ฟังเพื่อเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง ขอทบทวนว่า ศึกษาถูก เข้าใจถูกหรือเปล่า ไม่มั่นใจ คือ เมื่อมาศึกษาแล้ว ก็จะพบว่าเริ่มเข้าใจ ทุกอย่างเป็นธรรม แล้วก็ลงรายละเอียด เป็นรูปเป็นนาม รูปก็ไม่รู้อะไร นามก็เป็นสภาพรู้ มีจิตกับเจตสิก และจะรู้รายละเอียดของแต่ละอย่างว่า จิตมี ๘๙ ประเภท เจตสิก ๕๒ และต้องรู้กิจ รู้ชาติ รู้วิถีจิต เมื่อศึกษาไปแล้ว หรือจะแสดงโดยนัยของธาตุ ปฏิจจสมุปปาท อายตนะ พอเราเริ่มศึกษา พอรู้บ้างจริงๆ แล้ว ก็พบว่าที่สุดก็คือการอธิบายสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่การที่จะเข้าใจที่พูดมา คือ ชาติ กิจ ... เมื่อเราศึกษาแต่ละอย่างแล้ว และทุกอย่างต้องเกิดเพราะปัจจัย และเราศึกษาปัจจัย ๒๔ ก็จะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ เพื่อไม่ให้เป็นตำรา หรือหนังสือ หรือคำพูด เราต้องศึกษาแบบบูรณาการ เช่น เมื่อพูดถึงจิตเห็น เราต้องรู้ว่าเป็นชาติวิบาก และมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ชนิด อย่างนี้ทำให้เราเข้าใจหรือเปล่า ไม่ค่อยแน่ใจว่าศึกษาถูกหรือเปล่า
สุ. และแบบบูรณาการเป็นอย่างไร
ผู้ฟัง บูรณาการก็หมายถึงว่า ถ้าเราไปศึกษาโดดๆ ว่า อายตนะก็แบบนี้ ถ้าเป็นปฏิจจสมุปปาท ก็เป็นเหตุปัจจัยตรงนี้มี ก็มีตรงนี้ ถ้าตรงนี้ไม่มี ก็ทำให้ตรงนี้ไม่มี แต่ไม่เข้าใจว่า มันคือรูป และจิตเจตสิกที่กำลังเกิด และกำลังปรากฏ
สุ. กำลังวางรูปแบบที่จะศึกษาหรือเปล่าคะว่า ต้องศึกษาแบบนี้แบบนั้น
ผู้ฟัง คือไม่ทราบว่า ทำอย่างไรถึงทำให้สิ่งที่เราศึกษาเยอะแยะมากมาย
สุ. ทำอย่างไร จะทำไปทำไม
ผู้ฟัง ก็ฟังให้เข้าใจ
สุ. ก็ฟังให้เข้าใจค่ะ
ผู้ฟัง แต่ฟังเรื่องเยอะแยะมากๆ เลย ภาษาบาลี วิถีจิต ปัจจัย ๒๔ เช่น โลภมูลจิตก็มีปัจจัยหมดเลย ยกเว้นวิปากปัจจัยกับปุเรชาตปัจจัย นอกนั้นก็มีปัจจัยทุกอย่างที่เกิดด้วย ก็ทำให้เข้าใจว่า จิตแต่ละประเภทก็มีปัจจัยเยอะแยะเลย ซึ่งเมื่อเราเข้าใจอย่างนี้มากๆ ก็ทำให้เห็นความเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน
สุ. นี่คือจุดประสงค์ค่ะที่จะให้เข้าใจจริงๆ ว่า เป็นอนัตตา
ผู้ฟัง แล้วก็เป็นจิตนิยาม คือ ต้องเป็นอย่างนี้ ความจริงเป็นอย่างนี้ หน้าที่คือเข้าไปรู้ ไปเข้าใจให้ถูก
สุ. ก็ไม่ใช่หน้าที่ของใคร ถ้าปัญญาไม่เกิด ใครก็ไปทำหน้าที่ของปัญญาไม่ได้
ผู้ฟัง สรุปแล้ว ไม่มีรูปแบบ ไม่มีวิธีการ ฟังให้เข้าใจ
สุ. ไม่ทราบรูปแบบมาจากไหนคะ ถ้าไม่ใช่ตัวตน
ผู้ฟัง คือเหมือนกับเรียนแล้วไม่โดดๆ แต่เป็นความเชื่อมโยง และเป็นเรื่องเดียวกัน
สุ. นั่นก็คือคิดหมดเลย ใช่ไหมคะ และเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ตามที่ได้ยินได้ฟังมาทั้งหมดหรือเปล่า
ผู้ฟัง คิดว่าเข้าใจขั้นฟังบ้างตามสมควร และก็รู้ด้วยว่า เข้าใจขั้นฟังก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ต้องให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม
สุ. ไม่ใช่ “ต้องให้” ค่ะ ยังไม่มีปัจจัย
ผู้ฟัง ก็ต้องอบรม
สุ. เข้าใจไม่พอ ก็ต้องเข้าใจอีก จนกว่าจะค่อยๆ รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และก็จะตรงกับทุกคำที่ได้ทรงแสดงไว้ ตามลำดับขั้นของความรู้ความเข้าใจ
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นบางทีที่ว่า ฟังให้เข้าใจ แล้วจะเป็นเหตุปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด บางครั้งก็ไม่แน่ใจว่า ท่านอาจารย์กับผู้ศึกษาเข้าใจคำว่า “ฟังเข้าใจ” ตรงกันหรือเปล่า เช่นตัวหนูเองคิดว่าเข้าใจขั้นฟัง ก็ไม่ทราบว่า มากพอหรือยัง แต่ก็พยายามฟังให้เข้าใจ
