เป็นอิสระจากโลภะที่พยายามไปเปลี่ยนแปลง


    ผู้ฟัง จิตเป็นสภาพรู้เหมือนกันหมด แต่ว่ามีอารมณ์ต่างกัน ทีนี้สติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้ลักษณะของจิต จึงรู้ว่า เป็นสภาพรู้เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับอารมณ์เลย อันนี้ถูกต้องไหมคะ

    สุ. ขณะใดที่มีจิตเป็นธาตุรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะรู้อะไร เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ลักษณะของจิต ไม่ใช่รู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏ ก็กำลังเริ่มเข้าใจในธาตุรู้ หรือสภาพรู้ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งว่า ธาตุรู้ล้วนๆ เป็นอย่างนี้ แยกขาดจากรูปธรรม

    ผู้ฟัง อีกเรื่องหนึ่ง ท่านอาจารย์กล่าวเหมือนกับว่า ฟังมาแล้วจะไปเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น อันนั้นผิดอีกแล้ว

    สุ. มีเหตุจะให้เป็นอย่างไรคะ

    ผู้ฟัง เหมือนกับมีตัวตนใช่ไหมที่อยากจะดี

    สุ. รู้ความจริงหรือเปล่าว่า ขณะนั้นเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ก็ตรงนี้อีกแล้ว

    สุ. อดทน หมายความว่าอย่างไรคะ เราจะไม่รู้จักตัวของเราตามความเป็นจริงเลย ทั้งๆ ที่ทุกขณะต้องเกิดเป็นไปตามการสะสม แลกเปลี่ยนกันไม่ได้เลย ถ้าเราไปพยายามบังคับไว้ ไม่เป็นปกติ จะเห็นการสะสมที่ได้สะสมมานานไหมคะ ที่เป็นปกติอย่างในขณะนี้อย่างนี้ และส่วนใหญ่ถ้าจะเห็น เห็นอะไร ลองคิดดูค่ะ เห็นอกุศล แล้วก็ไม่ชอบอกุศล แล้วก็ดิ้นรน แล้วก็เดือดร้อน ถ้าปัญญาไม่พอ ก็ยึดมั่นหาทางอื่นที่จะทำให้อกุศลนั้นน้อยลง แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าเป็นการรู้จริงๆ ว่า เป็นธรรม ชั่วขณะที่สั้นมาก และก็หมดไป ก็จะเป็นอิสระจากโลภะที่พยายามไปเปลี่ยนแปลงด้วยความเป็นตัวตน แล้วก็จะเห็นธรรมที่เกิดแล้วตามความเป็นจริงตามการสะสม ซึ่งถ้าไม่เห็นอย่างนี้ ก็ละความเป็นตัวตนไม่ได้

    ผู้ฟัง จากที่มาฟังตรงนี้ ก็ได้เข้าใจแล้วว่า จริงๆ สภาพธรรมก่อนจะเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ก็ต้องมีสภาพที่เห็นปรากฏก่อน แล้วก็คิดนึกต่อ พอเข้าใจตรงนี้แล้ว ก็ไปติดตรงที่บอกว่า คิดนึกแล้วตรงนั้นไม่ใช่คน ตรงนี้เข้าใจอย่างไรคะ หรือเข้าใจว่า นั่นเป็นบัญญัติ หรือเป็นความคิดนึก คนจริงๆ ไม่มี ต้องเข้าใจตรงนี้หรือว่าอะไรที่ชัดเจนกว่านี้

    สุ. ค่ะ จิตคิดใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง มาลงตรงที่จิตคิด เพราะฉะนั้นขณะใดที่เราเข้าใจว่าเป็นคน ขณะนั้นเป็นลักษณะของจิตที่คิดแล้ว

    สุ. แน่นอนค่ะ เพราะว่าจิตเห็นไม่ใช่จิตคิด จิตได้ยินก็ไม่ใช่จิตคิด

    ผู้ฟัง นี่ค่ะ ลักษณะตรงนี้เป็นเรื่องยากที่เราไม่เข้าใจว่า เราจะพิจารณาตรงไหน อย่างไร แสดงว่าความเข้าใจยังไม่พอใช่ไหมคะ

    สุ. ค่ะ ฟังแล้วก็เข้าใจ และธรรมก็กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นการศึกษาก็ไม่ใช่ไปคิดถึงตัวสะกด หรือจำนวน แต่ลักษณะของธรรมกำลังปรากฏให้เข้าใจในขณะที่กำลังฟัง แทนที่จะสนใจอย่างอื่น ใช่ไหมคะ ก็มีปัจจัยทำให้เริ่มค่อยๆ เข้าใจลักษณะ เพราะว่ามีลักษณะจริงๆ ที่กำลังกล่าวถึง เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา มีแน่นอนค่ะ แต่เราไม่เคยรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง ทั้ง ๕ ทวาร ก็เป็นเรื่องยากที่เราจะศึกษาถึง เพราะฉะนั้นรู้สึกว่าจะเป็นสภาพของคิดนึกมากมาย แต่สภาพของคิดนึกก็มีความละเอียด อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวในเบื้องต้นว่า จะเป็นลักษณะของโลภะก็ได้ โทสะก็ได้ หรือกุศลก็ได้

    สุ. ค่ะ ส่วนใหญ่ก็เป็นจิตคิด หลังจากที่เห็น หลังจากที่ได้ยิน คิดตลอด แล้วยังจำไว้ด้วย แม้ไม่เห็น ก็ยังคิด

    ผู้ฟัง พอรู้ว่าคิด แล้วมันจบแค่นั้น หรือว่าปัญญาซึมเข้าไปอีก

    สุ. ลักษณะคิดเป็นสภาพรู้ ต้องเข้าถึงลักษณะที่เป็นธาตุรู้

    ผู้ฟัง แล้วจะรู้ขณะนั้นว่าเป็นโลภะ เป็นโทสะ ก็ได้ ที่เป็นมูลจิต

    สุ. อะไรปรากฏ เราไม่ได้ไปนั่งเรียกชื่อจิต ขณะนั้น แต่กำลังเข้าถึงลักษณะของธาตุรู้ ซึ่งเป็นจิต

    ผู้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นโมหมูลจิต หรือโทสมูลจิต ก็เป็นสภาพรู้เท่านั้น

    สุ. ค่ะ ชีวิตประจำวัน จิตมี โลภะมี จิตที่เกิดร่วมกับโลภะ จะไม่เกิดร่วมกับสภาพธรรมอื่น นอกจากเจตสิก เจตสิกก็ต้องเกิดกับจิต แต่เป็นเรา ตลอดวัน พอดีใจ ก็ไม่รู้เลยว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไป


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 312


    หมายเลข 12305
    26 ส.ค. 2567