หลงอยู่ในโลกของความคิดว่า มีทุกสิ่งทุกอย่างที่เที่ยง
คุณอุไรวรรณ รื่องความเห็นถูกนี่สำคัญมากในการศึกษาธรรม คุณนีน่าจะมีอะไรสนทนาในเรื่องนี้ไหมคะ เชิญค่ะ
คุณนีน่า เรื่องการสงสัย และมีความไม่สบายใจด้วย ดิฉันคิดว่าการสงสัยเป็นธรรม เป็นอะไรที่ยังไม่เข้าใจ เพราะว่ามีหลายอย่าง หลายจิต หลายเจตสิก
สุ. ค่ะ คุณนีน่าสงสัยว่า เวลาที่สงสัยนี่รู้สึกไม่สบายใจ ใช่ไหมคะ
คุณนีน่า ค่ะ เป็นปัจจัยให้
สุ. แล้วพระไตรปิฎกแสดงว่า วิจิกิจฉาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่สงสัยเกิดกับโมหมูลจิต ก็เลยสงสัยไม่เข้าใจใช่ไหมคะ
ทีนี้ ขณะนี้เห็นกับได้ยินเกิดพร้อมกันหรือเปล่า
คุณนีน่า ไม่พร้อมกัน
สุ. เพราะฉะนั้นวิจิกิจฉาเจตสิกจะไปเกิดกับโทสมูลจิตได้ไหม
คุณนีน่า ดิฉันรู้ในทฤษฎี
สุ. ทฤษฎีก็คือต้องให้รู้จริงตามที่ทรงแสดงไว้ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เหมือนกับขณะเห็นกับขณะได้ยิน โดยการฟัง รู้ว่าเป็นจิตต่างประเภท เกิดคนละขณะ ก็ต้องจริงอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ขณะนี้ปรากฏเหมือนกับพร้อมกัน เหมือนกับวิจิกิจฉาจะเกิดกับโทสะ ความไม่สบายใจได้ แต่ความจริงไม่ได้ค่ะ
คุณอุไรวรรณ มีคำถามเพิ่มเติมจากเมื่อกี้นี้ค่ะ
ขณะที่มีรูปหรือนามเป็นอารมณ์ จะหมายถึงขณะที่สติระลึกถึงรูป นามได้หรือเปล่า เช่น เมื่อรูปกระทบกับจักขุปสาท ก็รู้ว่าเป็นเพียงรูปที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หรือเมื่อเวลาโกรธ ก็รู้ว่าเป็นเพียงนามที่เป็นเพียงเจตสิก เกิดแล้วก็ดับไป การรู้รูป รู้นาม เป็นการเจริญวิปัสสนาใช่หรือไม่
สุ. วิปัสสนา หมายถึงขณะที่ปัญญาแทงตลอดรู้แจ้งความจริงของสภาพธรรมทีละอย่าง เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นปัญญา ขณะที่เพียงคิด ขณะนั้นไม่ใช่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา และก็คิดว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ได้รู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏทางตา
เพราะฉะนั้นมีการเห็น จริง แต่หลังจากที่จิตเห็นดับไปแล้ว ก็ไม่รู้ และคิดเรื่องราวต่างๆ เพราะฉะนั้นลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา จะรู้ได้ต่อเมื่อปัญญาสามารถที่จะรู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด สติในทีนี้หมายถึงสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นสติปัฏฐาน ซึ่งต้องเกิดเพราะเข้าใจถูกต้องว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่ปรากฏ แต่ว่าลักษณะที่เป็นธรรม ไม่ได้ปรากฏเลย ต่อเมื่อไรค่อยๆ คล้อยเข้าใจ แม้แต่ในขณะที่กำลังเห็น ไม่ต้องคิดเลย แต่รู้ว่า ลักษณะนี้ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่อะไรเลยทั้งสิ้น จนกว่าจะค่อยๆ ชิน แล้วจะเห็นได้ว่า ถ้ายังไม่มีความรู้จริงๆ ก็จะสงสัย แล้วก็จะพยายาม เหมือนกับจะคิด คิด ไม่มีใครห้ามเลย ไม่ใช่ว่า อย่าคิดนะ ให้รู้นะ ว่าขณะนี้ลักษณะที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างนี้ เป็นรูปชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ห้ามคิด