เมื่อเข้าใจว่าเป็นธรรมยังต้องถึงการประจักษ์แจ้ง
ผู้ฟัง เมื่อศึกษาเรื่องจิต ก็จะมีรายละเอียดของจิตมาก เช่น ชาติ ภูมิ กิต วิถี ไม่ใช่วิถี หรือเจตสิกก็จะแบ่งไป รูป ๒๘ ถ้ากล่าวถึงนัยจิต เจตสิก รูป ในนัยของขันธ์ อายตนะ ปฏิจจสมุปปาท อริยสัจ ๔ อินทรีย์ ... จะถามว่า ปัญญาสามารถเข้าใจให้เป็นเรื่องเดียวกันได้ว่า ถึงที่สุดแล้ว ศึกษาแล้ว ก็คือ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอย่างไรค่ะ
ท่านอาจารย์ ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ผิดจากความเป็นจริง ตามที่ได้ศึกษา คุณอรวรรณได้ยินคำว่า “อนัตตา” เข้าใจว่าอย่างไรคะ
ผู้ฟัง อนัตตา ก็คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และบังคับบัญชาไม่ได้
ท่านอาจารย์ ขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นอนัตตา หรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็นค่ะ
ท่านอาจารย์ จนกว่าจะประจักษ์ความจริง ไม่ใช่กล่าวว่าเป็นเฉยๆ ก็แล้วไป ไม่ใช่อย่างนั้น การศึกษาไม่จบสิ้น จนกว่าจะรู้ความจริงของสภาพธรรม
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นหมายความว่า เมื่อเราศึกษา เราก็ศึกษาไปทีละเรื่อง แต่ที่สุดแล้วก็ให้เข้าใจ เพราะลักษณะของสภาพธรรมก็จะมีอยู่แค่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก แต่เราลงละเอียดแต่ละนัย ก็เพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมให้ละเอียดยิ่งขึ้น
ท่านอาจารย์ เพราะว่าความจริงมากเหลือเกิน เช่น จิตเห็นขณะนี้เป็นธาตุ เข้าใจไหมคะ ไม่ใช่เรา สามารถเห็นเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้น ขณะได้ยินเสียงไม่ใช่จิตเห็นแล้ว ก็เรื่องจริงๆ ตามความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริง จนกว่าจะเข้าใจขึ้น จนกว่าสามารถประจักษ์แจ้งความจริงซึ่งเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ต้องตรง เมื่อเข้าใจว่า อนัตตาไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นธรรม จะหยุดเพียงเท่านั้น คือ ไม่ได้รู้จริง เพียงแค่นั้นไม่พอ เมื่อรู้เข้าใจ ยังไม่จบ ยังจะต้องถึงการประจักษ์แจ้งด้วย
ผู้ฟัง ถ้ายกตัวอย่างจิตเห็น เมื่อศึกษาแล้วก็จะทราบว่า เมื่อมีสีสันมากระทบกับจักขุปสาทรูป ก็เป็นเหตุปัจจัยให้จิตเห็นเกิด แล้วก็จะมีวิถีจิตตามที่เราเรียน ถ้ากล่าวโดยนัยของธาตุ ก็จะอธิบายให้เข้าใจแบบนี้เช่นเดียวกัน หรืออายตนะก็เหมือนกัน
ท่านอาจารย์ ค่ะ ก็จนกว่าทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตายเป็นธรรม ไม่ใช่เรา
ที่มา ...