ธรรมซึ่งเกิดดับ ก็คิดว่าเที่ยง และยึดถือว่าเป็นเรา
ผู้ฟัง คือฟังอยู่ทุกวัน ทีแรกก็เข้าใจว่าตัวเองละกิเลสได้แล้ว ทุกอย่างละได้แล้ว จริงๆ แล้วเปล่าเลยค่ะ ยังอยู่เหมือนเดิมเลยค่ะ
สุ. นั่นซิคะ แล้วทำไมไปคิดอย่างนั้นได้อย่างไร ละได้แล้ว ไม่ทราบละอะไร
ผู้ฟัง บางครั้งก็ข่มได้ ก็เลยเข้าใจว่า ละได้แล้ว
สุ. นี่คือเห็นประโยชน์ของการฟัง ฟังที่จะได้รู้ความจริง เข้าใจความจริงว่า แท้จริงละไม่ได้เพราะอะไร
ผู้ฟัง ยังไม่เข้าใจจริงๆ ค่ะ
สุ. ถูกต้อง เพราะฉะนั้นไม่ใช่ไปแสวงหาหนทางอื่น ใช่ไหมคะ นอกจากฟังแล้วเริ่มเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง ที่ว่าจิตอาศัยทวารทั้ง ๖ เกิด แต่ทีนี้ก็ยังข้องใจว่า แล้วอรูป จิตไปอยู่ตรงไหน
สุ. ตอนนี้อรูปพรหมอยู่ที่ไหน ไม่ทราบถามถึงสิ่งที่ไม่ทราบ แต่จิตคืออะไร มีจริงๆ ใช่ไหม เป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้นยากไหมที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริง แต่ไม่มีรูปร่างใดๆ ปรากฏให้เห็นเลย ถ้ามีรูปร่างปรากฏก็พอจะเห็นได้ เสียงมีจริง ก็จะปรากฏให้รู้ได้เมื่อได้ยิน กลิ่นมีจริง ก็พอปรากฏให้รู้ได้ ทั้งๆ ที่ไม่เห็น แต่ก็ปรากฏให้รู้ได้ว่า สภาพนั้นมีจริง เป็นกลิ่น รสทั้งหลายมีอยู่ในมหาภูตรูป ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่มีที่ไหนที่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แล้วไม่มีรส แต่แม้กระนั้นรสก็ไม่สามารถจะปรากฏได้ ถ้าไม่มีชิวหาปสาท คือ ลิ้นซึ่งเป็นรูปสามารถกระทบกับรส รสจึงปรากฏได้ แต่มองไม่เห็น แต่ก็ยังปรากฏให้รู้ว่ามีได้ เพราะเป็นรูป เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว รูปร่างเป็นอย่างไรคะ เย็น รูปร่างเป็นอย่างไร ร้อน รูปร่างเป็นอย่างไร
ผู้ฟัง ก็ไม่มี
สุ. แข็ง รูปร่างเป็นอย่างไร
ผู้ฟัง แข็งก็ไม่มี
สุ. ค่ะ มีลักษณะที่แข็ง แต่จะมีรูปร่างเป็นสีสันวัณณะต่างๆ ไหม ไม่ใช่เลย
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้สิ่งที่มีจริง มองไม่เห็น แต่ยังปรากฏได้ ทำให้รู้ได้ว่า มี แต่จิต เจตสิกซึ่งเป็นนามธาตุ แม้มีจริง ก็ไม่ได้ปรากฏเหมือนอย่างรูปสีสันวัณณะทางตา ไม่เหมือนเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วจะรู้ได้ยากไหม เมื่อเป็นนามธรรม
เมื่อเข้าใจอย่างนี้ จะคิดถึงอรูปพรหม ก็เป็นจิต เจตสิก เพราะไม่มีรูปในภูมินั้น แต่ว่าเป็นภูมิซึ่งเกิดโดยไม่ต้องอาศัยรูป ลองคิดถึงความห่างไกล เราชินที่จะอยู่ในโลกนี้ มีทั้งรูปทางตาปรากฏ มีเสียง มีกลิ่น มีรสปรากฏ แต่เวลาที่ไม่มีรูปต่างๆ เหล่านี้เลยสักรูปเดียว ทั้งหมด ๒๘ รูป ไม่มีเลย ภาวรูปไม่มี หทยรูป ไม่มี รูปทั้งหมดไม่มีเลย แต่นามธาตุหรือนามธรรมก็มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น โดยไม่ต้องเดือดร้อนกับรูปเลย เพราะว่าไม่มีรูปที่จะต้องเดือดร้อน
ถ้าไม่มีความเข้าใจจริงๆ เราสามารถที่จะรู้ไหมว่า ธาตุอย่างนั้นมีได้ เมื่อมีเหตุปัจจัย เพราะว่านามธรรมไม่ใช่รูปธรรม จะเอารูปใดๆ มาเป็นนามธรรมสักรูปเดียวไม่ได้ รูปที่มองไม่เห็น ก็ไม่ใช่นามธรรม เพราะเหตุว่ารูปเป็นธาตุซึ่งมีจริง แต่ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย
เพราะฉะนั้นรูปกับนามตามความเป็นจริง ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องเกิดร่วมกันเสมอไป หรือว่าอาศัยกันเสมอไป มีเวลาที่นามธรรมจะเกิด โดยไม่ต้องอาศัยรูปใดๆ เลยทั้งสิ้น คือ ในอรูปพรหมภูมิ ซึ่งเป็นผลของอรูปฌานกุศล ซึ่งเป็นผลของการอบรมเจริญความสงบ จนกระทั่งความมั่นคงของความสงบปรากฏเป็นสมาธิ ระดับแม้ถึงขั้นปฐมฌาน ฌานแรกที่เป็นอัปปนาสมาธิ ก็มีข้อความกล่าวไว้ว่า ไม่พึงคิดว่า ลักษณะนั้นเป็นอย่างไร เพราะไม่ถึง อะไรๆ ก็ตามที่ไม่ได้ปรากฏที่ยังไม่ถึง จะไปคิดอย่างไรก็ต้องคิดไม่ออก ใช่ไหมคะ อกุศลจิต โลภะ รู้ไหมคะ หรือมีใครบอกว่าไม่รู้ รู้นะคะ โทสะ รู้ไหมคะ