และไม่ใช่คล้อยไปคิดตามคำที่พูด แต่ให้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า คิด ไม่ใช่เห็น คิดมีจริงๆ คิดไม่ใช่ได้ยิน คิด ไม่ใช่เสียง คิดไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ คิดเป็นคิด คิดหมดไหมคะ หมด คิดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย หรือว่าไม่มีปัจจัย คิดก็เกิด ไปคิดเรื่องอะไรที่ไม่เคยจำ ไม่เคยรู้เลยได้หรือเปล่า ก็ไม่ได้
เพราะฉะนั้นแม้ขณะต่อไปจะคิดอะไรก็ไม่รู้ ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ต้องไปนั่งเสียเวลา ใช่ไหมคะ เพราะว่ามีสภาพธรรมที่แล้วแต่จะเกิดขึ้นปรากฏ เมื่อปรากฏแล้วจะรู้หรือไม่รู้ ก็คือเมื่อไรค่อยๆ รู้ ไม่ใช่เมื่อปรากฏแล้วก็เหมือนอย่างที่พูดทุกอย่าง คือ สติสัมปชัญญะกำลังรู้ลักษณะนั้น และเมื่อสติปัฏฐานอย่างอื่นปรากฏ สติสัมปชัญญะก็รู้ลักษณะของสภาพธรรมอื่นต่อไป
นั่นคือสามารถที่จะรู้ว่าเป็นธรรมแต่ละลักษณะเพิ่มขึ้นแล้ว จะชินกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ลองคิดดู จริงหรือเปล่าว่า ไม่มีอะไรในสีสันวัณณะที่ปรากฏ เหมือนสิ่งที่ปรากฏในกระจก เห็นเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ความจริงไม่ได้มีสิ่งนั้นสิ่งนี้ในกระจกเลย ฉันใด ในฝันก็เห็นเป็นเรื่องเป็นราว ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้มีอะไรในฝันเลย นอกจากจิตคิด เดี๋ยวนี้ก็คือมีสิ่งที่ปรากฏแล้วจิตคิดเหมือนฝันซึ่งต่อเนื่องกันเลย
ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ พิจารณา เป็นความเข้าใจที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น นี่คือการอบรม นี่คือภาวนา นี่คือจีรกาลภาวนา และผู้นั้นก็จะรู้เองว่า หลงอยู่ในโลกของความคิดที่มีทุกสิ่งทุกอย่างที่เที่ยง แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้นเลย จากไป หมดไปทุกขณะ แล้วไม่กลับมาอีกเลย ขณะต่อไป จะเป็นคนนี้ต่อไป หรือว่าจะเป็นคนอื่นต่อไป แล้วก็มีชีวิตเป็นไปต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กี่ภพกี่ชาติก็ตามแต่ ปัญญาสามารถรู้ล่วงหน้าไหมว่า จะแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในชาติไหน มีรูปอะไร จะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือจะเป็นเสียง หรือจะเป็นกลิ่น หรือจะเป็นสภาพคิด หรือจะเป็นความรู้สึก บอกไม่ได้เลยค่ะ เพราะอะไรคะ เพราะทุกอย่างที่เกิด เกิดแล้วดับไป ไม่กลับมาอีกเลย คาดคะเนวาดไม่ได้ว่า ชาติหน้าจะเป็นอย่างไร จะมีอะไรปรากฏ จะเป็นสีสันวัณณะในโลกนี้ หรือในสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใด ก็ไม่รู้ว่า จะปรากฏเป็นอะไร แต่เห็นเป็นเห็น ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น คือ ฟังไปเป็นจีรกาลภาวนา จนกว่าจะรู้ว่า คลายการที่เห็นเป็นตัวตน เป็นอัตตานุทิฏฐิ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะมีความรู้ว่า เพียงเห็น และทุกอย่างที่เห็นนี่ก็ติดตามไปไม่ได้เลย คิดนึกก็ติดตามไปไม่ได้ ทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีก
ที่มา ...