จิต อุตุ หรืออาหาร เป็นสมุฏฐานให้วิการรูปเกิดได้
ท่านอาจารย์ ถ้ามีความเข้าใจพื้นฐานแบบนี้ ก็จะรู้ได้ว่า แม้แต่จิต หรืออุตุ ธาตุไฟ เย็น ร้อน หรือแม้แต่อาหารก็สามารถทำให้เกิดกลุ่มของรูปที่วิการจากกลุ่มที่ไม่มีวิการรูป กลุ่มที่ไม่มีวิการรูป ก็มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีสี กลิ่น รส โอชา ไม่มีวิการรูป แต่จิต หรืออุตุ หรืออาหารก็ยังสามารถเป็นสมุฏฐานให้รูปกลุ่มที่มีวิการรูปเกิดร่วมด้วย ซึ่งต่างจากกลุ่มที่ไม่มีวิการรูป
เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจ “วิการ” รูปเดิมปกติ แต่เมื่อมีวิการ คือ รูปที่กระทำให้อ่อน ให้เบา ให้ควรแก่การงาน กลาปนั้น หรือกลุ่มนั้นก็มีลักษณะของอะไร ที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน ที่ผิดจากเดิม คือ เพียงอ่อน หรือแข็งเป็นธาตุดิน เย็น หรือร้อนเป็นธาตุไฟ ตึง หรือไหวเป็นธาตุลม ปกติธรรมดา ที่โต๊ะ ที่เก้าอี้ หรือที่ไหนก็ตามซึ่งเกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน ก็จะไม่ขาดมหาภูตรูปใหญ่ ๔ รูป แต่ในที่นั้นก็ต้องมีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชาด้วย แต่สำหรับสัตว์ บุคคล มีจิต เพราะฉะนั้นจิตก็เป็นสมุฏฐานทำให้เกิดกลุ่มของรูป ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชาเท่านั้น แต่บางกลุ่ม บางกลาปก็ยังมีวิการรูป ๓ เกิดร่วมด้วย มิฉะนั้นก็จะไม่มีการเคลื่อนไหวได้ รูปที่ไม่มีวิการรูป เช่น รูปของต้นไม้ ใบหญ้า ไม่ได้เกิดจากกรรม ไม่มีจิต ไม่มีอาหาร ไม่ต้องรับประทานอาหาร แต่เกิดขึ้นเพราะอุตุ ความเย็น ความร้อน เพราะฉะนั้นรูปนั้นๆ ก็ไม่มีวิการรูป เมื่อไม่ใช่รูปที่เกิดจากกรรมซึ่งเป็นสัตว์ เป็นบุคคล
จากชีวิตประจำวัน แม้ว่ารูปขณะนี้จะประชุมกันเหมือนเป็นก้อนใหญ่ แต่มีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ และแต่ละรูป แต่ละกลุ่มเกิดดับเร็วมาก มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปใดเกิดแล้วก็ไม่ยั่งยืนเลย รูปนั้นกลุ่มนั้น ๑๗ ขณะก็ดับ และเร็วแค่ไหน ทั้งตัวนี่เหมือนไม่มีอะไรเหลือเลย แต่แม้กระนั้นก็ต่างกันตามสมุฏฐานว่า ในแต่ละกลาป หรือแต่ละกลุ่มนั้นมีรูปอะไรเกิดร่วมด้วย
ผู้ฟัง อย่างรูปที่เกิดจากจิตที่มีวิการรูปก็พอเข้าใจ ก็เพราะต่างจากรูปอื่นๆ แต่เมื่อเป็นอาหารกับอุตุ ก็ยังไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ อาหารทำให้เกิดรูป เข้าใจไหม
ผู้ฟัง เข้าใจว่า รับประทานอาหารเข้าไปก็ทำให้เกิดรูป
ท่านอาจารย์ และบางกลาปก็มีวิการรูปเกิดได้ นี่เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถจะรู้ความละเอียด เพราะว่าไม่ใช่รูปใหญ่ หรือไม่ใช่วิสยรูป ไม่ใช่โคจรรูป ซึ่งสามารถปรากฏได้ในชีวิตประจำวัน อยากจะรู้ อยากจะเข้าใจ ก็ต้องทราบว่า สามารถจะเข้าใจได้ระดับไหน
ที่มา ...