ผู้ฟัง รู้ค่ะ
สุ. แล้วเวลาที่สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ รู้ไหม
ผู้ฟัง รู้ค่ะ เวลาสงบก็รู้ค่ะ
สุ. รู้โดยชื่อ หรือว่ารู้โดยอะไร หรือโดยต้องถาม
ผู้ฟัง โดยชื่อค่ะ และก็ต้องถามด้วย
สุ. ค่ะ เพราะฉะนั้นยังไม่ใช่ความรู้จริงๆ เพราะฉะนั้นความรู้มีหลายขั้น รู้จริงๆ ต้องถามใครไหม
ผู้ฟัง ไม่ต้องค่ะ
สุ. ไม่ต้องถาม เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่รู้ลักษณะของจิตที่สงบ ฟัง เริ่มที่จะเห็นความต่างว่า ขณะที่สงบ ไม่ใช่ขณะที่มีโลภะ โทสะ โมหะ สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ สงบจากอกุศล เป็นกุศล ซึ่งก็ยากที่จะบอกได้ เพราะว่าเกิดสลับกับอกุศลอย่างรวดเร็วมาก แต่จากการฟังก็จะรู้ได้ว่า ขณะใดที่เป็นไปในการให้ สามารถสละสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น ขณะนั้นจิตต้องสงบจากความติดข้องในสิ่งนั้น จากความตระหนี่ ความหวงแหน จึงสามารถจะสละได้ แต่เร็วมาก เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับเร็วมาก แม้ในขณะที่กุศลจิตเกิดให้ ก็ยังมีอกุศลจิตเกิดต่อ สืบต่อได้อย่างรวดเร็ว
เพราะฉะนั้นการที่จะรู้จริงๆ ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง แต่ด้วยสติสัมปชัญญะที่สามารถรู้ตรงลักษณะที่ปรากฏ แล้วก็มีความเห็นที่ถูกต้องขึ้น
ด้วยเหตุนี้การฟังธรรม ไม่ได้ฟังสิ่งที่ไม่มีจริง แต่สิ่งที่มีจริงทั้งหมด และไม่เคยรู้ว่า เป็นธรรมซึ่งเกิดดับ ก็คิดว่าเที่ยง และยึดถือว่าเป็นเรา เป็นเขา เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ จนกว่ามีการฟัง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจของผู้ฟังเอง ไม่ใช่เป็นความเข้าใจของคนอื่นเลยทั้งสิ้น ไม่ใช่เป็นความเข้าใจของพระสาวก หรือของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งทรงแสดง แต่เป็นความเข้าใจของผู้ที่ฟัง ไตร่ตรองแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น และเป็นผู้ที่ตรงด้วย ที่จะไม่ผิด หรือไม่สับสนเรื่องการคิดว่ารู้จักชื่อ โดยที่ไม่รู้ลักษณะของธรรม
อันนี้ก็เป็นสิ่งซึ่ง ถ้าฟังเพื่อเข้าใจ ประโยชน์ก็คือจะเข้าใจขึ้น และจะคลายความติดข้องที่เคยยึดถือสภาพธรรม เพราะความไม่รู้ได้
หมดความสงสัยเรื่องอรูปพรหมหรือยังคะ
ผู้ฟัง หมดแล้วค่ะ
สุ. แต่ไม่สามารถจะรู้ได้
ผู้ฟัง ใช่ค่ะ แล้วอสัญญสัตตาพรหมกับอรูปพรหมนี่ต่างกันอย่างไรคะ
สุ. ค่ะ ชื่อนะคะ หมายความว่าอะไรคะ
ผู้ฟัง ถ้าสภาวธรรมนั้นไม่มีจริง ชื่อที่ต่างกันก็ไม่มี เพราะการที่จะใช้ชื่อบัญญัติเพื่อให้รู้สภาพที่มีที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นถ้าใช้คำว่า “อรูปพรหม” ไม่ใช่กามาวจรภูมิ ที่เต็มไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือรูปพรหม ก็ยังเป็นผู้อบรมเจริญความสงบถึงระดับขั้นที่ไม่ติดข้อง ระงับความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ก็ยังมีรูป จึงเป็นรูปพรหม
เพราะฉะนั้นเวลาได้ยินคำว่า “อสัญญสัตตา” ไม่ใช่ข้ามไป จำชื่อไว้ และสงสัยว่าเป็นอย่างไร แต่ถ้าเข้าใจความหมายของคำนั้น ก็จะหายสงสัยด้วย
เพราะฉะนั้นไม่ใช่ข้ามไป ต้องละเอียด ที่ว่าเมื่อได้ยินแล้ว จะเข้าใจได้ ก็เพราะเหตุว่าคำนั้นแสดงถึงความจริงของสภาพธรรมนั้น
ที่มา ...