จิตเกิดแตกต่างกันไปตามเหตุปัจจัย


    ท่านอาจารย์ ให้รู้ ให้เข้าใจว่า ขณะนี้สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏ เพราะมีธาตุรู้ที่กำลังรู้สิ่งนั้น เช่น เห็น เราใช้คำว่า เห็น เพราะเหตุว่าต้องอาศัยตา แล้วก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น คือ เริ่มที่จะเข้าใจว่า เห็นขณะนี้เป็นธรรม นี่คือประโยชน์ของการฟัง เพื่อแทนที่จะคิดเรื่องอื่น ขณะที่ฟังธรรมก็มีธรรมปรากฏให้เริ่มเข้าใจถูกต้องว่า ไม่ใช่เป็นแต่เพียงชื่อ แต่ต้องอาศัยชื่อ และชื่อแต่ละชื่อ เราเข้าใจจริงๆ หรือยัง แม้แต่คำว่า “ภวังค์” ก็ฟัง รู้ว่า ขณะใดก็ตามที่ไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่มีเห็น ไม่มีได้ยิน ไม่มีได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก มีจิตไหม ลองคิดดู ขณะนี้ถ้าไม่ได้ฟังธรรม คิดว่าไม่มีเลย จิตที่จะไม่มีอารมณ์ใดๆ ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะมีหรือ แต่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงการเกิดดับสืบต่อของจิตแต่ละขณะ ซึ่งเป็นความต่างกัน เพื่อให้รู้ว่า ตลอดชีวิตก็คือจิต ซึ่งไม่ใช่วิถีจิต ขณะที่ไม่รู้อารมณ์ใดๆ เลยนั้นมี นอนหลับสนิท เห็นได้ชัดว่ามี แต่แม้ขณะนี้กำลังเห็น ไม่ใช่กำลังได้ยิน เพราะว่าเห็นต้องอาศัยจักขุปสาท ได้ยินต้องอาศัยโสตปสาท ได้ยินเสียงปรากฏ สีสันวัณณะไม่ได้ปรากฏเลย เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ปรากฏ แต่เสียงไม่ได้ปรากฏเลย

    เพราะฉะนั้นก่อนเห็น และได้ยินเกิดดับสลับกัน ขณะนั้นต้องเป็นภวังคจิต เพราะเหตุว่ารูปทุกรูปซึ่งปรากฏต้องดับ รูปที่ปรากฏเพราะเกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้วดับไป คือ ฟังธรรมขอให้คิดถึง และเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ เพื่อจะได้เข้าใจถูกต้องว่า ไม่ใช่เป็นชื่อ และไม่ใช่เรื่องราว แต่เป็นชีวิตจริงๆ ในขณะนี้ ซึ่งใครรู้ลักษณะของภวังคจิตบ้าง รู้ไหมคะ ไม่รู้เลย ก็จะเข้าถึงความหมายที่ว่า ธรรมคือจิต เจตสิก รูปเกิดดับเร็วแสนเร็ว ไม่สามารถประมาณได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่รู้ความต่างของขณะเช่นขณะเห็น โดยคร่าวๆ ไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน

