นิมนต์พระรับภิกษา


    การนิมนต์พระภิกษุ ที่จะให้รับปัจจัยนั้น ต้องนิมนต์ให้ถูกต้อง

    บรรพชิตที่ละอาคารบ้านเรือน พยายามที่จะละความหวังในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ต้องขัดเกลาทั้งธรรม และวินัย เพื่อที่จะละคลายการติดในวัตถุ โดยพระวินัยบัญญัติ แม้แต่ในการที่จะรับปัจจัยจากฆราวาส ก็จะต้องรับด้วยการขัดเกลากิเลสตามพระวินัยบัญญัติด้วย เพราะคำว่า ภิกษุ แม้จะหมายถึงผู้ขอก็จริง แต่โดยความหมายไม่ใช่ขออย่างธรรมดา แต่จะขอหรือรับเฉพาะจากผู้ที่มีศรัทธาเท่านั้น ซึ่งจะรู้ได้จากการนิมนต์พระภิกษุ ที่จะให้รับปัจจัยนั้น ต้องนิมนต์ให้ถูกต้องด้วย

    ขอกล่าวถึงข้อความใน ทุติยสมันตปาสาทิกาแปล คณโภชนสิกขาบทที่ ๒ ว่าด้วยนิมนต์พระรับภิกษา เพื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับฆราวาสในการนิมนต์พระภิกษุ ข้อความมีว่า

    เพราะฉะนั้น ถ้าคนบางคนถูกผู้ประสงค์จะทำสังฆภัต วานไปเพื่อต้องการให้นิมนต์ (พระ) มายังวิหาร ไม่กล่าวว่า ท่านขอรับ พรุ่งนี้นิมนต์รับภิกษาในเรือนของพวกกระผม แต่กล่าวว่า นิมนต์ท่านรับภัตก็ดี ว่า นิมนต์ท่านรับสังฆภัตก็ดี ว่า ขอสงฆ์จงรับภัตก็ดี พระภัตตุทเทสก์พึงเป็นผู้ฉลาด พึงเปลื้องพวกภิกษุผู้รับนิมนต์จากคณโภชน์ พึงเปลื้องภิกษุพวกถือปิณฑิปาติกธุดงค์จากความแตกแห่งธุดงค์

    คืออย่างไร คือ พระภัตตุทเทสก์พึงกล่าวอย่างนี้ก่อนว่า พรุ่งนี้ไม่อาจ (รับ) อุบาสก เมื่ออุบาสกกล่าวว่า มะรืนนี้ ขอรับ พึงกล่าวว่า มะรืนนี้ก็ไม่อาจ (รับได้) อุบาสกเลื่อนไปอย่างนี้ แม้จนถึงกึ่งเดือน พระภัตตุทเทสก์พึงพูดอีกว่า ท่านพูดอะไร ถ้าแม้นอุบาสกพูดย้ำอีกว่า นิมนต์ท่านรับสังฆภัต

    ลำดับนั้น พระภัตตุทเทสก์พึงทำไขว้เขวไปอย่างนี้ว่า อุบาสกจงทำดอกไม้นี้ จงทำหญ้านี้ ให้เป็นกัปปิยะก่อน แล้วย้อนถามอีกว่า ท่านพูดอะไร

    นี่เป็นการเตือนทางอ้อม ให้นิมนต์ให้ถูกต้อง

    ถ้าแม้นเขายังพูดซ้ำแม้อย่างนั้นนั่นแหละ พึงกล่าวว่า ผู้มีอายุ ท่านจักไม่ได้พระมหาเถระผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ท่านจักได้พวกสามเณร

    และเมื่อเขาถามว่า ท่านขอรับ พวกคนในบ้านโน้น และบ้านโน้น นิมนต์ให้พระคุณเจ้าผู้เจริญฉัน มิใช่หรือ ผมจะไม่ได้ เพราะเหตุไร พึงกล่าวว่า พวกเขารู้จักนิมนต์ (ส่วน) ท่านไม่รู้จักนิมนต์

    เขาถามว่า ท่านขอรับ พวกเขานิมนต์อย่างไร พึงกล่าวว่า พวกเขากล่าวอย่างนี้ว่า นิมนต์รับภิกษาของพวกกระผมขอรับ ถ้าแม้นเขากล่าวเหมือนอย่างที่พูดนั้นแล การนิมนต์นั้นสมควร

    ลำบากไหม ขัดเกลาหรือเปล่า เป็นเรื่องที่จะต้องทราบถึงเหตุผลจริงๆ แม้แต่ในการนิมนต์ ถ้าจะกระทำให้ถูกต้องแล้วควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องของการขัดเกลาการติดในรสอาหาร

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 468


    หมายเลข 12875
    3 ส.ค. 2567