เข้าใจตัวธรรมเดี๋ยวนี้
อ.วิชัย มีคำถามว่า ชื่อของจิต และชื่อของกิจ ที่มีชื่อ และกิจของจิตอย่างนั้น เพราะเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะอาการรู้อย่างนั้นๆ เป็นความเข้าใจถูกหรือไม่ ถ้ากล่าวถึงสภาพรู้หรือธาตุรู้ จริงๆ แล้วไม่มีชื่อ เป็นสภาพธรรมอย่างนั้นๆ แต่ทรงแสดงเพื่อให้บุคคลที่ฟัง สามารถเข้าใจธรรมนั้นๆ เช่น ถ้ากล่าวถึงจิต ซึ่งเป็นธาตุรู้ทางตา ทรงแสดงว่า เป็นจักขุวิญญาณ วิญญาณ หมายถึงสภาพที่รู้แจ้ง จักขุ ก็คือตา คือ สภาพที่รู้แจ้งทางตา ก็คือจิตเห็น ก็คือจิตทำกิจเห็นนั่นเอง
เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถฟัง และเข้าใจ เข้าถึงสภาพธรรมนั้นๆ แต่ที่ทรงแสดง คือบัญญัติตามที่ทรงตรัสรู้ ที่สามารถบัญญัติพยัญชนะของสภาพธรรมนั้นๆ
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น การเรียนกิจของจิต หรือวิถีจิต และไม่ใช่วิถีจิต จุดประสงค์ของการเรียนเหล่านี้ เพื่อให้เห็นว่า ธรรมที่เกิดต้องเกิดตามเหตุปัจจัย และเป็นอนัตตาอย่างไร ถ้าเราไปมัวจำว่า กิจ ๑๔ กิจ ถ้าพูดเป็นภาษาบาลีก็ยาก และวิถีจิตใหม่ๆ สัมปฏิจฉันนะ กว่าจะคุ้นคำนี้ก็หลายครั้งมาก เมื่อเราศึกษาสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็จะเห็นว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จริงๆ อันนี้เป็นการศึกษาที่ทำให้เข้าใจสภาพธรรมหรือเปล่าคะ
สุ. ถ้าเข้าใจสภาพธรรมแล้ว เวลาได้ยินชื่อ สามารถเข้าใจได้ไหมว่า หมายความถึงอะไร อย่าง “เห็น” ภาษาไทย ต้องมีสิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งกระทบกับตา ทีนี้ถ้าใช้ภาษาบาลี จักขุ ภาษาไทย ตาอยู่ตรงไหน มีตาขาว ตาดำ ก็ยังไม่ใช่จักขุปสาท ยังไม่ละเอียดพอ ที่จะรู้ว่า แท้ที่จริงแล้วรูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ ไม่ใช่ตาทั้งหมด แต่เป็นเฉพาะจักขุปสาทรูปที่อยู่กลางตา ที่สามารถกระทบกับธาตุที่กระทบได้ คือ วัณณธาตุ
การศึกษาทั้งหมด ถ้าเรามีความเข้าใจตัวธรรมเดี๋ยวนี้ แล้วเราได้ยินชื่อ ก็ไม่น่าสงสัย อย่างเวลานี้ทุกคนก็มีตา แล้วก็มีเห็น แล้วถ้าใช้คำว่า จักขุ ก็รู้ ถ้าใช้คำว่า “จักขุปสาท” คือ ไม่ใช่เอ่ยคำว่า “จักขุปสาท” โดยไม่รู้ว่า จักขุปสาทคืออะไร จักขุปสาทเป็นรูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏขณะนี้ ซึ่งเป็นวัณณธาตุ แล้วจิตเห็นจึงกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ ถ้าจิตเห็นไม่เกิด สิ่งที่ปรากฏก็เกิดไม่ได้
เพราะฉะนั้นก็แยกความละเอียด ตาทั้งหมดไม่ใช่จักขุปสาท แต่ว่ามีตาดำ ตาขาว และส่วนที่กระทบกับวัณณธาตุได้จริงๆ ก็คือ ปสาทรูป ซึ่งไม่มีใครมองเห็นเลย เห็นเมื่อไร เห็นเป็นเพียงสิ่งที่เป็นวัณณรูปเท่านั้น ในบรรดารูปทั้งหมด รูปเดียวที่ปรากฏให้เห็นได้ คือ วัณณรูป ไม่ว่าจะเห็นอะไรทั้งสิ้น และเรียกว่าอะไรที่เห็น แต่ความจริงสิ่งที่ถูกเห็น หรือสามารถจะเห็นได้ ก็เป็นรูปที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้น
เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจความละเอียด จักขุ คือ ตาทั้งหมด ภาษาบาลี จะใช้คำว่า สสัมภารจักขุ ไม่จำชื่อนี้ได้ เอาเฉพาะภาษาไทย ตาทั้งหมด ที่เราเรียกว่า ตา แต่ตาทั้งหมดไม่ใช่จักขุปสาทรูป เฉพาะส่วนที่สามารถกระทบวัณณธาตุ ซึ่งเรามองไม่เห็นเลย แต่ต้องรู้ว่า ต้องอยู่ที่ตา และอยู่กลางตาด้วย ไม่ใช่ริมตาซ้าย ขวา ข้างล่าง ข้างบน เพราะฉะนั้นไม่มีใครเห็นรูปนี้ แต่รูปนี้มีแน่นอน เพราะเหตุว่ามีธาตุที่ปรากฏ เพราะเห็นเกิดขึ้น แต่สิ่งนั้นต้องกระทบกับตา คือ จักขุปสาท