    เพราะฉะนั้นเมื่อรูปที่ปรากฏทางตาดับ ได้ยินจะเกิดสืบต่อทันทีไม่ได้เลย จะต้องมีภวังคจิตเกิดคั่น เพราะฉะนั้นในขณะนี้เองให้มีความเข้าใจว่า แม้ว่าจิตจะเกิดดับสืบต่อเร็วแสนเร็วประการใดก็ตาม แต่ก็เป็นสภาพของจิตแต่ละประเภท ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแต่ละทางเพื่อเข้าใจให้ถูกต้องว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แล้วจะได้เข้าใจความหมายของคำว่า “ธรรม” ไม่ว่าใครจะพูดถึงคำว่า ธรรมที่ไหน เมื่อไร ก็หมายถึงสิ่งที่มีจริงๆ แต่มีลักษณะที่ต่างกันไป และไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียดอย่างไรก็ตาม เพื่อขณะที่ฟังขณะนี้สามารถเริ่มเข้าใจความจริงว่า เป็นจิตแต่ละขณะที่เกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว และต้องไปตามลำดับขั้นด้วย เช่น หลังจากปฏิสนธิเกิดขณะแรกแล้วดับไป ต้องมีจิตเกิดสืบต่อ ไม่สืบต่อจะไม่มีขณะนี้เลย จะอยู่ตรงนี้ไม่ได้ แต่ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยขาดจิตเลยสักขณะเดียว แต่ไม่รู้ความเป็นไปทั้งหมดของจิต จึงเข้าใจว่าเป็นเรา และเป็นเขา และเป็นเรื่องราวต่างๆ มากมาย แต่ถ้าเข้าใจธรรมตามความเป็นจริงในขณะนี้ ต้องไปเข้าใจธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นหรือเปล่า ไม่มีทางที่จะเข้าใจธรรมที่ยังไม่เกิด ถ้าขณะนี้ธรรมเกิดแล้วไม่เข้าใจ

    เพราะฉะนั้นขณะนี้ อย่างที่กล่าวว่า “ปฏิจจสมุปปาท” ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น แสดงความเป็นธรรมว่า ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ปฏิจจสมุปปาทเริ่มด้วยอวิชชา การไม่รู้ ธรรมต้องละเอียดมาก อย่าข้ามไปที่จะพูดถึงองค์ต่อๆ ไปของปฏิจจสมุปปาท แต่ผู้ที่จะเข้าใจธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด ถ้าไม่รู้ว่าอวิชชา ไม่รู้อะไร จะศึกษาเรื่องอวิชชาไหมคะ ก็หาไม่เจอ อวิชชาเป็นสภาพที่ไม่รู้ แล้วไม่รู้อะไร และขณะนี้มีไหม ถ้าไม่มี ก็คือว่าจะกล่าวไปถึงสังขาร จะกล่าวไปถึงวิญญาณ ก็เป็นแต่เพียงชื่อ

    เพราะฉะนั้นการเข้าใจจริงๆ จะทำให้สามารถเข้าถึงสภาพที่เป็นธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตน

    อวิชชาไม่รู้อะไร มีอวิชชาไหมคะ หรือไม่มี ตั้งแต่เกิดมา อวิชชามากไหมคะ เพราะไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏเลย เพราะฉะนั้นขณะนี้มีอวิชชาไหม มีหรือไม่มี ตอบตามตำรา และตอบตามความคิด แต่ไม่ได้ตอบเพราะรู้จริงๆ ว่า ขณะนี้มีอวิชชา ถ้าตอบตามความเป็นจริง ค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้น มีเมื่อไร นี่คือความละเอียดของธรรม ที่แม้ว่าฟังดู ก็เหมือนกับไม่ยากอะไร แต่จริงๆ แล้วต้องเข้าถึงแม้แต่ขณะนี้มีอวิชชาไหม ถ้าตอบว่า มี มีเมื่อไร สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก เห็นเกิดแล้วดับไหมคะ ดับ ถ้าอย่างคร่าวๆ รู้ไหมว่าขณะนั้นเป็นธรรมซึ่งเกิดเห็นแล้วก็ดับไป

