สุมังคลเศรษฐี ทิศเบื้องต่ำ
ดูกร คฤหบดีบุตร ทาสกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำ อันนายพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยจัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง ๑ ด้วยให้อาหาร และรางวัล ๑ ด้วยรักษาในคราวเจ็บไข้ ๑ ด้วยแจกของมีรสแปลกประหลาดให้กิน ๑ ด้วยปล่อยในสมัย ๑ ฯ
สำคัญไหมผู้ที่รับใช้ท่าน ถ้าท่านปฏิบัติไม่ดีด้วย ภัยมหาศาลย่อมจะเกิดขึ้นกับท่านได้ เพราะว่าเป็นผู้ที่ใกล้ชิดอยู่ในบ้าน แต่บางท่านอาจจะไม่เห็นว่า การที่จะมีเมตตากรุณาโดยทั่วถึงกับบุคคลในบ้าน ย่อมเป็นประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย คือ เป็นการอบรมเจริญกุศลของท่านด้วย และเป็นการปกปิดภัยทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นจากคนที่ใกล้ชิดด้วย
แม้แต่คำพูด ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก บางครั้งอาจจะสำคัญกว่าการกระทำทางกาย เพราะว่าเพียงคำพูดโดยประมาทนิดเดียว ท่านอาจไม่ทราบว่า จะเกิดโทษสักแค่ไหน ขอกล่าวถึง คัมภีร์พระธรรมบท ซึ่งมีเนื้อความว่า
ในครั้งศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าโน้น มีเศรษฐีคนหนึ่ง ชื่อว่าสุมังคลเศรษฐี ท่านเป็นผู้มีความเลื่อมใสศรัทธา ได้ซื้อที่ดินกว้างยาว ๒๐ อุสภะ แล้วสร้างเป็นวิหารถวายแด่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า พื้นของวิหารก็ปูด้วยทองคำทั้งนั้น เวลาที่ท่านสร้างเสร็จ ได้มีการฉลองด้วยการบริจาคทรัพย์เท่ากับทุนที่สร้าง อยู่มาเช้าวันหนึ่ง เมื่อสุมังคลเศรษฐีนั้นออกไปสู่วิหาร ก็ได้เห็นโจรคนหนึ่งนอนคลุมศีรษะอยู่ที่ศาลาหลังหนึ่ง ที่ใกล้ๆ ประตูเมือง โจรคนนั้นมีเท้าเปื้อนโคลน เศรษฐีนั้นก็ได้กล่าวขึ้นว่า
บุรุษที่มีเท้าเปื้อนโคลนคนนี้ เห็นจะเป็นคนเที่ยวกลางคืน
พอโจรได้ยิน ก็ได้เปิดผ้าคลุมหน้าขึ้นดูแล้วก็รู้ว่าเป็นเศรษฐี ก็เกิดความอาฆาตว่า จะต้องทำความพินาศให้กับเศรษฐีนี้ให้จงได้ แล้วก็ไปลอบเผานาของเศรษฐีถึง ๗ ครั้ง ตัดเท้าโคในคอกอีกถึง ๗ ครั้ง เผาเรือนอีก ๗ ครั้ง แต่ก็ยังไม่หายโกรธ จึงไปประจบประแจงทำเป็นคนชอบพอกับคนใช้ของเศรษฐี แล้วได้ถามคนใช้ว่า อะไรเป็นที่รักที่สุดของท่านเศรษฐี ซึ่งคนใช้ก็ได้บอกว่า
สิ่งอื่นที่จะเป็นที่รักของท่านเศรษฐี ยิ่งไปกว่าพระคันธกุฎีของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมไม่มี
โจรก็คิดว่า จะต้องไปเผาพระคันธกุฎีให้ได้
พอพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยเหล่าภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเวลาเช้า โจรคนนั้นก็ได้เข้าไปยังพระวิหาร ต่อยหม้อน้ำฉันน้ำใช้จนหมด แล้วก็ได้เผาพระคันธกุฎี พอเศรษฐีได้ทราบว่า ไฟไหม้พระคันธกุฎีก็รีบออกไปดู แล้วก็ตบมือด้วยความดีใจ ไม่มีความเสียใจแม้เท่าปลายขนทรายจามรี คนทั้งหลายที่ยืนอยู่ในที่ใกล้ก็ได้ถามว่า
ข้าแต่ท่านเศรษฐี ท่านได้สละทรัพย์เป็นอันมากสร้างพระคันธกุฎีนี้ แต่เมื่อไฟไหม้เช่นนี้ เหตุไรท่านจึงตบมือแสดงความดีใจ
เศรษฐีนั้นก็ได้ตอบว่า
ดูกร สหายทั้งหลาย การที่เราสละทรัพย์ออกสร้างพระคันธกุฎีนี้ เรียกว่า เราฝังทรัพย์ไว้ในพระพุทธศาสนา อันไม่อาจพินาศไปด้วยภัยใดๆ ทั้งสิ้น การที่เราตบมือแสดงความดีใจก็เพราะคิดว่า เราจะได้สละทรัพย์เป็นอันมากสำหรับสร้างพระ คันธกุฎีอีก
