จะมีความมั่นคงในกรรม ต้องเข้าใจอย่างไร


    อ.กุลวิไล พอดีมีคำถามฝากมาเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ว่า การศึกษาธรรมให้เข้าถึงความมั่นคงในกรรม ต้องเข้าใจอย่างไร เพราะดิฉันมักจะถูกผู้อื่นเบียดเบียนอยู่บ่อยๆ ซึ่งจะเกิดโทสะอยู่ตลอดเวลา

    สุ. ตรงตลอดกาล ก็คือศึกษาให้รู้ว่า ธรรมเป็นอนัตตา แต่ต้องรู้ความหมายของคำว่า “อนัตตา” คือไม่ใช่ตัวตน ต้องการที่จะรู้เฉพาะอย่างเป็นตัวตนหรือเปล่า แล้วต้องการที่จะเข้าใจเรื่องที่จะทำให้ใจสบาย เป็นตัวตนหรือเปล่า เพราะฉะนั้นก็ตรงกันข้ามกับความหมายของคำว่า “อนัตตา”

    การศึกษาธรรม ไม่ใช่เพื่อที่จะเอาประโยชน์ไปแก้ไขสถานการณ์ด้วยความเป็นตัวตน แล้วก็คิดว่า ได้ประโยชน์แล้วจากการฟังธรรม ชีวิตดีขึ้น ครอบครัวดีขึ้น ตัวตนทุกสิ่งทุกอย่างสบายขึ้น นั่นไม่ใช่การศึกษาธรรม การศึกษาธรรม คือ เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม นี่คือการศึกษาธรรม

    อ.กุลวิไล แล้วการที่จะมีความมั่นคงในเรื่องของกรรม ก็ต้องมีความเข้าใจถูก เห็นถูก ในสภาพธรรมที่มีจริง เพราะถ้าไม่ใช่ความเห็นถูกที่เป็นปัญญาแล้ว ความมั่นคงในกรรม และผลของกรรมไม่มีแน่นอน อาจจะเป็นเพียงขั้นเริ่มต้นที่ว่า ฟังแล้วคล้อยตามกัน แต่ไม่ใช่การประจักษ์สภาพธรรมหรือเห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    สุ. ค่ะ ถ้าเป็นเราอยู่ มั่นคงไหมคะ เราทำดีมาตลอดชีวิตเลย กรรมอยู่ที่ไหน ไม่เห็นให้ผลเลย ทำความดีแล้วได้รับสิ่งที่ไม่ดี ก็ไม่มีความเข้าใจอีกว่า จริงๆ แล้วเป็นอนัตตา ไม่สามารถเลือกได้ และเป็นธรรม ที่ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ด้วย

    ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็เลิกคิด แต่เริ่มที่จะรู้เหตุ และผล และสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่มีใครสามารถเลือกหรือบันดาลให้อะไรเกิดขึ้นในชีวิตได้เลย ถึงแม้ว่ามีความเห็นถูก ไม่ให้คนอื่นกล่าวร้ายได้ไหมคะ ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องถึงความเป็นอนัตตาว่า บังคับบัญชาไม่ได้ แต่ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตามที่เกิด มีปัจจัยแล้วจึงเกิด อันนี้ก็เป็นของธรรมดา ที่จะเห็นความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน มิฉะนั้นแล้วก็จะมีโลภะ มีความอยาก มีความต้องการ ไม่อยากให้ใครกล่าวร้าย ไม่อยากให้ใครเบียดเบียน แต่ว่าบังคับได้ไหม แค่คำเดียวที่ถาม และก็ไตร่ตรอง ก็จะทำให้เห็นได้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ที่เมื่อกี้ท่านอาจารย์บอกว่า การศึกษาธรรม ไม่ต้องหวังว่าจะเป็นคนดี หรือหวังผล แต่จริงๆ ถ้าเราเข้าใจแม้เพียงเรื่องราวของธรรม ยังไม่รู้จักตัวจริงของธรรม อย่างตัวหนูเองสมัยก่อนนี้โมโหบ่อยมากกว่าปัจจุบัน เมื่อฟังธรรมเข้าใจแม้ขั้นเรื่องราวแล้ว จริงๆ ก็คือธรรม ไม่มีตัวตน ก็ปรุงแต่งไป ก็ทำให้โมโหน้อยลง เมื่อฟังธรรมมากๆ สถานการณ์คล้ายๆ กัน ก็ทำให้เราใจเย็นมากกว่าสมัยก่อน อันนี้ก็คิดว่า เป็นอะไรที่เราไม่หวังผล แต่ว่าอาจจะเป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งจิตเราให้มีอกุศลน้อยลงกว่าก่อนศึกษาธรรม

    สุ. ละชั่ว ไม่ทำชั่ว ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ใช่ค่ะ

    สุ. บำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อมหรือเปล่า แล้วก็ชำระจิตให้บริสุทธิ์ เพียงแค่ละชั่ว พอไหม แล้วทำความดีวันหนึ่งๆ พอไหม หรือควรชำระจิตในบริสุทธิ์จากอกุศลด้วย

    คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเลือกเอาแค่นั้นหรือ คือ แค่ละชั่ว หรือทำความดี ที่เราฟังธรรม เพื่อละความไม่รู้ และการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา จะสุข จะทุกข์ อย่างไรๆ ก็ตาม เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เข้าใจความจริง และก็ไม่หวั่นไหว ทุกคนตายแน่นอน ก่อนตายจะเข้าใจธรรม จะเป็นคนดีหรือทำดีก็แล้วแต่ หรือจะทำสิ่งที่ชั่วร้าย ไม่ดี แล้วก็ตายไป

    เพราะฉะนั้นยังไม่ตาย ก็เป็นโอกาสที่ได้เข้าใจธรรมด้วย และการเข้าใจธรรมก็เป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำที่ดีทั้งกาย ทั้งวาจาเพิ่มขึ้น โดยที่รู้เหตุผลว่า ไม่ใช่เรา แต่เราอยากเป็นคนดีโดยยังเป็นเราอยู่ หรือแม้ว่าขณะที่เป็นกุศลก็ไม่ใช่เรา ก็มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น จนสามารถรู้ว่า กว่าจะได้ยินได้ฟังคำสอนที่สามารถให้เกิดปัญญาที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน ยาก และก็นาน ไม่รู้ว่า ต่อไปจะเกิดที่ไหน อีกกี่ชาติ มีโอกาสจะได้ยินได้ฟังอีกหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้นเมื่อยังไม่สิ้นชีวิตไป ก็ควรสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ซึ่งก็เป็นความดี ไม่ใช่ไม่ดี แต่ว่าเป็นความดีด้วยความเข้าใจถูกต้องว่า ไม่ใช่เรา และไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นต้องไม่ลืมเรื่องไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน และเป็นอนัตตา

    สุ. ค่ะ นี่คือคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ไปสอนให้ใครเป็นอัตตา หรือว่ายังคงเป็นตัวตนอยู่ เพราะว่าความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 335


    หมายเลข 12419
    26 ส.ค. 2567