    นี่คือการไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นจริงๆ พูดเรื่องจิต พูดเรื่องเจตสิก พูดเรื่องรูป แต่ก็ไม่ได้รู้ตามความเป็นจริงเลย แต่อาศัยการฟังเรื่องของสภาพธรรม ปริยัติ เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น อย่าคิดว่าจะประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมได้โดยง่าย โดยไม่เข้าใจมากกว่านี้ ก็จะไปนั่งคิด นั่งทำ แล้วก็คิดว่า ประเดี๋ยวก็คงจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม หรือคิดว่ารู้แค่นี้ก็ไปอ่านพระไตรปิฎกได้ สามารถเข้าถึงอรรถของสภาพธรรม ตัวธรรมจริงๆ ได้ โดยไม่มีความเข้าใจขั้นพื้นฐาน นี่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ละเอียด เห็นแล้ว ทรงแสดงการเกิดดับสืบต่ออย่างละเอียด ตั้งแต่ขณะที่เป็นภวังค์ ไม่มีอะไรปรากฏเลย ไม่มี แล้วมีเมื่อเป็นวิถีจิตเท่านั้น และเมื่อวิถีจิตหมดแล้ว ก็ไม่มีอีก นี่คือความจริงซึ่งซ่อนเร้น เพราะความรวดเร็ว ขณะนี้เหมือนมีเห็น มีได้ยิน มีคิดนึก แต่ว่าตามความเป็นจริง ไม่มีก่อน ไม่มีอะไรปรากฏ เมื่อเป็นภวังค์ แล้วก็มีทางหนึ่งทางใด แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา สีสันวัณณะปรากฏ หรือเป็นทางหู เสียงปรากฏ หรือเป็นทางใจ คิดนึกเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจากไม่มี แล้วมี แล้วก็ไม่มี อย่างรวดเร็วมาก แล้วก็มีภวังค์เกิดคั่นอยู่ตลอด ไม่สามารถรู้ถึงวิถีจิตแรกที่เกิดก่อนจักขุวิญญาณที่กำลังเห็น วิถีจิตแรกจะเห็นทันทีไม่ได้ หลังจากที่เป็นภวังค์ ภวังค์ ภวังค์ แล้วการเปลี่ยนจากภวังค์ เป็นมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ จะปรากฏทันทีไม่ได้เลย ต้องสิ้นสุดกระแสภวังค์ ภวังค์ขณะสุดท้าย คือ ภวังคุปัจเฉทะ มีชื่ออย่างนี้ บางคนอาจจะบอกว่าไม่อยากจำ ไม่อยากรู้ ขี้เกียจท่อง ไม่ต้องท่องเลย ภาษาไทย จิตที่ทำกิจภวังค์ขณะสุดท้าย ถ้าจะใช้ชื่อภาษาบาลีก็คือ ภวังคุปัจเฉทะ ถ้าภวังค์สุดท้ายไม่ดับ วิถีจิตเกิดไม่ได้เลย ก็ยังคงเป็นวิถีจิตไปเรื่อยๆ อย่างขณะที่นอนหลับสนิท ยังไม่ตื่น จะให้เป็นวิถีจิตได้ไหมคะ ไม่ได้ ก็จะต้องเป็นภวังค์ไปเรื่อยๆ จนกว่าเมื่อไรภวังคุปัจเฉทะเกิดขึ้น กระแสภวังค์สุดท้ายดับไป จึงมีวิถีจิต หมายความว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ จากการไม่ปรากฏแล้วปรากฏมีขึ้น แล้วก็หมดไป ขณะนี้เป็นอย่างนี้ค่ะ แต่ละวาระ เพราะเหตุว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดดับเร็วมาก รูปที่กำลังปรากฏมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ไม่ต้องประมาณเลยว่าแค่ไหน แต่ว่าแสนเร็ว แล้วก็มีภวังค์คั่นหลายขณะ ก่อนที่จะมีวิถีจิตวาระต่อไปเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ให้ทราบว่า ขณะนี้เป็นอย่างนี้ และเริ่มที่จะเข้าใจว่า แม้จะทรงแสดงธรรม เช่น อวิชชา ไม่ใช่ไกลเลย แต่ไม่รู้ เพียงเอ่ยชื่อว่า อวิชชา แต่ตัวจริงของอวิชชาก็คือว่า เห็นแล้วก็ไม่รู้เลย จึงเป็นกุศล และอกุศลตามการสะสม โดยที่เลือกไม่ได้เลย และก็ไม่รู้ด้วย เห็นดับแล้ว วิถีจิตที่เกิดสืบต่อดับแล้ว เป็นกุศลหรืออกุศล ต้องมีอยู่ เพราะฉะนั้นขณะที่ไม่รู้ ขณะนั้นเป็นกุศลไม่ได้ อวิชชามากแค่ไหน เห็นแค่นี้ นับการเห็นไม่ถ้วน

