ทำความเห็นให้ตรง


    อ.นิภัทร การรู้ธรรม เราจะต้องรู้ว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใครทั้งนั้น ที่เราเดือดร้อน เพราะเราเอาธรรมมาเป็นเรา ไม่ศึกษาธรรมให้เข้าใจ ก็ไม่เห็นประโยชน์ ใช้ชีวิตวันหนึ่งๆ ในโลกไปโดยไร้สาระ ชีวิตนี้น้อย แร้นแค้น และเต็มไปด้วยทุกข์ เพราะฉะนั้นเราจะทำชีวิตอันน้อย แร้นแค้นนี้ให้มีสาระ ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร ก็ด้วยการเข้าใจธรรม เพราะว่าถ้าเข้าใจธรรม เราจะเห็นว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ควรที่จะไปยึดถือว่าเป็นเรา เป็นคน เป็นสิ่งของ ที่ยึดถือนั้นเป็นความเข้าใจของชาวโลก ถ้าในฝ่ายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ขัดกับความเห็นของชาวโลก แต่ว่าเป็นความจริงที่เราต้องรู้ต้องเข้าใจ ถ้าเรารู้ เราเข้าใจ ก็จะเห็นคุณค่าของพระศาสนา เห็นคุณค่าของพระธรรม แล้วจะฟังพระธรรมได้ตลอด ไม่มีเบื่อ ยิ่งดื่มด่ำซาบซึ้ง ยิ่งฟังเท่าไรยิ่งดี

    สุ. ขอสนทนาตรงนี้นิดหน่อย เพราะว่าการฟังธรรมก็มีประโยชน์ อย่างที่ได้ฟังเมื่อกี้นี้ ทุกคนได้ยินคำว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ถูกต้องไหมคะ มีความเห็นตรง หรือฟังเพื่อที่จะเป็นปัญญาที่สามารถรู้จริงๆ ว่า ขณะนี้เป็นธรรม

    ถ้าไม่ได้ยินคำนี้เลยว่า ทุกอย่างเป็นธรรม มีการที่ปัญญาจะสามารถเข้าถึง หรือสามารถถึงลักษณะของธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน แต่ไม่ใช่เพียงฟัง รู้แล้ว หรือว่าเข้าใจจริงๆ เพราะประเดี๋ยวก็ถามอีก เพราะไม่แน่ใจว่า เป็นธรรมหรือเปล่า ทั้งๆ ที่ได้ยินได้ฟังว่า ทุกอย่างที่มีจริง เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับเมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว ขณะนั้นเป็นความเข้าใจระดับไหน เป็นทิฏฐุชุกรรม เริ่มมีความเห็นตรง เพื่อที่จะได้ฟังต่อไป เข้าใจให้ถูกต้องยิ่งขึ้น ขณะนั้นผู้นั้นก็จะรู้ว่า กำลังเข้าใจ เพราะว่าลักษณะของปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น แต่ในขณะที่เริ่มต้น เพิ่งจะได้ยินได้ฟัง หรืออาจจะไปอ่านข้อความไหนก็ได้ อ่านแล้วก็ผ่านไป เพราะว่าไม่ได้พูดอย่างนี้ซ้ำกันทั้งหน้า ก็มีข้อความอื่นด้วย เพราะฉะนั้นข้อความนี้ก็เพียงได้ยินแล้วก็หมดไป ขณะนั้นมีความเห็นตรงระดับไหน

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า บางคนไม่มีแม้แต่ทิฏฐุชุกรรม ที่จะเห็นตรง ได้ยินคำว่า “อนัตตา” ก็บอกว่า อัตตาก็มี อย่างนี้จะเห็นตรงไหมคะ ก็เห็นไม่ตรง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แม้ว่าเป็นความจริง แต่ขึ้นอยู่กับขณะนั้น จิตขณะนั้นกระทำความเห็นให้ตรง จิต และเจตสิกที่เกิดขณะนั้นเห็นตรงตามที่ได้ฟัง หรือว่ายังไม่ได้เห็นตรงตามที่ได้ฟัง และกว่าจะมีความเข้าใจในคำนี้จริงๆ ก็ต้องเป็นการฟัง และค่อยๆ เข้าใจขึ้นจากคำที่ได้ยิน และจากสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่าจะรู้ได้ว่า ไม่ปฏิเสธเลย ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ ได้ยินคำว่า “สิ่งที่ปรากฏ” ไม่ใช่ตัวตน ทำความเห็นให้ตรง แต่ยังไม่สามารถจะเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้

    ด้วยเหตุนี้แม้ในการฟังธรรม ก็จะรู้ว่า เมื่อฟังแล้ว มีความเห็นตรง เจตสิกขณะนั้นเกิดเป็นจิตเป็นสภาพที่กระทำความเห็นให้ตรงหรือเปล่า อุชุกตา เป็นผู้ที่ตรงหรือเปล่า หรือว่าไม่ตรง

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องเฉพาะตัว อย่าคิดว่า แล้วเมื่อไรเราจะรู้ว่า ขณะไหนตอนไหนเป็นการทำความเห็นให้ตรง และมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือยัง หรือว่ายังไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย หรือว่ามีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยนิดหน่อย ยังไม่มีมากพอที่จะรู้ได้ ถ้าเป็นในลักษณะนั้น ศึกษาความเป็นอนัตตาด้วยความเป็นอัตตา คือ ตัวตนที่เหมือนจะศึกษาให้เข้าใจธรรม แต่ขณะนั้นไม่รู้หรอกว่า แท้ที่จริงขณะนั้นก็ไม่ใช่เราที่กำลังฟัง และค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ด้วยเหตุนี้จึงต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ทุกอย่างเป็นธรรม กำลังฟังเป็นธรรม ขณะที่เข้าใจก็เป็นธรรม ขณะที่ไม่เข้าใจก็เป็นธรรม ขณะที่เริ่มที่จะเห็นถูกด้วยกับสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ขณะนั้นก็เป็นธรรม

    อย่างนี้ก็คงจะเข้าใจความหมายของอุชุกตา และขณะใดที่เป็นความเห็นตรง ขณะใดมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ต้องให้คนอื่นบอกไหมคะ ฟังแล้วยังต้องให้บอกอีกหรือเปล่า หรือฟังแล้วเข้าใจว่า ธรรมคืออย่างนี้ จนกว่าปัญญาสามารถเข้าใจถูก เห็นถูกด้วยตัวเอง

    นั่นคือประโยชน์ที่ทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้บุคคลที่ได้ฟัง เจริญปัญญา

    ตอนนี้ไม่ต้องคิดถึงสติปัฏฐานแล้วใช่ไหมคะ หรือไม่ได้ฟังเพื่อที่จะให้สติปัฏฐานเกิดใช่ไหม แต่ฟังเพื่อเข้าใจ


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 326


    หมายเลข 12372
    26 ส.ค. 2567