ปัญจทวาราวัชชนจิต มโนทวาราวัชชนจิต
แค่นี้ ไม่ทราบว่าเป็นชีวิตประจำวันที่เราเริ่มจะมองเห็นหรือเปล่าว่า เรามีความไม่รู้ระดับไหน ไม่รู้เลย เป็นเราโดยตลอด แต่ว่าตามความเป็นจริงเป็นความเป็นไปของวิญญาณ คือ เมื่อมีจิตเกิดขึ้น ก็จะต้องเป็นไปอย่างนี้แหละในภพหนึ่งชาติหนึ่ง
เพราะฉะนั้นสำหรับวิถีจิตแรกที่เรากล่าวถึงในคราวก่อน ก็กล่าวถึง ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มีอารมณ์ที่กระทบปสาทนั้นๆ เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ มี เป็นรูปๆ หนึ่ง ซึ่งจะต้องมีอยู่ในธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แต่ว่าไม่ได้ปรากฏ ถ้าไม่มีจักขุปสาทที่สามารถกระทบกับรูปนี้
นี่ก็คือไม่รู้เลยว่า แม้ในขณะเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ เป็นสิ่งที่มีจริง แล้วก็เป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นวัณณธาตุ สามารถปรากฏเป็นสีสันวัณณะต่างๆ เมื่อกระทบกับจักขุปสาท แล้วจิตเกิดขึ้นเห็น สิ่งนี้จึงปรากฏได้ แต่ก่อนเห็นจะต้องมีวิถีจิตแรก เพราะว่าวิถีจิตต้องเกิดขึ้นตามลำดับ จะเห็นทันทีไม่ได้ เมื่อรูปารมณ์ หรือวัณณะกระทบกับจักขุปสาท จะให้จิตเกิดขึ้นเห็นทันทีไม่ได้ ความเป็นไปของจิตที่เป็นอนัตตา ก็คือว่า เมื่อภวังคุปัจเฉทะ คือ ภวังค์ขณะสุดท้ายดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด ใช้คำว่า “ปัญจ” ๕ ทวาร คือ ทาง อาวัชชนะ คือ จิตนี้เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทาง แต่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ได้ลิ้มรส ยังไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตหรือเปล่า เป็น ภวังคจลนะเป็นวิถีจิตหรือเปล่า ไม่เป็น ภวังคุปัจเฉทะเป็นวิถีจิตหรือเปล่า ไม่เป็น ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตหรือเปล่า เป็น
เพราะฉะนั้นที่จะจำก็คือ วิถีจิตแรกสำหรับ ๖ ทวาร สำหรับปัญจทวาร คือ ทวาร ๕ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นจิตประเภทหนึ่ง ส่วนทางใจไม่ใช่ปัญจทวาราวัชชนจิต จะมาทำหน้าที่รู้อารมณ์ทางใจเป็นวิถีจิตแรก แต่ต้องเป็นมโนทวาราวัชชนจิต เพราะอะไรคะ ไม่ได้มีอารมณ์มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่จิตสามารถมีปัจจัยเกิดขึ้นรู้อารมณ์ เพราะเคยสะสมมา เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว มโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ปรากฏในขณะนั้น เพราะจิตทุกขณะต้องมีอารมณ์
ความต่างกันของปัญจทวาราวัชชนจิตกับมโนทวาราวัชชนจิตมีไหม โดยความเป็นอนัตตา ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่ใช่มโนทวาราวัชชนจิต เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็ต่างกัน สำหรับมโนทวาราวัชชนจิตมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นสภาพที่ ภาษาไทยจะใช้คำว่า เพียร ประคับประคอง หรือพยายาม อุตสาหะ แต่ให้ทราบว่าเจตสิกแต่ละลักษณะ แต่ละชนิด จะมีระดับของเจตสิกนั้นๆ ที่ต่างกันไป แม้แต่ปัญญา ความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ก็มีระดับความเห็นที่ถูกต้องยิ่งขึ้นต่างกันไปตามลำดับ เพราะฉะนั้นเจตสิกแต่ละประเภทก็มีกำลัง หรือมีความต่างกัน
สำหรับปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นโดยอาศัยการกระทบกันของรูปที่สามารถกระทบปสาท เช่น ถ้าเป็นเสียงกระทบกับโสตปสาท ถ้าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ได้กระทบโสตปสาท กระทบไม่ได้เลย แต่กระทบจักขุปสาท
เพราะฉะนั้นสำหรับวิถีจิตแรก คือ อาวัชชนจิตทางปัญจทวาร ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นการเกิดขึ้นเป็นไปตามปัจจัย คือ ตามการกระทบ ก็เป็นปัจจัยให้เมื่อมีการกระทบกันแล้ว ถ้าไม่กล่าวโดยละเอียด ก็คือว่า จิตที่เป็นวิถีจิตขณะแรกเกิดขึ้นเป็นไปตามการกระทบ จึงไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ทางใจไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่มีอะไรมากระทบที่เป็นปัจจัยที่ให้เป็นวิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น แต่เป็นการรู้อารมณ์ทางใจ ซึ่งต่อไปถ้าศึกษาโดยละเอียดจริงๆ โดยพิจารณาในเหตุในผล ก็จะรู้ได้ว่า การที่จิตแต่ละประเภท มีชื่อต่างกัน ก็เพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เพราะกิจการงานต่างกัน และเพราะอารมณ์ต่างกัน