สุ. “มากพอ” หมายความว่าอย่างไร
ผู้ฟัง ก็ต้องเข้าใจสัจญาณมากๆ ว่า
สุ. สัจญาณคืออะไร
ผู้ฟัง สัจญาณก็คือปัญญาที่รู้ความจริงตามความเป็นจริงในขั้นปริยัติ
สุ. ขณะนี้รู้แค่ไหน เห็นไหมคะ ยังไม่ต้องใช้ชื่อ “สัจญาณ” ก็ได้ แต่รู้แค่ไหน มั่นคงแค่ไหน หรือหาบูรณาการ รูปแบบ
ผู้ฟัง ก็ยังไม่ถึงแทรกไปอวัยวะ จรดกระดูก
สุ. ค่ะ โดยมากก็มีตัวตนเข้ามาจัดการให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ต้องไม่ลืม ฟังเพื่อเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วไปพูดถึงสติปัฏฐาน แต่ไม่พูดถึงธรรมที่กำลังปรากฏให้เข้าใจขึ้น และสติจะรู้ตรงลักษณะด้วยความเข้าใจถูกต้องได้อย่างไร
ผู้ฟัง โดยมากที่มาเรียนก็มีนัยให้มาเรียนมากมาย เช่น ปัจจัย อายตนะ ธาตุ ขันธ์ ซึ่งถ้าเราไปเข้าใจโดดๆ อย่างนั้น ไม่เข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั่นเอง ก็คือรูปนามที่กำลังปรากฏตามเหตุปัจจัย
สุ. ก็ไม่รู้ว่า ธรรม คือ สิ่งที่กำลังปรากฏ ฟังเพื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ไม่มีประโยชน์เลย เป็นชื่อหมด ตัวจริงหาไม่เจอ ไม่รู้ว่าขณะนี้เองที่กำลังเป็นธรรม ที่ฟังแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เข้าใจถูกต้องด้วย
ผู้ฟัง ค่ะ ยกตัวอย่างเช่นท่านอาจารย์อธิบายขันธ์ ก็ไม่พ้นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเดิมเราอาจจะเรียนขันธ์ ๕ ขันธ์ แต่ก็ไม่สามารถเข้าใจได้ว่า ก็คือลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
สุ. ค่ะ เพราะฉะนั้นกำลังได้ยินชื่อ “ขันธ์” ถูกต้องไหมคะ แล้วขันธ์จริงๆ อยู่ที่ไหน ตอบได้ กำลังปรากฏ แต่ถ้าสติไม่เกิดรู้ลักษณะนั้น จะกล่าวได้ไหมว่า รู้จักขันธ์
ผู้ฟัง ยังกล่าวไม่ได้ค่ะ ก็รู้ขั้นฟัง
สุ. เพราะฉะนั้นทั้งหมดก็เพื่อที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มี ฟังเพื่อความเข้าใจนั้น จะเป็นปัจจัยให้มีการระลึกได้ ที่ใช้คำว่า “ระลึกได้” ไม่ใช่ระลึกเรื่องราว แต่ระลึกเพราะรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม แล้วเวลาที่เกิดการระลึก จะระลึกตรงลักษณะของธรรมแต่ละลักษณะ เพราะว่าตลอดชีวิตเป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งหมด มีจริงๆ แต่มีชั่วขณะที่ปรากฏ ลองคิดดูค่ะ เล็กน้อยแค่ไหน ปรากฏแล้วดับไป ไม่กลับมาอีกเลย และรู้อย่างนี้หรือเปล่า ถ้าไม่รู้ก็ติดข้อง เพราะคิดว่าสิ่งนั้นเที่ยง ไม่ได้ดับไปเลย แม้แต่แข็งมี กำลังปรากฏ ฟัง มีความเข้าใจ สติกำลังรู้ตรงแข็งหรือเปล่า ถ้ารู้ก็เป็นปกติธรรมดา ไม่ต้องตื่นเต้น แต่รู้ว่า แม้แข็งปรากฏ ปัญญายังไม่พอที่จะประจักษ์การเกิดดับของแข็ง แต่จากการฟังรู้ว่า แข็งต้องเกิดแล้วก็ดับ แต่ขณะที่แข็งปรากฏ แล้วก็มีปัจจัยที่จะมีสติเกิดรู้ลักษณะของแข็ง ก็ยังไม่ประจักษ์การเกิดดับ
เพราะฉะนั้นก็แสดงว่า ธรรมที่มีเป็นจริง สามารถรู้ได้ด้วยปัญญาที่อบรมเจริญแล้ว จนถึงระดับที่สามารถแทงตลอดความจริงนั้นๆ ได้ ไม่ใช่ตัวเราจะไปพยายามทำอย่างอื่นเลย มีธรรมตลอดเวลา ก็เป็นเครื่องให้เรารู้ว่า การฟังธรรม ก็คือฟังให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นธรรม จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ผู้ฟัง ซึ่งพระพุทธองค์จะตรัสในนัยไหน ก็คือให้เราเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
สุ. ไม่อย่างนั้นจะชื่อว่า “เข้าใจ” ได้อย่างไร ปรากฏก็ไม่เข้าใจ แล้วไปนั่งฟังอะไรก็ไม่รู้เรื่องสิ่งที่มีจริงๆ เป็นอย่างที่เข้าใจ ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ก็ไม่ตรง
ที่มา ...