สุนีตเถรคาถา เกิดในสกุลต่ำ เป็นคนยากจน
สำหรับเรื่องของพระสาวกทั้งหลายนี้ จะเห็นได้ว่า ท่านทั้งหลายเหล่านั้น บางท่านเป็นผู้ที่ยากจนขัดสน ไร้ทรัพย์ เป็นคนค่อม เป็นโรคเรื้อน แต่ว่าถ้าท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่บรรลุคุณธรรม คือ หมดกิเลส ท่านเหล่านั้นก็ย่อมเป็นผู้ที่ได้รับความเคารพ ยกย่องอย่างสูงในคุณธรรมของท่าน ไม่ว่าอดีตท่านจะเป็นบุคคลใดก็ตาม แสดงให้เห็นว่าสำหรับพระพุทธศาสนานั้น จุดประสงค์ คือ การขัดเกลากิเลสให้หมดจด จึงจะเป็นผู้ที่ควรแก่การเคารพยกย่อง
ข้อความในพระไตรปิฎกมีตอนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้ที่เกิดมาในสกุลต่ำ แต่เมื่อท่านบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ก็ได้รับความเคารพ ยกย่องอย่างสูง ใน ขุททกนิกาย เถรคาถา สุนีตเถรคาถา มีข้อความว่า
เราเกิดในสกุลต่ำ เป็นคนยากจน มีเครื่องบริโภคน้อย การงานของเราเป็นการงานต่ำ เราเป็นคนเทดอกไม้ เราถูกมนุษย์เกลียดชัง ดูหมิ่น และแช่งด่า เราถ่อมตน ไหว้หมู่ชนเป็นอันมาก ครั้งนั้น เราได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้เป็นมหาวีรบุรุษ ห้อมล้อมไปด้วยพระภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าไปสู่พระนครอันอุดมของชาวมคธเพื่อบิณฑบาต เราจึงวางกระเช้าลง แล้วเข้าไปถวายบังคมพระองค์ผู้เป็นอุดมบุรุษพระองค์ผู้เป็นอุดมบุรุษได้ประทับยืนอยู่เพื่ออนุเคราะห์เรา ครั้งนั้นเราได้ถวายบังคมพระยุคลบาทของพระศาสดา แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วจึงทูลขอบรรพชากับพระองค์ผู้สูงสุดกว่าสัตว์ทั้งปวง
ลำดับนั้น พระศาสดาผู้มีพระกรุณาอนุเคราะห์สัตว์โลกทั้งปวง ได้ตรัสเรียกเราว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด
พระดำรัสนั้นเป็นอุปสมบทของเรา เมื่อเราอุปสมบทแล้ว อยู่ในป่าแต่ผู้เดียว ไม่เกียจคร้าน ได้ทำตามพระดำรัสของพระศาสดาผู้พิชิตมารที่ทรงสั่งสอนเรา ในราตรีปฐมยาม เราก็ระลึกถึงชาติก่อนๆ ได้ ในมัชฌิมยามก็ได้ทิพยจักษุ ในปัจฉิมยามก็ทำลายกองแห่งความมืด คือ อวิชชาได้ ครั้นรุ่งราตรีพระอาทิตย์อุทัยเทพเจ้าเหล่าอินทร์ และพรหมทั้งหลายพากันมาประนมอัญชลีนมัสการเรา พร้อมกับกล่าวว่า
ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ขอนอบน้อมต่อท่าน ข้าแต่ท่านผู้เป็นอุดมบุรุษ ขอนอบน้อมต่อท่าน ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นผู้สิ้นอาสวะ เป็นทักขิไณยบุคคล
ลำดับนั้น พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นเราห้อมล้อมด้วยหมู่เทพเจ้า จึงทรงยิ้มแย้ม และทรงตรัสเนื้อความนี้ว่า บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะคุณธรรม ๔ ประการ คือ ตบะ ๑ พรหมจรรย์ ๑ สัญญมะ ๑ ทมะ ๑ ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวบุคคลผู้ประกอบด้วยคุณธรรม ๔ ประการ มีตบะ เป็นต้นนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ผู้อุดม
ถ้าเป็นผู้ที่เกิดในตระกูลสูง แต่เป็นผู้ที่มีกิเลสมาก เทวดา และพรหมทั้งหลายก็ไม่นมัสการประนมมืออัญชลี แต่บุคคลที่แม้จะเป็นผู้ที่เกิดในตระกูลต่ำ การงานต่ำ เป็นคนเทดอกไม้ เมื่อหมดสิ้นกิเลสแล้ว แม้แต่เทวดา และพรหมซึ่งกำเนิดสูงกว่า ก็ย่อมนมัสการ แสดงความนอบน้อมในความที่เป็นผู้ทรงคุณนั้น นี่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงจากพระพุทธศาสนา ไม่ว่าท่านจะมีอาชีพใด มีการงานอย่างใด ถ้าท่านเป็นผู้ที่ละกิเลสได้ ก็เป็นผู้ที่บุคคลอื่นบูชาได้
ที่มา ...