    เพราะฉะนั้นอวิชชา คือ อกุศลจิตซึ่งมีอวิชชาเป็นปัจจัยนับไม่ถ้วน และวิชชา คือ การเริ่มรู้ เริ่มเข้าใจในขั้นของการฟังเท่านั้น ยังไม่ได้ประจักษ์แจ้งความจริงอย่างนี้ กว่าจะเข้าใจได้ กว่าจะไม่คิดถึงเรื่องอื่น ไม่สนทนาเรื่องอื่น ถึงเวลาก็ได้ฟังธรรม ได้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ค่อยๆ สะสม จนกระทั่งเป็นความเข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบว่า แม้พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ แสดงโดยละเอียด แต่ใช่ว่าเราสามารถรู้ถึงความละเอียด เช่น ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นวิถีจิตแรก ยังไม่มีการเห็น การได้ยินเลย เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับ วิถีจิตแรก คือ จิตที่นึกถึงอารมณ์ที่กระทบทวารหนึ่งทวารใด แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ๑ ขณะจิตเร็วแค่ไหนก็ไม่รู้ หลังจากนั้นถ้าเป็นทางตา ก็เห็นเดี๋ยวนี้แหละ

    เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบว่า ก่อนเห็น ต้องมีวิถีจิตแรก คือ จักขุทวาราวัชชนจิต ชื่อตามทวาร จักขุทวาร กับอาวัชชนะ จึงเป็นจักขุทวาราวัชชนจิต ซึ่งจักขุทวาราวัชชนจิตก็จะเกิดทันทีไม่ได้ ต้องเมื่อภวังคุปัจเฉทะดับไป นี่คือสิ่งที่คนอื่นไม่สามารถรู้ได้ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดง ด้วยเหตุนี้การฟังธรรม ก็คือการฟังให้เข้าใจสิ่งซึ่งกำลังมีในขณะนี้ จนกระทั่งค่อยๆ เห็นความเป็นอนัตตา ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ถ้าไม่เข้าใจขึ้น จะเห็นว่าเป็นอนัตตาได้ไหม เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นกว่าจะชะล้าง ลอก อวิชชา ความไม่รู้สภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวันในแสนโกฏิกัปที่สะสมมา ทุกขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้น ดับไปแล้วก็จริง แต่จากการเกิด และการดับไปนั่นเอง ก็เป็นสิ่งที่สืบต่อถึงขณะต่อไป เหมือนกับสิ่งที่ฉาบทาแน่นหนามากในจิตขณะต่อๆ ไป ที่จะเพิ่มขึ้นทั้งฝ่ายกุศล และอกุศล

    เพราะฉะนั้นก็เข้าใจได้ โดยที่ขณะนี้เอง ชื่อทุกชื่อ ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ชุณห์ การเข้าใจอย่างนี้ คือ ฟังธรรมให้เข้าใจ

    สุ. นี่คือปริยัติ การศึกษาให้เข้าใจสภาพธรรมตามลำดับขั้น

    ผู้ฟัง ครับ ก็ยังไม่ต้องไปเข้าใจอย่างอื่นก่อน ก็เอาแค่นี้ก่อน

    สุ. ก็เดี๋ยวนี้ ก็เป็นอย่างนี้ แล้วยังไม่เข้าใจ แล้วจะไปเข้าใจอื่นก็เป็นไปไม่ได้ ต้องมีพื้นฐานที่มั่นคง ตอนนี้ถ้าพูดเรื่องอวิชชา พอจะรู้ใช่ไหมคะ ไม่รู้อะไร หรือยังตอบไม่ได้ ไม่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงเลย แต่กำลังฟังเพื่อให้ค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 349


    หมายเลข 12479
    25 ส.ค. 2567