การน้อมและจดจ้องต้องการ


    ผู้ฟัง การน้อมใส่ใจให้รู้ลักษณะสภาพธรรม กับมีความต้องการจะรู้ และจดจ้องต้องการ เป็นอะไรระหว่าง ๒ อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังมีความเป็นเราอยู่ ฟังธรรมะก็เป็นเรา อย่างน้อมไป เป็นเราน้อม ค่อยๆ น้อม หรือว่าเป็นสังขารขันธ์ ไม่มีเรา แต่ละขณะให้รู้ว่า ใครจะรู้ หรือไม่รู้ก็ตาม จิต เจตสิก รูป เกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก ไม่มีเราสักอย่างเดียว ความคิดเป็นจิต หรือเป็นเรา แล้วมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่า “น้อม” ถ้ายังมีความเข้าใจว่าเป็นเรา เรานั่นแหละกำลังจะน้อมไป แต่ตามความเป็นจริงสังขารขันธ์ การที่ขณะนี้ได้ยินเสียง แล้วก็มีความเข้าใจ ขณะนั้นไม่ได้มีเจตสิกเดียว จะมีเจตสิกที่เป็นโสภณฝ่ายดีเกิดกับจิต และต่างก็ทำหน้าที่อย่างเร็วมาก สั้นมาก เกิดกับจิต และดับไปพร้อมจิต แต่ก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ สำเร็จ

    การพิจารณาก็เป็นธรรมะ เป็นเจตสิก การเข้าใจก็เป็นธรรม เป็นเจตสิก วิริยะขณะนั้นก็มี ไม่ได้ไปเพียรทำอย่างอื่นเลย วิริยะเกิดกับจิตขณะที่กำลังฟังแล้วเข้าใจ ก็ทำหน้าที่ของวิริยะนั้น โดยที่ไม่มีการไปน้อมโดยความเป็นตัวตน แต่ทุกขณะที่เข้าใจน้อมไปสู่การที่จะเข้าใจขึ้น จนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรม ดับความสงสัย ดับความไม่รู้ในทุกขอริยสัจจะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้

    เพราะฉะนั้นไม่มีเราอีกต่างหาก ชีวิตปกติธรรมดา ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่จะเกิดอย่างไร ก็เกิดเป็นอย่างนั้น แต่เมื่อไม่รู้ จึงมีตัวเราที่พยายามจะไปเปลี่ยน แต่ขณะนั้นไม่มีความเห็นถูกว่าเป็นธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครอยากขุ่นใจ ไม่มีใครอยากโกรธ และก็คงไม่มีใครที่อยากริษยา ไม่มีใครอยากจะมีมานะ สำคัญตน ลบหลู่คนอื่น ตีตนเสมอ หรืออะไรหลายอย่างที่เป็นอกุศลธรรมเพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ฟังชื่อก็น่ารังเกียจ แต่ห้ามไม่ให้เกิดได้ไหม ถ้าสะสมมา แต่เมื่อเกิดปรากฏแล้ว ไม่ใช่ไปพยายามไม่ให้เกิด เพราะเกิดแล้ว แต่ว่ารู้ตามความเป็นจริงในลักษณะที่เป็นธรรมะ นี่คือความต่างกันของความเห็นผิดกับความเห็นถูก ถ้าความเห็นผิดก็คือว่า มีความเป็นเรา แล้วพยายามเปลี่ยนแปลงสภาพธรรม แต่เมื่อมีความเห็นถูกแล้ว เป็นปกติค่ะ เกิดแล้วทั้งหมดเลย ทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นกุศลธรรม และอกุศลธรรมก็เป็นธรรมะ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็ต่างกันตรงที่มีเราไปพยายาม ธรรมะเกิดแล้ว สังขารขันธ์ หรือปัญญาก็จะรู้ว่า นั่นเป็นธรรม ถ้าเราไม่เข้าใจผิด แต่ถ้ามีเราพยายามจะไปทำอะไรก็แล้วแต่ เช่น เมื่อโกรธ ก็ไม่อยากให้โกรธเกิด ก็จะเป็นเครื่องกั้นที่ทำให้ปัญญาสามารถรู้ลักษณะที่โกรธในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก การฟังแล้วเข้าใจขึ้นเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกได้ แม้ขณะนั้น ที่ไม่อยากให้โกรธ สติก็สามารถที่จะระลึกรู้ได้ เพราะว่าทั้งหมดเป็นธรรมะจนกว่าจะทั่ว แล้วแต่อะไรจะเกิดขึ้น แล้วแต่มีปัจจัยที่จะมีการระลึกได้ ระดับไหน

    ผู้ฟัง เราไม่เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรม ก็ยังเป็นเรา และไม่เป็นธรรมะ ก็เลยไม่ทราบว่าขั้นฟังขนาดไหน ถึงจะเข้าใจว่าเป็นธรรมะ ยังสับสนตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ยังมีเรากำหนดกฎเกณฑ์ หรือว่าขณะใดที่มีสติเกิด จะรู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด เมื่อนั้นจึงจะเข้าใจความหมายว่า สติจริงๆ ที่เป็นสัมมาสติเป็นอนัตตา มีปัจจัยจึงเกิดขึ้น


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 366


    หมายเลข 12901
    31 ส.ค. 2567