ไม่มีใครปฏิบัติ เป็นแต่ธรรมเกิดขึ้นทำหน้าที่
ผู้ฟัง บางทีอาจจะถูกกับอัธยาศัยของเราก็ได้
สุ. ขณะนี้สภาพธรรมเกิดแล้วปรากฏตามการสะสม ซึ่งเป็นอัธยาศัย
ผู้ฟัง เป็นอยู่แล้วใช่ไหมครับ
สุ. เป็นอยู่แล้วทุกขณะค่ะ จะรู้ว่าอัธยาศัยอย่างไร ไม่ใช่ไปวาดภาพคิดเองว่า เราคงสะสมมาอย่างนี้ เราคงจะเป็นอย่างนั้น แต่ธรรมใดเกิดขึ้นปรากฏ นั่นส่องถึงอัธยาศัยที่ได้สะสมมา เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย
ผู้ฟัง คนที่ไม่ได้นั่งฟังอย่างธรรมดาๆ ก็เปลี่ยนไปเป็นวิธีที่ลำบากๆ อย่างนั้น เข้าป่าเข้าดง ไม่ถาม ไม่พูดกับใครอย่างนั้น
สุ. เปลี่ยนเมื่อไรคือผิดปกติเมื่อนั้น เพราะว่าสภาพธรรมเกิดแล้ว แล้วจะเปลี่ยนได้อย่างไร นอกจากเมื่อเกิดก็รู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม ที่สะสมมาก็เกิดเป็นอย่างนั้น
ผู้ฟัง คือคนอื่นไม่เห็นว่า ท่านเหล่านี้ผิดปกติหรือครับ ท่านอื่นๆ
สุ. จะเห็นได้อย่างไร ก็เป็นปกติของท่านแต่ละคน ท่านพระอานนท์ปกติเป็นอย่างไร
อ.นิภัทร ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งมีภิกษุที่ปฏิบัติอย่างนี้องค์เดียว ใครอย่าไปเอาอย่างเข้านะ เอาอย่างไม่ได้
ผู้ฟัง ก็แสดงว่าผิดด้วยซิครับ
อ.นิภัทร ไม่ผิด ก็ปฏิปทาของท่านอย่างนั้น ไม่ได้หมายความว่าท่านทำโดยงมงาย ท่านมีความรู้ความเข้าใจ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติ ไม่ใช่เข้าป่าไปแสวงหาธรรม การปฏิบัติอย่าลืมว่า ไม่ใช่นั่ง ไม่ใช่นอน ไม่ใช่ยืน ไม่ใช่เดิน โดยอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งโดยเฉพาะ คือ ถ้ามีความเข้าใจธรรมดีแล้ว ธรรมเกิดตลอดเวลา ไม่ว่าจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะเหยียด จะคู้ จะก้ม จะแล จะเหลียว จะเดินหน้าถอยหลัง ธรรมมีอยู่ตลอดเวลา ถ้าเข้าใจแล้วขณะไหนก็ได้ คำว่า “ปฏิบัติ” หมายความว่า ธรรมที่เราฟังเข้าใจแล้วนั่นแหละเขาเกิดขึ้นทำหน้าที่ของเขา สมมติเราฟังเรื่องสติปัฏฐาน เข้าใจแล้ว เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติเกิด สติเกิดระลึกรู้สภาพธรรม รูปธรรมก็ดี นามธรรมก็ดี ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทางใดทางหนึ่งแล้วแต่ การที่สติเกิดระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางทวารต่างๆ เขาเกิดขึ้นทำหน้าที่ของเขา เรียกว่า ธรรมปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีใครปฏิบัติ ถ้าขืนไปมีคนปฏิบัติ นาย ก. นาย ข. หรือภิกษุ ก. ภิกษุ ข. ไปปฏิบัติ ก็แสดงว่าเข้าใจธรรมไม่ตรง คลาดเคลื่อน เพราะว่าไม่มีใครปฏิบัติ เป็นแต่ธรรมเกิดขึ้นทำหน้าที่ ในทางอกุศลธรรมก็เหมือนกัน เวลาเราโกรธ ต้องปฏิบัติความโกรธหรือเปล่า เวลาโกรธ ก็ทำหน้าที่ของโกรธนั่นแหละ โกรธเกิดขึ้นก็เป็นฟืนเป็นไฟ อาจใช้อาวุธใช้ไม้ตีเขา หรืออาจจะด่าเขาสารพัดสารเพ แปลว่าเราปฏิบัติความโกรธหรือเปล่า โกรธเกิด ก็ทำหน้าที่โกรธ แล้วแต่จะแสดงอาการต่างๆ ในทางบุญกุศล การเจริญสติปัฏฐานก็เหมือนกัน ไม่ต้องไปทำท่า ไม่ต้องไปทำที ไม่ต้องไปเดินแบบนี้นะ นั่งแบบนี้นะ อะไรอย่างนี้ ไม่ต้องไปอย่างนั้น เพราะทำอย่างนั้น ทำอย่างไรๆ ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ ถ้าเราไม่เข้าใจธรรม และไม่เข้าใจว่า สติเกิดเป็นอย่างไร หลงลืมสติเป็นอย่างไร ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ แล้วจะไปทำให้สติเกิด จะไปทำให้ธรรมเกิด ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้
ที่มา ...