก็สมควรพูดความจริง แต่ถ้าเขาไม่สามารถจะเข้าใจได้ เขายึดถือแล้วเป็นเรื่องราวอย่างนั้น ก็ไม่มีประโยชน์ ต้องคิดถึงประโยชน์


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 310


    Tag  คำพูด  
    หมายเลข 12292
    27 ส.ค. 2567