แทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรม
ผู้ฟัง คุณวิชัยคะ ดิฉันอยากทราบความละเอียดของปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธว่า มีลักษณะที่ต่างกันอย่างไร ความเข้าใจของดิฉันที่ว่า ปฏิบัติ ปฏิปัตติ ตรงนี้จะเป็นลักษณะของสติปัฏฐานเกิดแล้วใช่ไหม และถ้าเป็นปฏิเวธ เป็นลักษณะที่เริ่มต้นตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณหรือเปล่า ไม่ทราบเข้าใจถูกหรือเปล่า
อ.วิชัย ขณะที่กำลังฟังขณะนี้ เป็นการศึกษาปริยัติไหมครับ ฟัง ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น ไม่ใช่เพื่อจำเยอะๆ แต่ฟังเพื่อเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นปัญญาเริ่มมีความรู้ในลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นปัญญานั้นเองเริ่มปฏิปัตติ คือ ถึงเฉพาะในลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งกว่าจะถึงลักษณะของสภาพธรรม ก็ต้องมาจากการฟัง มีความเข้าใจว่าเป็นปริยัติ เพราะฉะนั้นปริยัติเพื่อเจริญปัญญา ที่จะรู้ในลักษณะของสภาพธรรม ส่วนปฏิเวธก็ต้องหมายความถึง การแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรม
ผู้ฟัง แทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรม ก็หมายความว่าแม้แต่วิปัสสนาญาณที่ ๑ ก็อยู่ในปฏิเวธแล้ว อย่างนั้นใช่หรือเปล่า
อ.วิชัย ไม่ทราบครับ ท่านอาจารย์ครับ ปฏิเวธจะถึงระดับไหนครับ
สุ. ค่ะ ต้องไม่ลืม ๒ ภาษา คือแคว้นมคธพูดภาษามคธี ที่เราใช้เป็นพระไตรปิฎก ใช้คำว่า พระบาลี และภาษาไทยก็คือภาษาที่เราพูดที่เข้าใจได้ ฉันใด ภาษาธรรมดาทั่วๆ ไป ในแคว้นมคธ ก็คือภาษาธรรมดาชาวบ้าน ซึ่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ไม่ได้ประดิษฐ์คำอื่นอีกภาษาหนึ่ง แต่ใช้คำที่ใช้เป็นประจำ แต่ให้เข้าใจความหมายของสิ่งที่เป็นธรรม เพราะฉะนั้นก็มีคำที่สามารถรู้ได้ อย่าง “ธรรม” ก็ไม่ใช่คำที่เป็นภาษาที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ แต่เป็นภาษาที่มีอยู่แล้ว อย่างภาษาไทยเราก็ใช้คำว่า ธาตุ ใช้คำว่า แข็ง พวกนี้ก็เป็นภาษาที่มีอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นเวลาที่ทรงแสดงธรรม ก็แสดงความจริงในภาษาที่คนสามารถเข้าใจได้ ด้วยเหตุนี้แต่ละคำก็มีความหมายหลายระดับ คือ ระดับภาษาชาวบ้านธรรมดา อย่าง วิตก สัมมาสังกัปปะ หรือมิจฉาสังกัปปะ ก็แล้วแต่จะใช้คำหนึ่งคำใด จะใช้คำว่า วิญญาณ หรือ มโน หรือ มนัส ก็ใช้ได้ ให้รู้ว่า หมายความถึงสิ่งใด
เพราะฉะนั้นถ้าใช้คำว่า “ปริยัติ” ก็หมายความถึงการศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่มี ไม่ใช่ศึกษาวิชาการอื่น แต่ศึกษาเพื่อให้รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏในขั้นฟัง แต่ไม่ได้หมายความว่าเพียงฟัง สามารถจะประจักษ์แจ้งความจริงของสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง แต่ถ้าไม่มีการฟังเลย ก็ไม่มีการที่ปัญญาจะเจริญจนกระทั่งสติสัมปชัญญะสามารถเกิด และรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งเป็นปฏิปัตติ แต่เมื่อเพียงเริ่มอบรม ยังไม่ได้แทงตลอดความจริงของลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็เป็นแต่การอบรมเจริญปัญญา
เพราะฉะนั้นถ้าภาษาไทยเราใช้คำว่า “แทงตลอด” หรือภาษาบาลีจะใช้คำว่า “ปฏิเวธ” ก็ต้องไม่ได้หมายความถึงเพียงขณะที่สติสัมปชัญญะเริ่มเกิด และเริ่มค่อยๆ เข้าถึงลักษณะที่เป็นจริงของสภาพธรรมขณะนั้น แต่ต้องหมายความถึงขณะที่ประจักษ์แจ้ง แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะเป็นระดับไหน เพราะฉะนั้นก็มีตั้งแต่ขั้นต้น จนถึงขั้นที่รู้แจ้ง อริยสัจธรรม รู้แจ้งลักษณะของนิพพาน แต่ไม่ได้หมายความว่า การที่สามารถประจักษ์แจ้งนั้นไม่ใช่การแทงตลอด เพราะว่าต้องเป็นการแทงตลอดขั้นต้น ที่จะทำให้สามารถแทงตลอดขั้นต่อๆ ไปได้ แต่ถ้าไม่มีขั้นต้นที่แทงตลอด ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมไม่ได้ปรากฏ ตามความเป็นจริง ซึ่งไม่มีเราในที่นั้น แล้วไม่มีอย่างอื่นเลย นอกจากสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งปัญญาไม่มีความสงสัย ไม่มีความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏชัดเจน เพราะฉะนั้นขณะนั้นภาษาบาลีก็ใช้คำว่า “ปฏิเวธ” แทงตลอด เราจำเป็นต้องมานั่งคิดไหมว่า ตรงนั้นใช่ ตรงนี้ไม่ใช่ ถ้าเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม
ที่มา ...