มีประโยชน์หรือเปล่าที่จะรู้ความจริง


    ผู้ฟัง ที่ว่า จิตเห็น และสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่เมื่อเห็น ก็จะเห็นเป็นสิ่งของกับสัตว์บุคคลตัวตน แม้ว่าจะศึกษาธรรม แล้วก็เข้าใจว่า จิตเห็นมีจริง กับสิ่งที่ปรากฏทางตามีจริง ก็เป็นแค่ได้ยินได้ฟัง แต่ในชีวิตประจำวัน สภาพที่เห็นจริงๆ ก็คือสิ่งของ และสัตว์ บุคคล ตัวตน

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร ทราบไหมคะ ทำไมเป็นอย่างนี้ แม้จะได้ยินได้ฟังว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เห็นทีไรก็เป็นคนนั้นคนนี้ เพราะอะไรทราบไหม

    ผู้ฟัง เพราะความไม่รู้

    ท่านอาจารย์ และคุ้นเคยกับการไม่เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่คุ้นเคยเลยกับการเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ตามความเป็นจริง การฟังไม่พอ แม้ว่าเริ่มเข้าใจบ้าง เหมือนกับวันหนึ่งๆ ที่เราคิด เราจะคิดเรื่องที่เราคุ้นเคยทั้งนั้นเลย ถ้าใครเป็นช่างไม้ก็จะคิดเรื่องช่างไม้ ใครเป็นนักธุรกิจ ก็จะคิดเรื่องราวของธุรกิจนั้น แต่ว่าตามความเป็นจริงเราสนใจ หรือเราสะสมมาที่จะเป็นอย่างไร ก็ทำให้จิตน้อมไปที่จะคิดอย่างนั้น การฟัง แล้วก็ฟังอีก แล้วก็ฟังบ่อยๆ จนกระทั่งไม่ลืม แม้ในขณะที่กำลังฟังเดี๋ยวนี้ มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่มีตัวตนไปบอกว่า ไม่ให้เห็นเป็นคน นั่นผิด แต่สิ่งที่ปรากฏมีจริง และการที่ยังเข้าใจว่า สิ่งนั้นเป็นอะไรก็มี แต่ไม่ใช่พร้อมกัน ไม่ใช่ในขณะเดียวกัน เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียด ที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริง มิฉะนั้นจะชื่อว่า ฟังธรรม หรือฟังความจริงหรือเปล่า ถ้ายังคงเข้าใจผิด หรือว่าไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังให้ถูกต้องว่า ทางตา ขณะนี้มีเห็น เห็นอะไร อะไรที่สามารถปรากฏให้เห็นได้ มีจริงๆ กำลังปรากฏ แต่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจว่า เป็นแต่เพียงธาตุหรือธรรมซึ่งปรากฏแล้วหมดไปด้วย ไม่เหลือเลย ไม่มีอะไรที่เหลือเลย ขณะที่ได้ยิน สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาไม่เหลือ แม้แต่ความคิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะที่กำลังได้ยินก็ไม่มี

    นี่คือการที่จะรู้ว่า ที่เราเคยคิดว่า ชีวิตยั่งยืน และเป็นเรา แท้ที่จริงก็เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดแล้วดับอย่างรวดเร็ว สืบต่อ และสิ่งที่เกิดแล้วดับแล้ว ก็ไม่ได้กลับมาอีกเลย

    นี่คือความจริง เมื่อไรรู้ความจริงอย่างนี้ จะกล่าวว่าเป็นเท็จได้ไหม และเป็นสิ่งที่ควรรู้ไหม มีประโยชน์หรือเปล่าที่จะรู้ความจริง


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 359


    หมายเลข 12517
    25 ส.ค. 2567