เพราะฉะนั้นถ้าเรามีความละเอียด เราก็ไม่ยากที่จะจำ ตา คือ จักขุ ปสาท ก็รูป แต่เป็นรูปที่กระทบกับสีสันวัณณะที่ปรากฏ และรูปนี้ก็อยู่ที่กลางตาแต่มองไม่เห็น เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่รู้ว่า จักขุ หมายถึงอะไร จักขุปสาทเป็นรูปเฉพาะ พิเศษอย่างไร ก็ไม่ยาก ไม่ใช่หรือคะ ภาษาไทยเราก็ใช้คำว่า ประสาทๆ กันบ่อยๆ แต่ไม่รู้ว่าจะเข้าใจคำนั้นตามวิชาไหน แต่ตามความเป็นจริงก็เป็นรูปพิเศษ ไม่ใช่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แต่จะปราศจากธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่ได้ ถ้าเป็นจักขุปสาท ก็กระทบเฉพาะวัณณธาตุ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ถ้าเป็นโสตปสาท ไม่ใช่จักขุปสาทเลย โสตปสาทกระทบกับวัณณธาตุไม่ได้ แต่กระทบกับสัททธาตุ คือ เสียง ได้ยินคำว่า “เสียง” ภาษาไทย ภาษาบาลีก็คล้ายๆ กัน ไม่ใช่เสียง แต่ใช้คำว่า “สัทท”
ทีละคำ สองคำ เราก็จำไปเองได้ ไม่อยากจะจำ ฟังบ่อยๆ ก็จำไปเอง ไม่ต้องตั้งใจจะจำ แต่พอฟังใครเขาพูด เราก็เคยได้ยินคำนี้ อย่างปสาทรูปก็เคยได้ยิน แต่ได้ยินแล้วผ่านไป จะไม่ทำให้เข้าใจธรรม แต่ได้ยินแล้วเข้าใจ และรู้ความเป็นจริงว่า เป็นรูปที่ต่างจากรูปอื่นอย่างไร ก็จะทำให้ไม่คิดว่าภาษาบาลียากเกินไป เพราะว่าเราไม่ได้ไปเรียนแบบไวยากรณ์ จะต้องรู้ลึกซึ้ง หรือสามารถแปลได้ แต่เมื่อได้ยินภาษาหนึ่ง แล้วเข้าใจเพียงความจริง หรือธาตุ หรือสภาพธรรมนั้นก็พอที่จะเข้าใจธรรมนั้นได้
จิต วิญญาณ มโน มนัส ภาษาไทยก็ใช้ออกบ่อยไป เพียงแต่ต้องเข้าใจความหมายให้ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าอาศัยคำ แล้วเข้าใจผิด มาคิดเอาเอง อยู่ที่เข้าใจ ที่สับสนเพราะไม่เข้าใจ แต่ชื่อไม่ได้มีความยากอะไรเลย ชื่อคนสมัยนี้ เอาอะไรมารวมกับอะไร แล้วเป็นชื่อยาวๆ จำได้ไหมคะ คนนี้ชื่ออะไร ไม่เคยได้ยินเลย ชื่อใหม่ๆ ทำไมจำได้ เรียกเขาถูก
ผู้ฟัง ชื่อยาว “ปัญจทวาราวัชชนจิต”
สุ. “ปัญจทวาร” ยากหรือคะ อาวัชชนะ เท่านั้นเองค่ะ รวมแล้วก็เป็น ปัญจทวาราวัชชนะ แค่นี้บอกยากมาก จำไม่ได้ แต่ชื่ออื่นที่ไม่มีความหมายที่จะส่องไปถึงลักษณะของสภาพธรรม จำได้
ผู้ฟัง จริงๆ แล้วคือ เหมือนกับเป็นอุปสรรค แล้วทำอย่างไรให้ง่ายขึ้นได้หรือเปล่า
สุ. คิดถึงภาษา แล้วก็เข้าใจภาษา แล้วก็ไม่เข้าใจธรรม กับเข้าใจธรรม ไม่ว่าในภาษาอะไร แล้วแต่ว่าคนฟังจะเข้าใจได้ในภาษาไหน อย่างนั้นจะเป็นประโยชน์กว่าไหมคะ ไม่มีอุปสรรคอะไรเลย เพราะว่าธรรมจริงๆ มีจริงๆ ใครจะเข้าใจธรรมนั้นโดยภาษาอะไรก็ได้ แต่ทิ้งภาษาบาลีไม่ได้เลย เพราะจะคลาดเคลื่อน หรือจะผิดไปตามภาษาต่างๆ
ผู้ฟัง จริงๆ แล้วเวลาเรียนก็ไม่สนใจภาษาบาลีมาก และไม่ชอบพูดด้วยซ้ำ อย่างคนพูด “โสตวิญญาณ” ก็จะบอกว่า “จิตได้ยิน” ก็อันเดียวกัน คือทราบว่า โสตวิญญาณ คือ จิตได้ยิน แต่ก็จะพูด จิตได้ยิน ทำให้ตัวเองเข้าใจง่ายกว่า และไม่ต้องไปนึกว่า จิตได้ยิน คือ โสตวิญญาณ
สุ. แต่เวลาพูดโสตวิญญาณ คุณอรวรรณก็เข้าใจ
ผู้ฟัง ค่ะ คือเข้าใจว่าหมายถึงจิตได้ยิน แต่ “ปัญจทวาราวัชชนจิต” ไม่มีชื่ออื่น เราก็ต้องเรียกว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต
สุ. จะใช้คำไหนนอกจากนี้ ลองคิดซิคะ ทวาร + ปัญจ + อาวัชชนะ
ผู้ฟัง สรุปว่าฟังให้เข้าใจ บ่อยๆ เนืองๆ ก็จำได้ไปเอง
ที่มา ...