นี่เป็นเหตุที่แม้จิตจะเกิดขึ้นเพียง ๑ ขณะ มีปัจจัยที่ทำให้จิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพียงแค่ ๑ ขณะ แต่ก็มีความหลากหลาย มีความต่างกันไป แสดงความเป็นอนัตตา ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ อย่างมั่นคง ก็จะไม่ถือว่า จิตหนึ่งจิตใดเป็นเรา เพราะแม้แต่จิตใดจะเกิดขึ้นได้แต่ละประเภท ก็ต่างกันไปตามเหตุตามปัจจัย ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นจิตหนึ่ง ไม่ใช่มโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นจิตอีก ๑ ประเภท แต่ว่าดูความละเอียด ความหลากหลาย ก็คือว่า ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต โดยชาติ เกิดขึ้นเป็นผลของกรรม ภวังคจิตซึ่งเกิดสืบต่อดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น ต่อจากปฏิสนธิก็เป็นวิบากจิต ซึ่งเป็นผลของกรรมเดียวกัน ที่ทำให้เป็นบุคคลนั้นดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น แต่เวลาที่จะรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะเป็นวิบากที่ทำให้ปฏิสนธิ และภวังค์ไม่ได้ แต่ว่าจะต้องมีจิตที่เกิดขึ้น ไม่ใช่วิบากจิต แต่เป็นกิริยาจิต จึงสามารถเปลี่ยนจากการดำรงภพชาติแต่ละขณะมาจนกระทั่งถึงขณะที่รู้อารมณ์ ต้องมีจิตที่เกิดก่อน ซึ่งไม่ใช่วิบาก แต่เป็นกิริยา
นี่คือการที่เราไม่คุ้นเคยกับคำเหล่านี้ แต่เมื่อได้ยินแล้ว และค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า จิตที่เกิดขึ้นเป็นกุศล เกิดขึ้นเป็นอกุศล เป็นเหตุ และจิตที่เป็นวิบาก ก็คือจิตที่อาศัยกุศล และอกุศลที่ดับไปแล้วนั่นเองเกิดขึ้นเป็นผลของกรรมที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง แต่กิริยาจิตเป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง ไม่ใช่ผลของกรรม และไม่ใช่กรรม แต่เกิดขึ้นทำกิจที่จะรู้สิ่งที่กระทบในขณะนั้น โดยที่เป็นกิริยาจิต เพราะสามารถรู้อารมณ์ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ได้ แต่ถ้าเป็นวิบากจิตที่เป็นกุศลวิบาก จะรู้แต่อารมณ์ที่น่าพอใจ ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม วิบากจิตก็จะเกิดขึ้น จะไปรู้อารมณ์ที่น่าพอใจไม่ได้เลย เมื่อเป็นผลของอกุศลกรรม ก็จะต้องรู้เฉพาะอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นอกุศลวิบาก แต่กิริยาจิตสามารถรู้อารมณ์ทั้งที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจ เพราะว่าเพียงเกิดขึ้นทำกิจรู้อารมณ์ที่กระทบ แต่ยังไม่ใช่เป็นผลจริงๆ ของกรรมที่จะมีการเห็น หรือการได้ยิน เป็นต้น
เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบถึงความละเอียดของจิต ซึ่งเวลาได้ยินคำว่า “กิริยาจิต” เข้าใจได้ว่า หมายถึงจิตที่ไม่ใช่เหตุ และไม่ใช่ผล คือ ไม่ใช่กุศล อกุศล และไม่ใช่วิบาก แต่เป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง
ขณะนี้มีกิริยาจิตไหมคะ มีหรือไม่มีคะ มี เป็นปัญจทวาราวัชชนจิตหรือมโนทวาราวัชชนจิตเท่านั้น สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ อกุศลไม่มี กุศลไม่มี ก็จะมีเพียงวิบาก และกิริยา แต่สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ก็มีกิริยาจิต แต่ว่าเป็นกิริยาจิตที่ไม่ใช่ประเภทของพระอรหันต์ที่หมดกิเลสแล้ว ต่อไปก็จะได้ทราบว่า กิริยาจิตประเภทที่ประกอบด้วยเจตสิกที่ต่างกับกิริยาจิตของพระอรหันต์ที่ไม่มีกุศล และอกุศลแล้ว แต่เป็นกิริยา
นี่คือ เรา ทั้งหมด ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่เคยรู้เลยสักนิดเดียวว่า เป็นธรรมแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้นการฟังเพื่อจุดประสงค์ให้เห็นความเป็นอนัตตา จะฟังเรื่องชื่อต่างๆ กิจต่างๆ อารมณ์ต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ถ้าเราเพียงแต่จะจำ ๒ คำก่อน ปัญจทวาราวัชชนะ กับมโนทวาราวัชชนะ โดยพยัญชนะ โดยความหมาย และคำแปล แต่ต้องเป็นไปตามความเป็นจริง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่ใช่มโนทวาราวัชชนจิต เพราะว่าเกิดขึ้นโดยอาศัยการกระทบกันของรูป เช่น เสียงกระทบโสตปสาท ก็จะเป็นปัจจัยให้หลังจากที่ภวังคจลนะ และภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว จิตนี้เกิดขึ้นรู้ เป็นวิถีจิตแรก เพราะว่าก่อนนั้นเป็นภวังค์ จะไม่รู้อารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่ปัญจทวาราวัชชนะทางตา ขณะนี้เกิดก่อนจักขุวิญญาณที่เห็น แล้วใครจะรู้ความละเอียดของความเป็นธรรม ซึ่งถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงโดยละเอียดจริงๆ ให้มีการสะสมความเข้าใจในความเป็นอนัตตา ที่จะเห็นว่า ธรรมเป็นอนัตตา เป็นไปไม่ได้เลย
ที่มา ...