ลักษณะของสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่ความเป็นเราจะดู-1


    ผู้ฟัง ขอเรียนถามอาจารย์อรรณพนะคะ ธรรมไม่อยู่ไกลเลย อยู่ที่ตัวเราเอง ก็เลยศึกษาว่า ไม่จดจ้อง เมื่ออารมณ์เกิดขึ้นก็พิจารณาว่า มีอารมณ์โกรธเกิดขึ้น มีการเกิดดับเป็นอนัตตา แล้วทำให้ละคลายจากอารมณ์นั้น และคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้จิต เจตสิกได้สะสมในการรับรู้ต่อๆ ไป

    อ.อรรณพ อันนั้นคือเป็นความคิด ไม่ใช่เป็นการระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรม จริงๆ ก็เป็นการจดจ้อง มุ่งไปที่จะรู้อารมณ์ในชีวิตประจำวัน ใช่ไหมครับ กราบเรียนท่านอาจารย์ เพราะว่าอธิบายยากครับ

    สุ. ธรรมก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวจริงๆ ตามการสะสม เพราะฉะนั้นขณะที่เขารู้สึกว่า มีความก้าวหน้า และมีการรู้หรือเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังดู เป็นเขา หรือว่าเป็นธรรม การจดจ้องไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่ปรากฏให้รู้ แต่เป็นสภาพที่กำลังดู สภาพธรรมขณะนี้เกิดแล้ว ดับแล้วด้วย ถ้าไม่เข้าใจลักษณะของสติสัมปชัญญะว่า เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และไม่ใช่ตัวตนจะดูค่ะ แต่เป็นการรู้ลักษณะแต่ละลักษณะ ซึ่งปกติเป็นอย่างขณะนี้ ไม่ได้เป็นอย่างอื่นเลย

    เพราะฉะนั้นถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ก่อนอื่นก็จะต้องไตร่ตรองว่า ปัญญาสามารถที่จะรู้ เห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏหรือเปล่า นี่คือความมั่นคงในความเป็นปัญญาที่ได้อบรมแล้ว เจริญแล้วว่า สามารถจะรู้ความจริงของสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏ ซึ่งใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ ทั้งสภาพธรรมที่เกิดแล้วปรากฏ และสภาพธรรมที่เป็นสติที่กำลังรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องเป็นความละเอียดจริงๆ มิฉะนั้นแล้วก็จะเหมือนกับว่า เขามีความก้าวหน้า สามารถที่จะดูสิ่งต่างๆ ซึ่งขณะนั้นใส่ชื่อลงไปว่า เป็นธรรม แต่ว่าความเป็นธรรมต้องหมายถึง สภาพธรรมซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย ในขณะนี้เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ปัญญา และสติสามารถรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ หรือจะไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แล้วเข้าใจว่า ได้ทำการดู จนรู้ลักษณะของธรรม แล้วขณะนี้เป็นธรรมหรือเปล่า เป็นตัวเราหรือเปล่า เป็นสิ่งที่มีลักษณะแต่ละอย่าง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่สติสัมปชัญญะ ก็เป็นเราอยู่ตลอดเวลา

    เพราะฉะนั้นมีความพอใจที่จะไม่รู้ความจริงที่มีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย แต่มีความเข้าใจว่า ได้รู้ ลักษณะของสภาพธรรม หรือความจริง หรือชื่อ หรืออะไรก็ตามแต่จะคิดในขณะนั้นว่า ได้รู้ลักษณะนั้นๆ แล้ว แต่ถ้ารู้ลักษณะจริงๆ ต้องรู้ลักษณะซึ่งไม่ใช่ตัวตน แล้วก็เกิด แล้วก็ดับด้วย และขณะที่กำลังรู้ก็บังคับบัญชาไม่ได้เลยว่า จะรู้สิ่งใด ขณะนี้มีสภาพธรรมที่เกิดแล้ว ปรากฏ แล้วแต่สติจะเกิดหรือไม่เกิด แต่สภาพธรรมที่เกิดแล้วก็มีปัจจัย เกิดแล้วก็ดับไปอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ไปบังคับให้ดู ให้รู้ แต่หมายความว่า ให้มีความเข้าใจถูกต้องว่า ปัญญาสามารถจะรู้ได้ไหม ถ้าเขาคิดว่า ปัญญาไม่สามารถจะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นปัญญาหรือเปล่า

    เรียกชื่อว่า “ปัญญา” แต่จะเป็นปัญญาได้อย่างไร ในเมื่อไม่ได้เห็นถูกตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ และการที่จะมีความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมได้ ต้องมีสติสัมปชัญญะ สติสัมปชัญญะไม่ใช่ใครเลย ไม่ใช่เป็นเราดู แต่ขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิด รู้เลยว่า ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างมั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรม ซึ่งเกิดแล้วปรากฏ ก็จะไปทำอย่างอื่น เพื่อจะไปรู้สิ่งอื่น แต่ว่าไม่ได้มีความเห็นตามความเป็นจริงว่า ขณะนี้เป็นธรรม แม้ว่าจะได้ฟังมาโดยตลอดว่า ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม แต่ความเข้าใจผิดก็ทำให้ไม่เกิดวิริยะ ซึ่งไม่ใช่เรา แล้วก็ความเห็นถูกที่จะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นสัมมาวายามะ ต่างกับมิจฉาวายามะ ขณะที่เพียรจะไปรู้สิ่งซึ่งดู เป็นตัวเราที่ดู แต่ไม่ใช่เป็นสัมมาวายามะ ซึ่งเกิดเพราะขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏแล้วยังไม่รู้ ก็ฟังจนกว่าจะมีความเข้าใจถูกต้องของขณะที่ไม่ใช่สติสัมปชัญญะ แต่เป็นสติขั้นฟังเข้าใจ และเมื่อรู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะ โดยขั้นเข้าใจแล้ว ก็เป็นปัจจัย เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่ง สติสัมปชัญญะจะเกิดเมื่อไร ใครบอกได้ ไม่ใช่เราดูเลย นี่ก็เป็นความต่างกัน

    เพราะฉะนั้นธรรมจึงเป็นเฉพาะแต่ละบุคคลที่ฟัง และมีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ตรง ถูกต้อง หรือว่าคลาดเคลื่อน หรือว่าด้วยความเป็นตัวตน มิฉะนั้นแล้วก็คงจะไม่ยาก ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่การจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ปัญญาต้องเจริญตามลำดับ ถ้าไม่มีขั้นฟัง ขั้นเข้าใจจริงๆ ก็ต้องมีความเป็นเราซึ่งต้องการจะรู้อริยสัจธรรมอย่างมาก จนกระทั่งบางคนก็บอกว่า เร็วที่สุดที่จะเร็วได้ ยิ่งเป็นชาตินี้ยิ่งดี นั่นอะไรคะ โดยไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ในลักษณะที่เป็นธรรม แม้แต่สติสัมปชัญญะก็ไม่มี เพราะไม่รู้ และก็มีความเห็นผิด คือ มีความเข้าใจว่าจะต้องดู จึงจะเห็น แต่ขณะนี้สภาพธรรมปรากฏแล้ว อวิชชาไม่สามารถเห็นความจริงของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้นอวิชชากับปัญญา ต่างกันมาก ขณะใดที่มี เราดู ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาแน่นอน


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 332


    หมายเลข 12399
    26 ส.ค. 2567