อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ
หลับแล้ว ไม่ให้ตื่น ได้ไหมคะ ไม่ได้ อนัตตาหรือเปล่า ให้เห็นความจริงว่า ไม่ว่าใครก็ตามจะมีแต่ปฏิสนธิกับภวังค์ตลอดไป แล้วก็จุติ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าในจิตที่ทำกิจปฏิสนธิ มีทุกอย่างที่ประมวลมาในอดีตอนันตชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยสะสม ที่จะเป็นปัจจัยให้จิตเกิดสืบต่อทำกิจตามสมควร เช่น เวลาที่หลับสนิท ฝันไหมคะ ไม่ฝัน แต่ขณะที่หลับ ฝันไหมคะ ฝัน ฝันเป็นเห็นหรือเปล่า ได้ยินจริงๆ หรือเปล่า แต่การสะสม อย่างวันนี้จะมีการเห็น การได้ยินอะไรก็แล้วแต่ จะเป็นปัจจัยให้ฝันได้ แต่มีใครรู้ล่วงหน้าไหมคะว่า จะฝันถึงอะไร ไม่มีเลย แสดงความเป็นอนัตตาหรือเปล่า
นี่คือฟังให้เข้าใจความเป็นอนัตตาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นธาตุ เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าสามารถเข้าใจละเอียดขึ้นๆ แม้ในขั้นการฟัง ก็มีความเข้าใจที่มั่นคงว่า ธรรมไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน บังคับให้ตื่นก็ไม่ได้ จะตื่นเมื่อไร ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครไปกำหนดกะเกณฑ์ด้วยความเป็นตัวตน ด้วยความเป็นเราได้ แต่ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งหมด
เวลาฝัน ทราบไหมคะว่า จิตอะไรฝัน เป็นจิตแน่ๆ เป็นจิตอะไรฝัน เพราะเหตุว่าธรรมเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เมื่อปฏิสนธิจิตขณะแรกดับไป เป็นปัจจัยให้จิตที่เป็นวิบากประเภทเดียวกันเกิดสืบต่อ ดำรงภพชาติ โดยที่ไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึกเลย
เพราะฉะนั้นระหว่างที่เป็นภวังคจิต จะไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น ไม่รู้ว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นการสืบต่อดำรงภพชาติ ซึ่งความเป็นไปของจิตต่อจากนั้น จะมีอีกมากมาย ซึ่งแต่ละคนก็ผ่านมาแล้ว เกิดมาแล้วมีอะไรบ้าง ไม่ใช่มีแต่เพียงปฏิสนธิ แล้วก็ภวังค์ แต่หลังจากนั้นแล้ว ก็จะมีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์
การสะสมของเราในวันนี้ ทำให้เกิดความคิดนึก แม้ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส ก็จริง แต่การที่เห็นแล้วจำ ได้ยินแล้วจำ ทั้งหมดก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดคิดนึกขึ้น
เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิสนธิจิตของแต่ละคนสะสมทุกสิ่งทุกอย่างในแสนโกฏิกัปมาแล้ว จะเอาไปทิ้งไว้ที่ไหน ถ้าไม่เป็นปัจจัยให้สิ่งที่ได้สะสมมาแล้ว มีปัจจัยที่จะเกิดเป็นจิตขณะต่อไป ที่จะทำให้มีการคิดนึกเกิดขึ้น มีใครไม่คิดบ้างคะ ไม่มีเลย แล้วคิดได้อย่างไร มาจากไหน ถ้าไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยมีสุขมีทุกข์ในสิ่งนั้น ก็คงจะไม่คิดถึงสิ่งนั้นเลย
เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า ขณะที่เป็นภวังคจิตก็จะมีการสะสม ที่สามารถทำให้มีการตรึก นึกถึงสิ่งที่เคยประสบมาแล้ว โดยที่ใครก็คาดล่วงหน้าไม่ได้เลยว่า จะนึกในลักษณะใด นี่จะกล่าวถึงทางใจก่อน เพราะเหตุว่าเมื่อมีภวังคจิต แล้วมีภวังคจิตตลอดไปไม่ได้ แต่จะมีการคิดนึกเกิดขึ้น เพราะการสะสมที่ได้สะสมมาแล้ว จะไปคิดนึกในสิ่งที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยรู้มาก่อนเลย เป็นไปไม่ได้ แต่ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า จะคิดอะไรในฝัน ขอกล่าวถึงขณะที่คิดนึก เพราะเหตุว่าเราจะใช้คำว่า ฝัน หรือไม่ฝันก็ตาม แต่ขณะนั้นกำลังคิดนึกถึงสิ่งที่ได้เคยรู้มาแล้ว แต่ว่าภวังคจิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยตามประเภท ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม อกุศลวิบากที่เกิดขึ้นจะมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยน้อยกว่าเวลาที่เป็นผลของกุศลกรรม
นี่คือเราทั้งหมดเลย เกิดมาก็ไม่รู้ว่า แม้แต่ขณะที่นอนหลับสนิท ก็ยังมีความต่างกันของจิตต่างๆ ที่ทำกิจปฏิสนธิ แล้วแต่ว่าแต่ละคนสะสมมา เกิดเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศลขั้นกามาวจระ คือเป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นจึงทำให้เกิดในสวรรค์ ในมนุษย์ เมื่อเป็นผลของกุศลกรรม และถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม แม้ว่าจะเป็นจิตที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ขณะนั้นก็มีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยต่างกับบุคคลที่เกิดเป็นมนุษย์
นี่คือแม้ขณะที่หลับสนิท ประเภทของจิตที่ทำกิจนั้นๆ ก็ยังต่างกัน
ด้วยเหตุนี้จากการที่กำลังหลับสนิท ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลย ความเป็นไปของธรรมก็คือว่า เมื่อเกิดแล้ว เป็นภวังค์แล้ว ต้องมีการรู้อารมณ์ทางตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย หรือใจ โดยที่ไม่มีใครสามารถรู้ล่วงหน้าว่า ขณะไหน เมื่อไร แต่ว่ามีปัจจัยพร้อมที่จะเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นก็ขอกล่าวถึงหลังจากภวังคจิต ดำรงภพชาติแล้ว จะมีการรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทวาร ถ้าเป็นการคิดนึกเรื่องราวทั้งวันที่สะสมมาแล้ว มีกำลังที่จะทำให้ภวังคจิตไหวเพื่อที่จะสิ้นสุ ที่จะไม่เป็นภวังค์อีกต่อไป
เพราะฉะนั้นกระแสภวังค์ที่เกิดดับสืบต่อ ซึ่งอุปมาเหมือนกระแสน้ำ ไม่มีใครสามารถรู้จำนวนได้ว่ามากแค่ไหน แต่ว่าภวังค์ขณะสุดท้ายที่จะไม่เป็นภวังค์อีกต่อไป ภาษาบาลีใช้คำว่า ภวังคุปัจเฉทะ หมายความถึงกระแสภวังค์ หรือภวังค์ขณะสุดท้าย จะใช้คำว่า ตัดกระแสภวังค์ก็ได้ ถ้าได้ยินคำว่า ภวังคุปัจเฉทะ เมื่อไร หมายความว่าเป็นภวังค์ต่อไปไม่ได้ ต้องเป็นวิถีจิต แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ แต่ก่อนจะถึงภวังคุปัจเฉทะ กระแสภวังค์ซึ่งเป็นภวังค์มาตลอด ก็จะมีขณะที่เกิดก่อนภวังคุปัจเฉทะ ๑ ขณะ เป็นภวังคจลนะ
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้จะเกิดการคิดนึกขึ้นมา จิตก็ต้องเป็นไปโดยความเป็นอนัตตาว่าจะต้องเกิดดับสืบต่อกัน จากภวังค์จนกว่าจะถึงวิถีจิต จะมีภวังคจลนะเกิดแล้วดับไป เริ่มไหวที่จะทิ้งอารมณ์ของภวังค์ มีอารมณ์ใหม่ตามกำลังที่ได้สะสมมา
เพราะฉะนั้นเมื่อภวังคจลนะดับไป ภวังค์ขณะต่อไป เป็นกระแสภวังค์สุดท้าย ภวังคุปัจเฉทะ เพราะฉะนั้นถ้าจำ ภวังค์ แล้วก็ภวังคจลนะ แล้วก็ภวังคุปัจเฉทะ เพื่อจะได้รู้ว่า ๓ ภวังค์ หมายความถึงว่า ที่เป็นภวังค์ก็ดำรงภพชาติ แต่พอถึงภวังคจลนะ เริ่มที่จะรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ แล้วเวลาที่เป็นภวังคุปัจเฉทะ ก็หมายความถึงว่า ขณะนั้นเป็นภวังค์ขณะสุดท้าย ซึ่งจิตต่อไปจะเป็นภวังค์อีกต่อไปไม่ได้
ที่มา ...