ต่อมาไม่ช้า เศรษฐีนั้นก็ได้สละทรัพย์เป็นอันมากสร้างพระคันธกุฎีอีก ครั้นสร้างเสร็จแล้ว ก็ได้ถวายทานแก่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์บริวารสองหมื่น ด้วยความชื่นชมยินดี แต่โจรนั้นคิดว่า ถ้าเราไม่ฆ่าเศรษฐีเสีย ก็จะไม่หายโกรธเป็นแน่
ถึงแม้จะได้เผาพระคันธกุฎีแล้ว ก็ยังไม่หายโกรธ คิดว่าจะต้องฆ่าเศรษฐีจึงจะหายโกรธ
เพราะฉะนั้น โจรนั้นก็ตั้งใจที่จะฆ่าเศรษฐีให้ได้ แล้วได้ซ่อนกริชไว้ในผ้านุ่ง แล้วเที่ยวไปมาอยู่ในวิหารนั้นถึง ๗ วัน แต่ก็ไม่ได้โอกาสที่จะทำร้ายเศรษฐี เมื่อท่านเศรษฐีถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์อยู่สิ้น ๗ วันแล้ว ก็ได้กราบทูลพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค มีบุรุษผู้หนึ่งได้เผานาของข้าพระองค์ ๗ ครั้ง ได้ตัดเท้าโคในคอกของข้าพระองค์อีก ๗ ครั้ง ได้เผาเรือนของข้าพระองค์อีก ๗ ครั้ง เห็นจะเป็นบุรุษนั้นแหละเป็นผู้เผาพระคันธกุฎี ข้าพระองค์ขอให้ส่วนบุญในการที่ข้าพระองค์บริจาคทานครั้งนี้แก่บุรุษนั้นก่อนกว่าคนทั้งปวง
เมื่อโจรได้ฟังดังนั้น ก็รู้สึกตัวว่าผิด แล้วก็คิดได้ว่า ได้กระทำกรรมอันหนักเสียแล้ว เพราะว่าท่านเศรษฐีไม่ได้มีความโกรธแก่โจรผู้ได้ทำผิดถึงเพียงนั้น แล้วยังได้ให้ส่วนบุญแก่โจรก่อนบุคคลทั้งปวงอีก เพราะฉะนั้น โจรก็คิดว่า ถ้าตนได้ทำร้ายแก่ท่านเศรษฐีแล้ว ก็คงจะต้องได้รับโทษภัยอย่างใหญ่หลวงเป็นแน่ เมื่อได้เกิดความคิดอย่างนี้แล้ว โจรนั้นก็ได้เข้าไปหมอบแทบเท้าท่านเศรษฐี ขอให้ท่านเศรษฐียกโทษให้ ซึ่งท่านเศรษฐีก็ถามโจรว่า ท่านไม่เคยเห็นหน้าของโจรเลย เพราะเหตุใดโจรจึงได้โกรธ และทำกับท่านถึงอย่างนี้
ซึ่งโจรก็ได้เล่าเรื่องให้ฟังตั้งแต่ต้น เศรษฐีก็นึกได้ แล้วก็ได้ขอโทษโจรที่ท่านได้กล่าวอย่างนั้น พร้อมกันนั้นท่านก็ได้ยกโทษให้กับโจรด้วย แล้วให้ปล่อยโจรไป แต่โจรก็ได้ขอให้เศรษฐีรับตน และบุตรภรรยาไว้เป็นทาสอยู่ในบ้านของเศรษฐี แต่ท่านเศรษฐีไม่รับ เพราะเห็นว่าท่านเพียงกล่าวเท่านั้น โจรก็ยังทำความพินาศให้กับท่านได้ถึงเพียงนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าไปอยู่ในบ้าน ท่านก็ไม่แน่ใจว่า ท่านจะกล่าวอะไรที่จะทำให้โจรไม่พอใจ และเกิดความโกรธอย่างนั้นอีก
ซึ่งเมื่อโจรนั้นสิ้นชีวิตแล้ว ก็ได้เกิดในอเวจีมหานรก พอพ้นจากอเวจีมหานรกแล้ว ก็ได้เกิดเป็นเปรตงูเหลือมอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ ซึ่งเมื่อท่าน พระมหาโมคคัลลานะกับท่านพระลักขณะลงจากภูเขาคิชฌกูฏเพื่อจะไปบิณฑบาต ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ได้เห็นเปรตงูเหลือมนั้นด้วยทิพยจักษุญาณ แล้วก็ได้ยิ้ม ซึ่งเมื่อท่านพระลักขณะถามท่านว่า ยิ้มด้วยเหตุไร ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ได้ให้ท่านพระลักขณะถามท่านในเวลาที่ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงบุพกรรมของเปรตงูเหลือมนั้น ในอชครเปรต เพียงเท่านี้
อันตรายไหมจากความโกรธ และใครจะตั้งจิตไว้ชอบ หรือใครจะตั้งจิตไว้ผิดอย่างไร ก็แล้วแต่การสะสมทั้งสิ้น ถ้าถามท่านผู้ฟังว่า ทำจิตอย่างท่านเศรษฐีได้ไหม ลำบากสำหรับการสะสมที่เป็นตัวท่าน แต่ใครจะทำได้ไม่ลำบาก ก็ด้วยการสะสมของ ผู้นั้นเอง นี่เป็นเหตุให้แต่ละท่านต่างกัน ตั้งแต่อดีตกาลเนิ่นนานมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน และตลอดไป ทุกยุคทุกสมัย
ที่มา ...