“รู้ได้ทางใจ” มีความหมายอย่างไร


    ผู้ฟัง ขอเรียนถามอาจารย์อรรณพ วิการรูปรู้ได้ทางใจ อยากให้อธิบายว่า “รู้ได้ทางใจ” มีความหมายอย่างไร

    อ.อรรณพ คือรูปที่เป็นรูปละเอียด สุขุมรูป ถ้าจะปรากฏก็ปรากฏทางใจ เพราะว่ารูปที่ปรากฏทางตามีรูปเดียว คือ สี รูปที่ปรากฏทางหูมีรูปเดียว คือ เสียง รูปที่ปรากฏทางจมูกมีรูปเดียว คือ กลิ่น รูปที่ปรากฏทางลิ้นมีรูปเดียว คือ รส รูปที่ปรากฏทางกายมี ๓ รูป คือ ธาตุดิน คือสภาพอ่อน หรือแข็ง ไฟ คือ เย็น หรือร้อน ลม คือ ตึง หรือไหว เพราะฉะนั้นมีรูป ๗ รูปที่ปรากฏทางปัญจทวาร ส่วนรูปที่เป็นปสาทรูป คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย คือ จักขุปสาท โสตปสาท ชิวหาปสาท ฆานปสาท กายปสาท แม้จะเป็นรูปหยาบ แต่ปรากฏทางใจ ส่วนรูปที่ละเอียด คือ สุขุมรูปก็ปรากฏทางใจ ถ้าจะปรากฏกับปัญญาของผู้ใด ก็ต้องปรากฏทางใจ จะไปปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ได้ แต่รูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ปรากฏทางใจได้ อย่างรูปารมณ์ สี ปรากฏทางปัญจทวาร คือ ทางจักขุทวาร แล้วสืบต่อลักษณะปรากฏทางมโนทวารได้ แต่มิได้หมายความว่า รูปใดที่ท่านแสดงว่าปรากฏทางใจได้ ปรากฏได้เฉพาะทางใจ อย่างเช่น ปสาทรูป ๕ สุขุมรูป ๑๖ ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องปรากฏ แต่ถ้าจะปรากฏก็ต้องปรากฏทางใจ เพราะไม่ใช่โคจรรูป หรือวิสยรูป ๗

    ผู้ฟัง แต่ที่หมายความว่า ปรากฏทางใจ ไม่ได้หมายความว่าจากการนึกคิดใช่ไหมคะ

    อ.อรรณพ ไม่ใช่ความคิดนึก แต่ความจริงความคิดว่า เป็นรูปโน้น ความคิดว่าเป็นรูปนี้ ขณะนั้นเป็นจิตที่กำลังคิดถึงเรื่องที่เคยศึกษา เรื่องที่เคยเรียนมาเท่านั้นเอง ไม่ต้องไปพูดถึงรูปละเอียด สุขุมรูป และไม่ต้องพูดถึงปสาทรูปซึ่งแม้หยาบ แต่ก็ไม่ปรากฏทางปัญจทวาร แม้รูปที่ปรากฏทางตาอยู่นี่ รู้ลักษณะ หรือยัง หรือเพียงคิดว่า รู้สีแล้วนะ รู้เสียงแล้วนะ สติปัฏฐานเกิดขึ้นรู้กลิ่น รู้รส รู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน แข็ง ตึง ไหว เป็นคิดนึกที่คิดว่ารู้แม้กระทั่งโคจรรูปนี่ก็ได้ แต่ก็ไม่ใช่ปัญญาจริงๆ ที่ประจักษ์ในลักษณะของโคจรรูป


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 369


    หมายเลข 12924
    31 ส.ค. 2567